คำว่า ทายาทในพุทธศาสนา มีความหมายอย่างไร ?

 
จ่าหนาน
วันที่  10 ก.ย. 2551
หมายเลข  9819
อ่าน  9,215

เคยได้ยินมาว่า แม้จะทำบุญมากมายสักปานใดก็ยังไม่ได้ชื่อว่า ได้เป็นทายาทในพุทธศาสนา แต่ถ้าได้บวชแม้เพียงวันเดียว จึงจะถือว่าได้เป็นทายาทในพุทธศาสนาจึงขอเรียนถามว่า

1. มีข้อความนี้ในพระไตรปิฏกหรือไม่

2. การเป็นทายาท ฯ หมายความว่าอย่างไร.

3. การได้เป็นทายาท ฯ เป็นสิ่งดีหรือมีประโยชน์อย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 11 ก.ย. 2551

๑. ขอเชิญพิจารณาจากข้อความที่ยกมาจากอรรถกถา ๒. การเป็นทายาทมีหลายนัย เช่น อามิสทายาท ธรรมทายาท ๓. การได้เป็นธรรมทายาท เป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ คือพ้นจากทุกข์ธรรมทายาท คือเป็นทายาทโดยธรรม ได้แก่ การสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล มีพระโสดาบันบุคคล เป็นต้น ชื่อว่า เป็นผู้ได้รับมรดกจากพระพุทธองค์ บริโภคปัจจัยสี่ที่เกิดขึ้นโดยธรรม ส่วนปุถุชนบริโภคปัจจัยที่พระพุทธองค์อนุญาตไว้ชื่อว่า อามิสทายาท

--------------------------------
ข้อความตอนหนึ่งจากอรรถกถาพระวินัย เรื่องพระเจ้าอโศกมหาราช พระเถระถวายพระพรว่า มหาบพิตร! ขึ้นชื่อว่าผู้ถวายปัจจัย ในพระศาสนาของพระทศพลเช่นกับพระองค์ ในเมื่อพระตถาคตเจ้าแม้ยังทรงพระชนม์อยู่ ไม่มีใครเลย พระองค์เท่านั้น ทรงมีการบริจาคยิ่งใหญ่ พระราชาทรงสดับคำของพระเถระแล้ว ได้มีพระวรกายอันปีติปราโมทย์อย่างโอฬารถูกต้องแล้ว หาระหว่างมิได้ จึงทรงพระดำริว่า ได้ยินว่าผู้ที่ถวายปัจจัยเช่นกับเรา ไม่มี ได้ยินว่า เรามีการบริจาคยิ่งใหญ่ ได้ยินว่าเรากำลังยกย่องเชิดชูพระศาสนา ด้วยไทยธรรม ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจะได้ชื่อว่า เป็นทายาทแห่งพระศาสนาหรือไม่ ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงตรัสถามภิกษุสงฆ์ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ! โยมเป็นทายาทแห่งพระศาสนา หรือยังหนอ? ในลำดับนั้น ท่านพระโมคคลีบุตรติสสเถระ ฟังพระราชดำรัสนี้แล้ว เมื่อเล็งเห็นอุปนิสัยสมบัติ แห่งพระมหินท์ผู้เป็นพระโอรส (ของท้าวเธอ) จึงดำริว่า ถ้าพระกุมารนี้ จักทรงผนวชไซร้ พระศาสนาก็จักเจริญอย่างยิ่ง จึงถวายพระพรเรื่องนี้กะพระราชาว่า มหาบพิตร! ผู้ที่จะเป็นทายาทแห่งพระศาสนา หาใช่ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ไม่ ก็อีกอย่างหนึ่งแล ผู้ถวายปัจจัย เช่นนั้น ย่อมถึงความนับว่า ปัจจัยทายกหรือว่า ผู้อุปัฏฐาก (เท่านั้น) มหาบพิตร! แท้จริง แม้ผู้ใดพึงถวายปัจจัยกองตั้งแต่แผ่นดินขนาดจดถึงพรหมโลก แม้ผู้นั้น ก็ยังไม่ถึงความนับว่า เป็นทายาทในพระศาสนาได้.ลำดับนั้น พระราชาตรัสถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ! ถ้าเช่นนั้นทายาทแห่งพระศาสนาจะมีได้อย่างไรเล่า? พระเถระถวายพระพรว่า มหาบพิตร ! บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นผู้มั่งคั่งก็ตาม จะเป็นผู้ยากจนก็ตาม ให้บุตรผู้เป็นโอรสของตนบวช (ในพระศาสนา) มหาบพิตร! บุคคลนี้ ท่านเรียกว่าเป็นทายาทแห่งพระศาสนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
จ่าหนาน
วันที่ 11 ก.ย. 2551

โปรดขยายความคำว่า อามิสทายาทและทายาทแห่งพระศาสนา ไม่เหมือนกันคิดว่าอามิสทายาทก็คือ การมีศรัทธา และได้ทำทานเพื่อบำรุงพระศาสนา ส่วนทายาทแห่งพระศาสนา ดูจะเป็นได้ง่ายไปหน่อย เพียงเข้าไปบวชเท่านั้นหรือ น่าจะมีอะไรมากไปกว่านี้อีก ไม่อย่างนั้นที่เห็นบวชทุกวันนี้ บวช 3 วัน 7 วันก็ได้เป็นทายาทแห่งพระศาสนาทุกคน และที่ได้เป็นคือบิดาหรือบุตร ขอความกรุณาวิทยากรอธิบายเพิ่มเติมให้ด้วย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 11 ก.ย. 2551

ผู้ที่บวชเป็นบรรพชิตชื่อว่าเป็นทายาทแห่งธรรม เพราะว่าได้สื่บทอดพระธรรมคำสอน

ของพระพุทธเจ้า ในครั้งพุทธกาล ส่วนมากที่บวชเพื่อจุดประสงค์คือการขัดเกลากิเลส

ให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อความพ้นทุกข์ เพื่อความสิ้นอาสวะกิเลสบรรลุเป็นพระอรหันต์ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 11 ก.ย. 2551
อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ ๒โดย จ่าหนาน

โปรดขยายความคำว่า อามิสทายาท และทายาทแห่งพระศาสนา ไม่เหมือนกันคิดว่าอามิสทายาทก็คือการมีศรัทธา และได้ทำทานเพื่อบำรุงพระศาสนา ส่วนทายาทแห่งพระศาสนา ดูจะเป็นได้ง่ายไปหน่อย เพียงเข้าไปบวชเท่านั้นหรือ น่าจะมีอะไรมากไปกว่านี้อีก ไม่อย่างนั้นที่เห็นบวชทุกวันนี้ บวช 3 วัน 7 วัน ก็ได้เป็นทายาทแห่งพระศาสนาทุกคนและที่ได้เป็นคือบิดาหรือบุตร ขอความกรุณาวิทยากรอธิบายเพิ่มเติมให้ด้วย ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ทายาท มี 2 อย่างคือ อามิสทายาทและธรรมทายาท อามิสทายาท เช่น ภิกษุผู้ติดลาภสักการะ ไม่ประพฤติธรรม อาศัยปัจจัย มีจีวร บิณฑบาตรที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยพระพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าทรงเป็นเจ้าของ) ดังนั้นภิกษุรูปนั้นแม้บวชเข้ามา แต่ไม่ประพฤติธรรม ติดในลาภที่เกิดขึ้น ชื่อว่า เป็นอามิสทายาท พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ และเป็นทายาทที่ไม่ดี

ธรรมทายาท คือ ภิกษุใดแม้ได้ลาภ สักกการะ ปัจจัยต่างๆ แต่เป็นผู้พิจารณาก่อนบริโภค ปัจจัย และประพฤติธรรม บรรลุธรรม ชื่อว่าเป็นทายาทของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมทายาท พระพุทธเจ้าทรงเป็นเจ้าของธรรม เพราะทรงยังทางคืออริยมรรคมีองค์ 8 ให้เกิด ผู้ประพฤติตามจนบรรลุจึงเป็นทายาทโดยธรรม (ธรรมทายาท) พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ

ส่วนทายาทของพระศาสนา หมายถึง บิดา มารดาที่ให้บุตรและธิดาบวช ตัวบิดาและมารดานั้นเอง เป็นทายาทของพระศาสนา ส่วนบุคคลที่เข้าไปบวชแล้วก็แล้วแต่ว่าจะเป็นทายาทโดยเป็นอามิสทายาทหรือธรรมทายาท ซึ่งการเป็นทายาทเมื่อบวชแล้วเป็นอามิสทายาทนั้นไม่ดี พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญ ดังนั้นไม่ได้หมายความว่า พอบวชแล้วได้เป็นทายาท เมื่อเป็นทายาทแล้วจะดี ขึ้นอยู่กับความประพฤติ และการปฏิบัติย่อมแสดงว่าเป็นทายาทประเภทไหนคือ อามิสทายาทหรือธรรมทายาท

ขออนุโมทนา ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
จ่าหนาน
วันที่ 17 ก.ย. 2551

ขอขอบคุณในคำตอบมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ปริศนา
วันที่ 17 ก.ย. 2551


ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ