อายตนะ คือ นิพพาน [ปฐมนิพพานสูตร]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 711
๑. ปฐมนิพพานสูตร
ว่าด้วยอายตนะ คือ นิพพาน
[๑๕๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญให้ร่าเริง ด้วยธรรมมีกถาอันปฏิสังยุตด้วยนิพพาน ก็ภิกษุเหล่านั้นกระทำให้มั่น มนสิการแล้วน้อมนึกธรรมมีกถาด้วยจิตทั้งปวงแล้ว เงี่ยโสตลงฟังธรรม ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์ และพระอาทิตย์ทั้งสอง ย่อมไม่มีในอายตนะนั้น
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนะนั้น ว่า เป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการ จุติ เป็นการอุปบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์
จบปฐมนิพพานสูตรที่ ๑
ขอเรียนถามท่านอาจารย์วิทยากรว่า
"อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็น ที่สุดแห่งทุกข์" หมายความว่าอย่างไรค่ะ
ขอขอบพระคุณค่ะ
ขอยกเอาบาลีมาตอบคุณเมตตาไว้ให้เป็นหลักฐานดังนี้ครับผม นิพฺพานํ หิ มคฺคผลญาณาทีนํ อารมฺมณปจฺจยภาวโต รูปาทีนิ วิย จกฺขุวิญฺญาณาทีนํ อารมฺมณปจฺจยภูตานีติ การณฏฺเฐน อายตนนฺติ วุจฺจติ. จริงอยู่ พระนิพพานตรัสเรียก ว่า "อายตนะ" เพราะอรรถว่าเป็นเหตุ โดยความเป็นอารัมมณปัจจัยแก่มรรคญาณและ ผลญาณเป็นต้น เหมือนรูปารมณ์เป็นต้น เป็นอารัมมณปัจจัยแก่จักขุวิญญาณเป็นต้น.
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
"อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์." อายตนะในสูตรนี้หมายถึงพระนิพพาน โดยนิพพานเป็นธัมมายตนะ เป็นอารมณ์ของมรรคจิตและผลจิต ในเมื่อพระนิพพานเป็นอายตนะโดยนัยนี้แล้ว
ข้อความที่ว่า "อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ หมายถึง พระนิพพานไม่มีปัจจัยให้เกิดขึ้น จึงไม่ตั้งอาศัยอยู่ที่ใด ไม่เหมือนรูปธรรมและนามธรรมที่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น โดยทั่วไปนามธรรมก็ต้องอาศัยที่เกิด รูปธรรมก็เกิดพร้อมกับสภาพธรรมอื่นๆ มีอุปทายรูป เป็นต้น แต่เพราะนิพพานไม่ได้อาศัยปัจจัยอะไรเกิดขึ้นเลย จึงไม่ตั้งอาศัยอยู่ที่ใด หากยังตั้งอยู่ที่ใดก็แสดงว่ายังมีปัจัยปรุงแต่งต้องเกิดขึ้นและดับไป ข้อความที่ว่า มิได้เป็นไป หมายถึงเมื่อพระนิพพาน (อายตนะ) ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง จึงไม่เกิดดับจึงไม่มีความเป็นไปคือการเกิดดับสืบต่อ เป็นต้น
ข้อความที่ว่า หาอารมณ์มิได้ คือไม่มีอารมณ์ พระนิพพานไม่มีสภาพธรรมอื่นๆ เกิดร่วมด้วย ไม่ใช่สภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิกที่มีอารมณ์คือสิ่งที่ถูกรู้ พระนิพพานจึงหาอารมณ์มิได้คือมีอารมณ์ไม่ได้เลย ข้อความที่ว่า นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ หมายถึงพระนิพพาน (อายตนะ) เป็นที่สุดของวัฏฏะทุกข์ทั้งหมดเพราะว่าเมื่อบรรลุถึงพระนิพพาน ทุกข์ทั้งหมดโดยประการต่างๆ ก็ไม่มี พระนิพพานจึงเป็นสภาพธรรมที่เป็นที่สุดแห่งทุกข์อย่างแท้จริงครับ อายตนะในสูตรนี้จึงมุ่งหมายถึงพระนิพพาน ไม่ได้มุ่งหมายถึงสังขารธรรมหรือสภาพธรรมอื่นๆ ครับ
อ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 718-719
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์