อนุพยัญชนะ 80
ขอเรียนถามท่านวิทยากรว่า
1. อนุพยัญชนะ 80 ของพระผู้มีพระภาค มีรายละเอียดในพระไตรปิฎกว่าอย่างไรครับ
2. จากข้อ (1.) จะแตกต่างหรือเหมือนกับมหาปุริสลักษณะ 32 ประการอย่างไรครับ
ขอบพระคุณมากครับ
มหาปุริสลักษณะ คือลักษณะพิเศษของผู้ที่สะสมบุญไว้แล้วมี ๓๒ ประการ ส่วนอนุพยัญชนะเป็นลักษณะข้อปลีกย่อยของมหาปุริสลักษณะมี ๘๐ รายละเอียดมีดังนี้
ลักษณะของมหาบุรุษมี ๓๒ ประการ โดยย่อคือ
๑. สุปติฏฺฐิตปาโท มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน
๒. เหฏฺฐาปาทตเลสุจกฺกานิ ชาตานิ ลายพื้นพระบาทเป็นจักร
๓. อายตปณฺหิ มีส้นพระบาทยาว (ถ้าแบ่ง ๔ พระชงฆ์ตั้งอยู่ในส่วนที่ ๓)
๔. ทีฆงฺคุลิ มีนิ้วยาวเรียว (หมายถึงนิ้วพระหัตถ์และพระบาทด้วย)
๕. มุทุตลนหตฺถปาโท ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม
๖. ชาลหตฺถปาโท ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าบาทมีลายดุจตาข่าย
๗. อุสฺสงฺขปาโท มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ อัฐิข้อพระบาทตั้งลอยอยู่หลังพระบาท กลับกลอกได้คล่อง เมื่อทรงดำเนินผิดกว่าสามัญชน
๘. เอณิชงฺโฆ พระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย
๙. ฐิตโก ว อโนนมนฺโต อุโภหิ ปาณิตเลหิ ชณฺณุกานิ ปรามสติ เมื่อยืนตรงพระหัตถ์ทั้งสองลูบจับถึงพระชานุ
๑๐. โกโสหิตวตฺถคุยฺโห มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก
๑๑. สุวณฺณวณฺโณ มีฉวีวรรณดุจสีทอง
๑๒. สุขุมจฺฉวิ พระฉวีละเอียด ธุลีละอองไม่ติดพระกาย
๑๓. เอเกกโลโม มีเส้นพระโลมาเฉพาะขุมละเส้นๆ
๑๔. อุทฺธคฺคโลโม เส้นพระโลมาดำสนิท เวียนเป็นทักษิณาวัฏ มีปลายงอนขึ้นข้างบน
๑๕. พฺรหฺมุชุคตฺโต พระกายตั้งตรงดุจท้าวมหาพรหม
๖. สตฺตุสฺสโท มีพระมังสะอูมเต็มในที่ ๗ แห่ง (คือหลังพระหัตถ์ทั้ง ๒ และหลังพระบาททั้ง ๒ พระอังสาทั้ง ๒ กับลำพระศอ)
๑๗. สีหปุพฺพฑฺฒกาโย มีส่วนพระสรีรกายบริบูรณ์ (ล่ำพี) ดุจกึ่งท่อนหน้าแห่งพญาราชสีห์
๑๘. ปีตนฺตรํโส พระปฤษฎางค์ราบเต็มเสมอกัน
๑๙. นิโคฺรธปริมณฺฑโล ส่วนพระกายเป็นปริมณฑล ดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร (พระกาย สูงเท่ากับวาของพระองค์)
๒๐. สมวฏฺฏกฺขนฺโธ มีลำพระศอกลมงามเสมอตลอด
๒๑. รสคฺคสคฺคี มีเส้นประสาทสำหรับรับรสพระกระยาหารอันดี
๒๒. สีหหนุ มีพระหนุดุจคางแห่งราชสีห์ (โค้งเหมือนวงพระจันทร์)
๒๓. จตฺตาฬีสทนฺโต มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ (ข้างละ ๒๐ ซี่)
๒๔. สมทนฺโต พระทนต์เรียบเสมอกัน
๒๕. อวิวรทนฺโต พระทนต์เรียบสนิทมิได้ห่าง
๒๖. สุสุกฺกทาโฐ เขี้ยวพระทนต์ทั้ง ๔ ขาวงามบริสุทธิ์
๒๗. ปหูตชิวฺโห พระชิวหาอ่อนและยาว (อาจแผ่ปกพระนลาฏได้)
๒๘. พฺรหฺมสโร กรวิกภาณี พระสุรเสียงดุจท้าวมหาพรหม ตรัสมีสำเนียงดุจนกการเวก
๒๙. อภินีลเนตฺโต พระเนตรดำสนิท
๓๐. โคปขุโม ดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด
๓๑. อุณฺณาภมุกนฺตเร ชาตา มีอุณาโลมระหว่างพระโขนง เวียนขวาเป็นทักษิณาวัฏ
๓๒.อุณฺหิสสีโส มีพระเศียรงามบริบูรณ์ดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์
ลักษณะน้อยๆ : พระลักษณะข้อปลีกย่อยของพระมหาบุรุษ ๘๐ ประการคือ
๑. มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทอันเหลืองงาม
๒. นิ้วพระหัตถ์แลนิ้วพระบาทเรียวออกไปโดยลำดับแต่ต้นจนปลาย
๓. นิ้วพระหัตถ์ แลนิ้วพระบาทกลมดุจนายช่างกลึงเป็นอันดี
๔. พระนขาทั้ง ๒๐ มีสีอันแดง
๕. พระนขาทั้ง ๒๐ นั้นงอนงามช้อนขึ้นเบื้องบนมิได้ค้อมลงเบื้องต่ำดุจเล็บแห่งสามัญชนทั้งปวง
๖. พระนขานั้นมีพรรณอันเกลี้ยงกลมสนิทกันมิได้เป็นริ้วรอย
๗. ข้อพระหัตถ์และข้อพระบาทซ่อนอยู่ในพระมังสะมิได้สูงขึ้นปรากฏออกมาภายนอก
๘. พระบาททั้งสองเสมอกันมิได้ย่อมใหญ่กว่ากันมาตรว่าเท่าเมล็ดงา
๙. พระดำเนินงามดุจอาการเดินแห่งกุญชรชาติ
๑๐. พระดำเนินงามดุจสีหราช
๑๑. พระดำเนินงามดุจดำเนินแห่งหงส์
๑๒. พระดำเนินงามดุจอุสภราชดำเนิน
๑๓. ขณะเมื่อยืนจะย่างดำเนินนั้น ยกพระบาทเบื้องขวาย่างไปก่อน พระกายเยื้องไป เบื้องขวาก่อน
๑๔. พระชานุมณฑลเกลี้ยงกลมงามบริบูรณ์ บ่มิได้เห็นอัฏฐิสะบ้าปรากฏออกมาภายนอก
๑๕. มีบุรุษพยัญชนะบริบูรณ์คือ มิได้มีกิริยามารยาทคล้ายสตรี
๑๖. พระนาภีมิได้บกพร่อง กลมงามมิได้วิกลในที่ใดที่หนึ่ง
๑๗. พระอุทรมีสัณฐานอันลึก
๑๘. ภายในพระอุทรมีรอยเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏ์
๑๙. ลำพระเพลาทั้งสองกลมงามดุจลำสุวรรณกัททลี
๒๐. ลำพระกรทั้งสองงามดุจงวงแห่งเอราวัณเทพยหัตถี
๒๑. พระอังคาพยพใหญ่น้อยทั้งปวงจำแนกเป็นอันดี คืองามพร้อมทุกสิ่งหาที่ตำหนิบ่มิ ได้
๒๒. พระมังสะที่ควรจะหนาก็หนา ที่ควรจะบางก็บางตามที่ทั่วทั้งพระสรีรกาย
๒๓. พระมังสะมิได้หดหู่ในที่ใดที่หนึ่ง
๒๔. พระสรีรกายทั้งปวงปราศจากต่อมและไฝปานมูลแมลงวันมิได้มีในที่ใดที่หนึ่ง
๒๕. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสมกันโดยตามลำดับทั้งเบื้องบนแลเบื้องล่าง
๒๖. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสิ้นปราศจากมลทินทั้งปวง
๒๗. ทรงพระกำลังมาก เสมอด้วยกำลังแห่งกุญชรชาติ ประมาณถึงพันโกฏิช้าง ถ้าจะประมาณด้วยกำลังบุรุษก็ได้ถึงแสนโกฏิบุรุษ
๒๘. มีพระนาสิกอันสูง
๒๙. สัณฐานพระนาสิกงามแฉล้ม
๓๐. มีพระโอษฐ์เบื้องบนเบื้องต่ำมิได้เข้าออกกว่ากัน เสมอเป็นอันดี มีพรรณแดงงามดุจสีผลตำลึงสุก
๓๑. พระทนต์บริสุทธิ์ปราศจากมูลมลทิน
๓๒. พระทนต์ขาวดุจดังสีสังข์
๓๓. พระทนต์เกลี้ยงสนิทมิได้เป็นริ้วรอย
๓๔. พระอินทรีย์ทั้ง ๕ มีจักขุนทรีย์เป็นอาทิงามบริสุทธิ์ทั้งสิ้น
๓๕. พระเขี้ยวทั้ง ๔ กลมบริบูรณ์
๓๖. ดวงพระพักตร์มีสัณฐานยาวสวย
๓๗. พระปรางค์ทั้งสองดูเปล่งงามเสมอกัน
๓๘. ลายพระหัตถ์มีรอยอันลึก
๓๙. ลายพระหัตถ์มีรอยอันยาว
๔๐. ลายพระหัตถ์มีรอยอันตรง บ่มิได้ค้อมคด
๔๑. ลายพระหัตถ์มีรอยแดงรุ่งเรือง
๔๒. รัศมีพระกายโอภาสเป็นปริมณฑลโดยรอบ
๔๓. กระพุ้งพระปรางค์ทั้งสองเคร่งครัดบริบูรณ์
๔๔. กระบอกพระเนตรกว้างแลยาวงามพอสมกัน
๔๕. ดวงพระเนตรกอปรด้วยประสาททั้ง ๕ มีขาวเป็นอาทิผ่องใสบริสุทธิ์ทั้งสิ้น
๔๖. ปลายเส้นพระโลมาทั้งหลายมิได้งอมิได้คด
๔๗. พระชิวหามีสัณฐานอันงาม
๔๘. พระชิวหาอ่อนบ่มิได้กระด้าง
๔๙. พระกรรณทั้งสองมีสัณฐานอันยาวดุจกลีบปทุมชาติ
๕๐. ช่องพระกรรณมีสัณฐานอันกลมงาม
๕๑. ระเบียบพระเส้นทั้งปวงนั้นสละสลวยบ่มิได้หดหู่ในที่อันใดอันหนึ่ง
๕๒. แถวพระเส้นทั้งหลายซ่อนอยู่ในพระมังสะทั้งสิ้น บ่มิได้เป็นคลื่นฟูขึ้นเหมือนสามัญชนทั้งปวง
๕๓. พระเศียรมีสัณฐานงามเหมือนฉัตรแก้ว
๕๔. ปริมณฑลพระนลาฏโดยกว้างยาวพอสมกัน
๕๕. ประนลาฏมีสัณฐานอันงาม
๕๖. พระโขนงมีสัณฐานอันงามดุจคันธนูอันก่งไว้
๕๗. พระโลมาที่พระโขนงมีเส้นอันละเอียด
๕๘. เส้นพระโลมาที่พระโขนงงอกขึ้นแล้วล้มราบไปโดยลำดับ
๕๙. พระโขนงนั้นใหญ่
๖๐. พระโขนงนั้นยาวสุดหางพระเนตร
๖๑. ผิวพระมังสะละเอียดทั่วทั้งพระกาย
๖๒. พระสรีรกายรุ่งเรืองไปด้วยสิริ
๖๓. พระสรีรกายมิได้มัวหมอง ผ่องใสอยู่เป็นนิตย์
๖๔. พระสรีรกายสดชื่นดุจดวงดอกปทุมชาติ
๖๕. พระสรีรสัมผัสอ่อนนุ่มสนิทบ่มิได้กระด้างทั่วทั้งพระกาย
๖๖. กลิ่นพระกายหอมฟุ้งดุจกลิ่นสุคนธกฤษณา
๖๗. พระโลมามีเส้นเสมอกันทั้งสิ้น
๖๘. พระโลมามีเส้นละเอียดทั่วทั้งพระกาย
๖๙. ลมอัสสาสะปัสสาสะลมหายพระทัยเข้าออกก็เดินละเอียด
๗๐. พระโอษฐ์มีสัณฐานอันงามดุจแย้ม
๗๑. กลิ่นพระโอษฐ์หอมดุจกลิ่นอุบล
๗๒. พระเกสาดำเป็นแสง
๗๓. กลิ่นพระเกสาหอมฟุ้งขจรตลบ
๗๔. พระเกสาหอมดุจกลิ่นโกมลบุปผชาติ
๗๕. พระเกสามีสัณฐานเส้นกลมสลวยทุกเส้น
๗๖. พระเกสาดำสนิททั้งสิ้น
๗๗. พระเกสากอปรด้วยเส้นอันละเอียด
๗๘. เส้นพระเกสามิได้ยุ่งเหยิง
๗๙. เส้นพระเกสาเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏ์ทุกๆ เส้น
๘๐. วิจิตรไปด้วยระเบียบพระเกตุมาลา กล่าวคือถ่องแถวแห่งพระรัศมีอันโชตนาการ ขึ้น ณ เบื้องบนพระอุตมังคสิโรตม์ฯ
ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาในคำถามและคำตอบค่ะ...
ขอแนะนำให้อ่าน ลักขณสูตร (ฑีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๒ หน้าที่๑- ๗๖)
ว่าด้วยการย่อมได้มหาปุริสลักษณะ ๓๒ เช่น ว่าด้วยบุรพาธิการของพระตถาคตเป็นผู้ยึดมั่นไม่ถอยหลังในกุศลกรรมทั้งหลาย จึงมีพระบาทประดิษฐานเป็นอันดี ทรงเหยียบพระบาทเสมอกัน เป็นต้น ส่วนพระลักษณะอื่นๆ ก็เนื่องมาจากการบำเพ็ญพระบารมีที่เลิศต่างๆ กันไป....
จากความรู้ความเข้าใจเช่นนี้ ทำให้ซาบซึ้งในพระบารมีและพระมหากรุณาคุณ อันประเสริฐสุดที่จะช่วยเหลือสัตว์โลกทั้งหลาย รวมทั้งทำให้เข้าใจเรื่องเหตุและผล อย่างมั่นคงว่า เหตุเลิศก็ย่อมให้ผลเป็นเลิศ และทำให้สามารถตอบข้อกังขาของหลายๆ ฝ่ายได้อย่างมั่นใจตามความเป็นจริงว่า มหาปุริสลักษณะไม่ใช่เป็นสิ่งคิดเอง หรือแต่งเติมกันเอาเอง
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
ขอถวายความนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของทุกท่านค่ะ
พระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมีมาตลอดสี่อสงไขยแสนกัป จึงเป็นบุคคลพิเศษที่ประเสริฐที่สุด
ในโลกค่ะ