สัมมัปปธาน ๔
สัมมัปปธาน ๔
จตฺตาโร (สี่) +สมฺมา (ชอบ ถูก) + ปธาน (ความเพียร)
ความเพียรชอบ ๔ ประการ หมายถึง สภาพธรรม คือ วิริยเจตสิก ที่เกิดกับกุศลจิตที่เป็นไปในวิปัสสนาภาวนา เพราะเป็นส่วนหนึ่งของโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ วิริยเจตสิกที่เป็นสัมมัปปธานมีอาการ ๔ อย่าง คือ
๑. สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปอกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้น มิให้เกิดขึ้น
๒. ปหานปธาน เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว มิให้เกิดขึ้นอีกต่อไป
๓. ภาวนาปธาน เพียรอบรมเจริญกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ให้เกิดมีขึ้น
๔. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งมั่นเจริญงอกงามไพบูลย์ต่อไป
ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น ย่อมมีสัมมัปปธานอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดร่วมด้วย เพราะวิริยเจตสิกนั้น เป็นได้ทั้งสัมมัปปธาน อิทธิบาท พละ อินทรีย์ โพชฌงค์ และมรรคมีองค์ ๘ แต่ระดับหรือกำลังของสภาพธรรมนั้นๆ ขึ้นอยู่กับการสะสมอบรม และต้องคล้อยตามปัญญา คือเมื่อปัญญารู้ชัดสภาพธรรมมากขึ้น สภาพธรรมต่างๆ ที่เป็นสัมปยุตตธรรมก็มีกำลังมากขึ้น และจะมีกำลังสมบูรณ์คือโพธิปักขิยธรรมพร้อมทั้ง ๓๗ ประการเมื่อโลกุตตรจิตเกิดขึ้น