คันถะ ๔ อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ

 
พุทธรักษา
วันที่  18 ก.ย. 2551
หมายเลข  9900
อ่าน  1,996

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

แนวทางเจริญวิปัสสนาครั้งที่ ๑๓๕ บรรยายโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

คันถะที่ ๔ คือ "อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ" ได้แก่ ความเห็นผิดทั้งหมด ที่เว้นจากสีลลัพพัตตปรมาสกายคันถะ

ท่านมีความเห็นถูก ในข้อประพฤติปฏิบัติ แต่ว่ายังไม่หมด ความเห็นผิด จนกว่าจะเป็น พระโสดาบันบุคคล ผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว สามารถที่จะ ละกายคันถะได้ ในข้อหรือในฐานะที่เป็นความเห็นผิด คือ สีลลัพพัตตปรมาสกายคันถะ และ อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ เพราะเหตุว่า ผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคลแล้วจะไม่มี ความเห็นผิด ใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย

ท่านอาจารย์ ในข้อของคันถะ ๔ ยังมีข้อสงสัยไหมคะ แต่ว่า ความจริงเรื่องของ สีลลัพพัตตปรมาสกายคันถะมีมากทีเดียวค่ะ แม้ว่าท่านจะมีความเข้าใจถูกในข้อปฏิบัติแล้วแต่ว่า กิเลส อกุศลธรรม ที่ได้สะสมมา ก็ยังมีกำลังพอที่จะชักพาท่าน ให้ไขว้เขว ให้คลาดเคลื่อนไปทีละเล็ก ทีละน้อยได้

ท่านผู้ฟัง บางครั้ง ขณะที่เรากำลังระลึกรู้

ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังถามว่าในขณะที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปบ่อยๆ เนืองๆ เกิดขึ้นแล้วจะเกิดความเบื่อ เบื่อไม่อยากเจริญสติ หรือเบื่ออะไรคะ

ท่านผู้ฟัง เบื่อในอารมณ์

ท่านอาจารย์ เบื่อในอารมณ์ อารมณ์อะไรคะที่น่าเบื่อ สีที่กำลังปรากฏนี้น่าเบื่อหรือยังเสียง ที่กำลังได้ยินนี้น่าเบื่อหรือยัง กลิ่นที่กำลังปรากฏทุกวันเป็นปกติธรรมดาน่าเบื่อหรือยัง รสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด ร้อน ต่างๆ นั้นน่าเบื่อหรือยัง เหตุ ต้องสมควรแก่ ผลหรือว่า ผลที่เกิดก็ต้องสมควรแก่เหตุ เพราะฉะนั้น เบื่ออะไร นึกเบื่อ อย่าเพิ่งรีบเบื่อ
หรือว่า เบื่อจริงๆ ก็ต้องบอกให้ถูกว่าเบื่ออะไร แต่ความจริง (ที่ว่าเบื่อนั้น) ไม่ใช่ความรู้ชัด ที่จะเป็นความเบื่อ ที่รู้จริง! ความเบื่อที่แท้จริงเป็นญาณที่เกิดสืบต่อกันไปเป็นขั้นๆ จนถึงขั้นที่เบื่อด้วยปัญญา ที่รู้ชัดในลักษณะของนามและรูป

นี่เป็นการนึกเบื่อ คิดเบื่อ อย่าเพิ่งไปเบื่อเลย เพราะว่าเบื่อ (ที่แท้จริง) นี้ หมายความว่า ต้องรู้ชัดในลักษณะของนามและรูป แล้วก็เป็นความรู้ชัด ที่เป็นวิปัสสนาญาณไม่ใช่ขั้นการศึกษา ไม่ใช่ขั้นคิด แต่เป็นขั้นที่ประจักษ์ลักษณะที่เป็นนามธรรมและลักษณะที่เป็นรูปธรรมถูกต้องแล้วตามความเป็นจริง แล้วก็ การที่จะสำเหนียกที่จะให้ปัญญารู้ชัดเพิ่มขึ้น ผู้นั้นก็ต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่าเจริญอย่างไร? ปัญญาจึงจะเพิ่มขึ้น หรือว่าข้อปฏิบัติอย่างไร ที่จะเป็นเหตุให้ปัญญาไม่สามารถที่จะเจริญอีกต่อไปได้เลย

ยังไม่ทันไร ก็เบื่อเสียแล้ว โดยที่ปัญญายังไม่ทันรู้ลักษณะของนามและรูป ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ก็ต้องสำเหนียก ระวังอย่าให้มีความเห็นผิด คือสีลลัพพัตตปรมาสกายคันถะในข้อประพฤติปฏิบัติที่จะมาผูกท่านไว้กับความเห็นผิด
และในชาติต่อๆ ไป ก็ไม่แน่ว่าท่านจะมี ความเห็นผิด เหมือนอย่างในชาตินี้อยู่หรือเปล่า ซึ่งนั่นก็คือการไม่เจริญปัญญา กว่าปัญญาจะประจักษ์แน่นอนมั่นคงว่าไม่มีอะไรเลย ที่จะละกิเลสได้เป็นสมุจเฉทนอกจาก "สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ" เป็นเรื่องที่ต้องอบรม (ให้มากขึ้น เจริญขึ้น) แม้ว่าในขณะนั้นจะเริ่มระลึก แต่ว่ายังไม่รู้ชัด (ประจักษ์แจ้ง) แต่การระลึกบ่อยๆ เพื่อวันหนึ่ง ปัญญาจะรู้ได้ ถ้าไม่ระลึกขณะละนิด ขณะละหน่อย ปัญญาก็รู้ชัดไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ขอให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป แม้เพียงชั่วขณะนิดๆ หน่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่และสรรพสัตว์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 19 ก.ย. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pornpaon
วันที่ 19 ก.ย. 2551

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์

ยังจำได้ เรื่อง ธรรมะเครื่องหลอกลวง กับการคิดเอาเอง ความลวง ลวงให้เข้าใจว่าเริ่มเบื่อในกามทั้งหลายแล้ว ความจริงเบื่อที่จะคิดพิจารณาที่จะเข้าใจให้ถูกต้องเพิ่มขึ้นอีก ใช่จริงๆ เหมือนคนรีบเร่งเดินให้ได้หนทางมากๆ พอเหนื่อย ก็คิดว่าจะเลิกเดินซะที แล้วเดี๋ยวหายเหนื่อย ความอยากได้ก็กลับมา ก็เดินต่ออีก เพราะกิเลสโลภะที่นอนเนื่องอยู่ย่อมชักชวนให้รีบเดินให้ได้หนทางมากๆ อีก

ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณปริศนา

ขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 19 ก.ย. 2551

กราบขออนุโมทนาท่านอาจารย์ค่ะ

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
anong55
วันที่ 22 ก.ย. 2551
ขอบพระคุณ คุณปริศนาที่นำธรรม ของท่านอาจารย์สุจินต์มาทบทวนอยู่เสมอๆ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ