เรื่องของ ... เหตุปัจจัย

 
พุทธรักษา
วันที่  20 ก.ย. 2551
หมายเลข  9916
อ่าน  2,198

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บทสนทนาธรรมโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นคำรวมของคำ ๓ คำคือปกต อุปนิสสย ปัจจัย

ปกติ หรือ ปรกติ หมายถึง สภาพธรรมดา คำว่า อุปนิสสยหรือ อุปนิสัย หมายถึง ที่อาศัยที่มีกำลัง คำว่า นิสสยหรือ นิสัย ภาษาบาลีแปลว่าที่อาศัย

ปกตูปนิสสยปัจจัย จึงหมายถึง การกระทำ ที่กระทำบ่อยๆ จนกระทั่งเคยชินเป็นปกติ และเพราะเหตุที่กระทำบ่อยๆ เป็นปกติ หรือกระทำอยู่เสมอๆ จึงทำให้เกิดเป็นนิสัยขึ้นจนเป็นอุปนิสัย ที่มีกำลังเพราะสะสมสืบต่อเรื่อยมาตั้งแต่ในอดีต

คำว่า อุปนิสัย ในทางธรรมนั้นที่เป็นกุศล ก็มีเช่นคำว่า ทานุปนิสัย หมายถึง อุปนิสัยในการให้ทาน หรือบำเพ็ญทานสีลุปนิสัย หมายถึง อุปนิสัยในการรักษาศีล หรือบำเพ็ญศีลภาวนุปนิสัย หมายถึง อุปนิสัยในการเจริญภาวนา หรือบำเพ็ญภาวนา

การที่คนเราทำอะไรต่างๆ กันไปนั้น ก็เพราะอุปนิสัย หรืออุปนิสสยปัจจัย อย่างบางท่านมีทานุปนิสัย มีความยินดีที่จะสละทรัพย์สินวัตถุสิ่งของให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่น แต่ว่าขาดสีลุปนิสัยทางกาย วาจา อาจเป็นผู้มีวาจาที่ไม่สุจริต การกระทำที่ไม่สุจริต หรืออาจไม่มีภาวนุสัยคือ ไม่ยินดีในการศึกษาพิจารณาและปฏิบัตธรรม เป็นต้น

สำหรับคำว่า ปัจจัย นั้น หมายถึงสิ่งที่อุปการะ อุดหนุน ช่วยให้ธรรมอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เช่น จิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดขึ้นนั้นก็ต้องมีปัจจัย ไม่มีปัจจัยก็เกิดขึ้นไม่ได้

จิต เป็นปัจจัยให้ เจตสิกเกิดขึ้นก็ได้ เจตสิก เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นก็ได้ หรือว่าทั้ง จิตและเจตสิกเป็นปัจจัยให้ รูปเกิดขึ้นก็ได้

หรือว่า รูป เป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้นก็ได้และ รูปก็เป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นก็ได้
และคำว่า อุปนิสัย ที่หมายถึง ที่อาศัยที่มีกำลังนั้นไม่ได้บ่งบอกว่า เป็นกำลังแรงกล้ามากน้อยแค่ไหน.เพราะฉะนั้น คำว่า ปกตูปนิสสยปัจจัย ก็เป็นปัจจัยโดยเป็นที่อาศัยที่มีกำลังตามสภาพปกติของธรรมนั้นๆ

ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นปัจจัยแก่กันและกันตามกำลังของสภาพธรรมนั้นๆ การรู้อย่างนั้น สามารถที่จะช่วยให้เราละคลายความยึดมั่นในรูปธรรมและนามธรรมที่เกิดร่วมกันว่าเป็นตัวตนลงได้บ้าง เพราะว่าถ้ายิ่งพิจารณา ก็จะเห็นได้ว่า แม้แต่ร่างกาย หรือจิตใจของเรานั้นก็ไม่ได้เป็นไปตามความปรารถนาของเรา ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาให้เกิดขึ้นเป็นไปตามใจชอบได้เลย สภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย เมื่อรู้อย่างนี้ก็จะยิ่งเห็นสภาพความเป็นอนัตตาของตัวเองและสภาพความเป็นอนัตตาของธรรมทั้งหลายมากขึ้นทุกที

ท่านอาจารย์ คุณวันทนาอยากโกรธ อยากเสียใจ อยากเป็นห่วงกังวลอยากปวดหัว ตัวร้อนบ้างไหมคะ

คุณวันทนา ไม่อยากทั้งนั้นเลยค่ะ บางครั้ง ไม่อยากพูดไม่เพราะไม่อยากประชดประชันใคร แต่ก็อดไม่ได้ค่ะ เมื่อมีสิ่งมากระตุ้นทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ดีเลย
ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นตลอดเวลาแล้วนะคะว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นเมื่อมีเหตุจะเกิดขึ้นอย่างไรก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น ถึงแม้ว่าไม่มีใครอยากให้สิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้นเกิดขึ้นเลยแต่ก็ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาให้เป็น เกิดขึ้นเป็นไปตามใจชอบได้เลยและสิ่งที่ไม่ดีนั้น มีโอกาสและมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้นมากกว่าสิ่งที่ดีเสียด้วย ถ้าเรารู้อย่างนี้แล้ว เราก็ควรที่จะเป็นคนไม่ประมาท ไม่ทนงตัว และไม่หลงคิดว่าตัวเองมีอำนาจ มีความสามารถ หรือมีกำลัง ที่จะบังคับกิเลสหรือ ธรรมฝ่ายต่ำ ไม่ให้เกิด แต่ในทางตรงกันข้าม เราก็ย่อมระมัดระวังที่จะไม่ใกล้ชิดกับสภาพสิ่งแวดล้อมหรือเกี่ยวข้องติดต่อ กับบุคคลที่เป็นเหตุให้จิตใจเรา คล้อยไปในทางฝ่ายต่ำหรือในทางที่จะก่อให้เกิดอกุศลที่ฉุดให้ต่ำลงได้. นอกจากนั้น เราก็ต้องพยายามศึกษาให้รู้ชัดขึ้นว่าอะไรเป็นปัจจัยของอะไร เพราะเมื่อต้องการผลอย่างใดก็ต้องสมควรแก่เหตุ รู้จักเหตุและพยายามสะสมเหตุที่จะทำให้ผลอย่างนั้นเกิดขึ้นเพราะถ้าไม่มีเหตุแล้ว ผลนั้นก็จะไม่เกิดขึ้นเลย

ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เกิดขึ้นแต่ละขณะ ไม่ว่าจะเป็นนามธรรม หรือรูปธรรมก็ต้องมีเหตุ มีปัจจัยทั้งนั้นและการที่แต่ละคนเกิดมาแล้วต่างกันไปทั้งรูปร่างหน้าตา ผิวพรรณ ฐานะ ความรู้สึกนึกคิดความสุข ความทุกข์ ในแต่ละวันแต่ละวัยนั้นก็เป็นเพราะความละเอียด ความสลับซับซ้อนของเหตุของปัจจัยที่แต่ละคนแต่ละชีวิตได้สะสมมาต่างๆ กันและไม่ได้มีแต่เฉพาะ "ปกตูปนิสสยปัจจัย" เพียงปัจจัยเดียวเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 21 ก.ย. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 21 ก.ย. 2551

"เราก็ย่อมระมัดระวังที่จะไม่ใกล้ชิดกับสภาพสิ่งแวดล้อมหรือเกี่ยวข้องติดต่อกับบุคคลที่เป็นเหตุให้จิตใจเราคล้อยไปในทางฝ่ายต่ำหรือในทางที่จะก่อให้เกิดอกุศลที่ฉุดให้ต่ำลงได้" และ "เพราะเมื่อต้องการผลอย่างใด ก็ต้องสมควรแก่เหตุ รู้จักเหตุ และพยายามสะสมเหตุที่จะทำให้ผลอย่างนั้นเกิดขึ้นเพราะถ้าไม่มีเหตุแล้ว ผลนั้นก็จะไม่เกิดขึ้นเลย"

ขอขอบพระคุณและ

ขออนุโมทนาในกุศลแลความเพียรของคุณปริศนาด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
aiatien
วันที่ 21 ก.ย. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Noparat
วันที่ 22 ก.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 23 ก.ย. 2551

คนเราจึงมีอุปนิสัยต่างๆ กันไปตามการสะสมมาตั้งแต่อดีต ใครสะสมอุปนิสัยที่ทำ แต่เหตุที่ดี ผลย่อมเป็นผู้มีอุปนิสัยทำแต่สื่งที่ดีตามเหตุที่ได้สะสมมา และผู้ที่มีอุปนิสัยสะสมทำแต่เหตุที่ไม่ดี ก็ย่อมเป็นผู้มีอุปนิสัยทำแต่สิ่งที่ไม่ดีตามเหตุที่ได้สะสมมาเช่นกัน จึงควรสะสมอุปนิสัยในทางธรรมที่เป็นกุศล

ทานุปนิสัย หมายถึง อุปนิสัยในการให้ทาน หรือ บำเพ็ญทานสีลุปนิสัย หมายถึง อุปนิสัยในการรักษาศีล หรือ บำเพ็ญศีลภาวนุปนิสัย หมายถึง อุปนิสัยในการเจริญภาวนา หรือ บำเพ็ญภาวนา.

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
opanayigo
วันที่ 3 ต.ค. 2551

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pamali
วันที่ 5 ก.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ