จิตกับเจตสิก

 
WS202398
วันที่  25 ก.ย. 2551
หมายเลข  9959
อ่าน  1,542

จิตที่ไม่มีวิตกเจตสิก จะมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้หรือไม่

จิตที่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีวิตกวิจารได้หรือไม่

วิตกและวิจารเจตสิก มีประโยชน์อย่างไร หากเกิดร่วมกับกุศลจิต จะแตกต่างอย่างไรกับกุศลจิตที่ไม่มีวิตกวิจารเจตสิกเกิดร่วมด้วย และทั้งสองกรณีจะมีผลต่อการเกิดร่วมของปัญญาเจตสิกหรือไม่อย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 25 ก.ย. 2551

จิตบางประเภทไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็มี เช่นในตติยฌาน เป็นต้นไป ไม่มีวิจารเกิดร่วมด้วยก็นัยเดียวกัน วิตกและวิจารเจตสิกเป็นองค์ของฌาน เพราะธรรมเหล่านี้มีกำลังจึงทำให้ถึงความสงบจากอกุศลได้ แต่ถ้าเป็นฌานขั้นสูงขึ้นไป ฌานจิตที่ประกอบด้วยวิตกวิจารชื่อว่ายังหยาบและใกล้ต่อความเสื่อม และไม่มีผลต่อปัญญาเจตสิกครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 26 ก.ย. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ จิตเกิดขึ้นแต่ละครั้งจะไม่ปราศจากเจตสิก จิตจึงแตกต่างกันออกไปเพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย วิตักกเจตสิก (สภาพธรรมที่ตรึกหรือจรดในอารมณ์) กับ วิจารเจตสิก (สภาพธรรมที่ประคองตามวิตก กล่าวคือ วิตักกเจตสิกจะตรึกไปในอารมณ์อย่างไร วิจารเจตสิกก็ประคองตามอย่างนั้น) เป็นปกิณณกเจตสิก เกิดกับจิตบางประเภท เกิดร่วมกับจิตใด ก็มีความเสมอกันกับจิตนั้น เป็นได้ทั้งสี่ชาติ ทั้งกุศล อกุศล วิบากและกิริยา วิตักกเจตสิก ไม่เกิดกับจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส, ไม่เกิดกับ ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และปัญจมฌาน วิจารเจตสิกไม่เกิดกับจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่เกิดกับ ตติยฌาน จตุตถฌานและปัญจมฌาน
เป็นความจริงที่ว่า จิตใดที่มีวิตักกเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นต้องมีวิจารเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ เว้นทุติยฌานจิตที่มีวิจารเจตสิก โดยที่ไม่มีวิตักกเจตสิก

ส่วนสติเจตสิก (เป็นสภาพธรรมที่ระลึก) เกิดร่วมกับโสภณจิตทุกประเภท เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมเจริญภาวนา สภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมดเป็นสิ่งที่ควรศึกษา ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยาก เข้าใจยาก เห็นยาก (เปรียบเหมือนกับ เมล็ดพันธุ์ผักกาด ถูกบังด้วยภูเขา) แต่ก็ไม่เหลือวิสัยสำหรับผู้ที่ตั้งใจ สำหรับผู้ที่เห็นประโยชน์ ฟังบ่อยๆ เนืองๆ ความรู้ ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ อันจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง ไม่หลงเข้าใจผิดในสิ่งที่กำลังปรากฏว่า เป็นสัตว์บุคคล ตัวตน

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ปริศนา
วันที่ 26 ก.ย. 2551

ขอแสดงความคิดเห็นส่วนตัวในฐานะที่เป็นผู้ศึกษาคนหนึ่งค่ะจิต เจตสิก รูป นิพพานคือปรมัตถธรรม ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งแม้ในขั้นปริยัติ ก็ไม่ง่ายที่จะเข้าใจจะกล่าวไปไย ถึงขั้นปฏิบัติ และ ปฏิเวธซึ่งกว่าจะประจักษ์จริงๆ ต้องมีความพร้อม ด้วยเหตุและผลผลย่อมสมควรแหตุได้ เมื่อปัจจัยถึงพร้อมแต่ความเพียรในการเจริญกุศลทุกประการ เริ่มจากกุศลขั้นต้น จนถึง กุศลในขั้นสูง ต้องประกอบด้วยปัญญาคือมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น.

ขออนุโมทนา ศรัทธาในการศึกษาพระธรรมด้วยความเห็นถูกค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ