ทำบาปแล้วล้างบาป...ได้หรือไม่ ?

 
พุทธรักษา
วันที่  8 มี.ค. 2552
หมายเลข  11550
อ่าน  8,296

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถาม
บางศาสนา ที่มีการล้างบาป เขาก็จะหายบาป แต่ศาสนาพุทธ ถือว่า เมื่อทำชั่ว ก็ต้องได้รับผลชั่ว ถ้าคนที่นับถือศาสนา ที่ล้างบาปได้นั้น ได้ตายลง โดยได้ทำบาปนั้นไปแล้ว แต่ก่อนตาย ได้ไถ่บาปให้พระเจ้าของเขาหมดแล้ว เขาจะต้องตกนรก หรือว่า จะต้องได้รับผลของบาป ตามคำสอนของศาสนาพุทธหรือไม่ เพราะเหตุใด

และอีกประการหนึ่ง คนที่นับถือศาสนาพุทธ ทำบาปแล้ว เกิดกลัวบาป จึงหันไปนับถือศาสนาที่ล้างบาปได้ แล้วไถ่บาปก่อนตายเขาจะพ้นจากบาป ที่ทำแล้วนั้นได้หรือไม่


ในเรื่องนี้ ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงศาสนาใดๆ กล่าวกันแต่ "ความจริง" ดีกว่า ว่า บาป บุญ คืออะไร

บาป คือ อกุศลจิต และอกุศลกรรม เมื่อกระทำความชั่ว

บุญ คือ กุศลจิต และ กุศลกรรม เมื่อกระทำความดี

การกระทำใดๆ นั้น เมื่อได้กระทำไปแล้วก็ไม่อาจที่จะเรียกร้อง ให้กลับคืนมาได้ ไม่ว่าการกระทำนั้น จะเป็นบุญ หรือบาป สมมติว่า เราตีเด็ก เด็กนั้นเจ็บ แล้วเราก็ขอโทษเด็ก ถึงเด็กจะไม่ถือโทษ คือ ยกโทษให้เราแต่เด็กก็ถูกตี เจ็บไปแล้ว เราเรียกเอา อาการตี และ อาการเจ็บอันเกิดจากการตีนั้น กลับมาไม่ได้ ฉันใด การกระทำชั่วก็ตาม การกระทำดีก็ตามเมื่อได้กระทำลงไปแล้ว ก็ไม่อาจเรียก กลับคืนมาได้ ฉันนั้น

การกระทำชั่ว คือ บาป เมื่อมีกระทำลงไปแล้วผลของการกระทำชั่วนั้น ต้องมี ลบล้างไม่ได้ความดี และ ความชั่ว ไม่ใช่สิ่งของที่จะสามารถหยิบยื่นให้ใครๆ ก็ได้ เมื่อต้องการและ ไม่ใช่สิ่งที่จะหยิบทิ้งไปได้ เมื่อไม่ต้องการทั้งนี้เพราะว่าความดี ความชั่วนั้น เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม ที่มีรูปร่าง สัณฐาน แต่นามธรรม คือความดี ความชั่วสะสมอยู่ในจิต เพราะฉะนั้น เมื่อทำไปแล้ว ก็ไม่สญหายไปไหน

เพราะเหตุที่ผลของบุญ และ บาปนี้ ไม่ได้หายไปไหน ผู้ที่ได้กระทำกรรมนั้นๆ แล้วจึงต้องรับทุกข์บ้าง สุขบ้าง คละเคล้ากันไป ตามเหตุ ตามปัจจัย ตลอดชีวิต ไม่มีสักคนเลย ที่จะมีแต่สุข หรือมีแต่ทุกข์ อย่างเดียว เพราะว่าทุกคนล้วนเคยกระทำทั้งบุญ และบาปากมายนานแสนนาน ที่ยังคงวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ถ้าหากไถ่บาปได้ เราก็คงมีแต่ความสุข ไม่มีทุกข์เลย แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้เป็นไปอย่างนั้นเลย

ทุกคน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ก็ตามก็ยังคงได้รับผลของบาป คือ ความทุกข์ กันอยู่ทั้งนั้นมากน้อย ตามแต่การสะสม การกระทำบาป ของผู้นั้นเช่นที่เรา ได้ประสบพบเห็นกันอยู่ ในชีวิตประจำวันแม้แต่คนที่นับถือศาสนาที่มีการล้างบาป ไถ่บาปได้ ก็ยังได้รับความทุกข์ เช่นเดียวกับคน ในศาสนาอื่นๆ

ส่วนเรื่องการตกนรก หรือ ไม่ตกนรกนั้น ขึ้นอยู่กับว่า บาปที่ทำแล้วให้ผลในชาติต่อไปหรือไม่ ถ้าให้ผลนำเกิด ก็ตกนรกได้ แต่ถ้ายังไม่ให้ผล ก็ยังไม่ตกนรก ในชาติต่อไป แต่อาจจะไปตกนรกในชาติต่อๆ จากชาติหน้าไป ก็ได้ เมื่อบาปนั้น เป็นเหตุปัจจัยให้ผล นำเกิด

ด้วยเหตุนี้ การกระทำต่างๆ ที่ผู้ใด ได้กระทำไปแล้ว จึงไม่สามารถที่จะเรียกคืนมาได้ หรือ ล้างไปเสียได้ ผลของการกระทำนั้นจึงยังอยู่ แก่ผู้กระทำกรรมนั้นโดยมีการสะสม และสืบต่อ ไว้ในจิต เมื่อมีเหตุปัจจัยถึงพร้อม ก็แสดงผลตามควรแก่เหตุ หากว่าผู้นั้นยังเวียนว่ายตายเกิด อยู่ในสังสารวัฏฏ์นี้ ไม่ว่าผู้นั้น จะนับถือศาสนอะไร หรือ ไม่นับถือศาสนาอะไรเลย ก็ตาม

พระพุทธศาสนานั้น สอนแต่ความจริง ซึ่งเป็นกฏธรรมดา ของโลก ที่เป็นสัจจะ ทุกกาล ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา หรืออำนาจของผู้ใดทั้งสิ้นทุกชีวิต ล้วนเป็นไปตามกรรม คือ การกระทำที่ตนได้ทำไว้และจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ก็เพราะการกระทำของตนเอง

ด้วยเหตุนี้ เราจึงเป็นทายาทของกรรม คือ ผู้รับผลของกรรมมีกรรม เป็นกำเนิด (เป็นผู้นำเกิด) มีกรรม เป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรม เป็นที่พึ่งอาศัย เมื่อทำกรรมดี หรือ กรรมชั่วไว้ ก็ต้องเป็นผู้รับผลของกรรมดี และ กรรมชั่วนั้น ด้วยตัวเอง นี่เป็นความจริง ที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้

บุญ และ บาป จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับศาสนาใดๆ เลย แม้แต่ศาสดา ผู้สอนศาสนาเอง ก็ไม่อาจลบล้าง "ความจริง" นี้ได้ ศาสดาใด เข้าถึงความจริง ศาสดานั้นก็สอนความจริงแก่สาวก ศาสดาใด เข้าไม่ถึงความจริง ศาสดานั้น ก็ไม่อาจสอน "ความจริง" แก่สาวก ของตนได้

จริงอยู่ ศาสนาทุกศาสนา สอนให้คนกระทำดี แต่ว่าจะดีแค่ไหน ดีอย่างไร ดีได้ถึงที่สุดหรือไม่ นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งควรพิจารณา ด้วยปัญญา ความจริงแล้ว พระพุทธศาสนา มิได้สอนเพียงว่าไม่พึง ทำบาป เพียงเท่านั้น แต่ยังสอนให้รู้หนทางที่จะไม่ต้องทำบาป อีกเลย แต่มิใช่ ด้วยการล้างบาป หรือ ด้วยการไถ่บาป ที่ได้กระทำแล้ว เพราะเป็นเรื่องที่ เป็นไปไม่ได้

ศาสนาพุทธ สอนให้ละคลายบาปอกุศลธรรม ด้วย "ปัญญา" โดยการอบรมเจริญปัญญา ด้วยการเจริญวิปัสสนาภาวนา คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ จนกว่าปัญญา จากการอบรมเจริญวิปัสสนาภาวนาจะคมกล้า สมบูรณ์พร้อม สามารถดับกิเลสได้ โดยสิ้นเชิง และไม่เกิดอีกเลย เป็นผู้ที่มีจิตบริสุทธิ์ หมดจด ปราศจากิเลส ก็คือ ผู้ที่บรรลุอรหัตตผล เป็น พระอรหันตขีณาสพ นี่คือ วิธีละบาปในพระพุทธศาสนา "เป็นที่สุด แห่งความดีทั้งปวง"

ข้อความบางตอนจาก "คุยกันวันพุธ" เล่มที่ ๑๙" ฝั่งนี้ - ฝั่งโน้น" โดย คณะสหายธรรม


ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
สุภาพร
วันที่ 9 มี.ค. 2552
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 9 มี.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 9 มี.ค. 2552
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
คุณ
วันที่ 9 มี.ค. 2552
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
L.tin
วันที่ 10 มี.ค. 2552
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
choonj
วันที่ 10 มี.ค. 2552

แล้วจะอย่างไรดีเมื่อมีการสั่งสมบาปมามาก มีการสั่งสมอวิชามามาก มีการสั่งสมการอัปโชคมามาก ฯลฯ กรรมทีกระทำแล้วต้องให้ผลหลีกเลียงไม่ได้ ก็ต้องรับกรรมกันไป แต่เมื่อมีโอกาสศึกษาธรรมก็รู้ที่จะไม่กระทำอกุศลกรรมต่อทั้งทาง กาย วาจา และใจ ก็จะช่วยได้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
hadezz
วันที่ 10 มี.ค. 2552

บุญหรือบาปย่อมติดตามตัวเขาเหมือนเงาของเขาเอง

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เมตตา
วันที่ 14 มี.ค. 2552

อัปโชค ไม่ใช่อกุศลจิตจึงไม่สั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

อัปโชค เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วในอดีต

เรื่องกรรม และผลของกรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ว่ากรรมที่เคยกระทำไว้แล้วในอดีตอนันตชาติ จะส่งผลเมื่อไหร่ มีเพียงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 19 พ.ค. 2557

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนากุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ

ด้วยความเคารพยิ่ง จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ประสาน
วันที่ 30 พ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
tanrat
วันที่ 22 ส.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ