สัตว์มีชีวิต ไม่มีชีวิต พิจารณาอย่างไรครับ

 
นิรมิต
วันที่  1 ม.ค. 2556
หมายเลข  22273
อ่าน  4,910

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน ขออนุญาตเรียนถามว่า สัตว์มีชีวิต (รูปมีใจครอง) และไม่มีชีวิต (รูปไม่มีใจครอง) มีข้อพิจารณาอย่างไรครับ อย่างต้นไม้ หรือแบคทีเรีย ไวรัส ต่างๆ พุทธศาสนาเราจัดว่าเป็นอุตุชรูป ไม่มีกัมมัชรูป จิตชรูป หรืออาหารัชรูปเลย ซึ่งการดูแต่อาการภายนอก ก็บอกไมได้ ว่ารูปไหนมีใจครอง รูปไหนไม่มีใจครอง อย่างเทวรถเทียมม้าของเทวดา ก็เป็นเพียงอุตุชรูป ทั้งๆ ที่มีรูปเหมือนม้า มีอาการสมบูรณ์เยี่ยงม้าทุกอย่าง ขยับได้ ร้องได้ หรือแม้แต่เทพบุตร เทพธิดาอันเทวดาชั้นนิมมานรดีเนรมิตขึ้นก็ดี ก็ไม่ได้มีใจครอง มีเพียงอุตุชรูป แต่อาการทุกอย่าง เสมือนรูปมีใจครอง

ฉะนั้น รูปมีใจครอง ไม่มีใจครอง ใช้อะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินครับ เพราะดิรัจฉานตัวเล็กๆ มีมาก หรือบางตัวก็เหมือนไม่มีใจครอง อยู่นิ่งๆ อย่างกับหินหรือแม้แต่ต้นไม้ใบหญ้า ถ้าไม่มีเกณฑ์อะไรตัดสิน จะมั่นใจได้อย่างไรว่าเป็นรูปมีใจครองหรือไม่มีใจครอง

ขอรบกวนชี้แนะด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 2 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ การที่จะเข้าใจธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ใช่การคิดเอาเอง แต่ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ เมื่อได้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะพ้นจากการคิดธรรมเอาเองเพราะได้ฟังและได้เข้าใจตามความเป็นจริง สิ่งที่มีชีวิตตามความเป็นจริงแล้ว ต้องเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานเท่านั้น

สำหรับรูปที่มีใจครอง ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า หมายถึงรูปอะไร หลักๆ แล้ว ได้แก่ มีจิตเกิดกับรูปนั้น อย่างเช่น ที่มีการสมมติว่าเป็นมนุษย์ ก็เพราะมีการเกิดขึ้นเป็นไปของนามธรรมและรูปธรรม รูปธรรม ก็มีรูปที่เป็นที่เกิดของจิตด้วย กล่าวคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และหทยวัตถุ เป็นที่เกิดของจิต ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ก็รวมเรียกว่าเป็นรูปที่มีใจครองเพราะมีจิตเกิดที่รูปนั้น แม้แต่สัตว์ดิรัจฉานจะตัวเล็กหรือตัวใหญ่ เป็นสัตว์ในภพภูมิที่มีขันธ์ ๕ ครบ มีจิต เจตสิก รูป เกิดขึ้นเป็นไป จิตของสัตว์ดิรัจฉานก็ต้องเกิดที่รูป ซึ่งเมื่อโดยปรมัตถธรรมแล้ว ก็มีแต่ธรรมเท่านั้นจริงๆ ดังนั้น สิ่งที่เป็นเครื่องตัดสินว่า อะไรที่เรียกว่า รูปที่มีใจครอง ก็คือ มีจิตเกิดกับรูปนั้น นั่นเอง

สำหรับอสัญญสัตตาพรหม มีแต่รูปธรรม ไม่มีนามธรรม ถึงอย่างนั้น ก็ไม่เรียกว่า รูปที่มีใจครอง เพราะไม่มีจิตเกิดกับรูป และประการที่สำคัญ เมื่อกล่าวถึงรูปธรรมแล้ว ก็มีความเสมอกัน โดยความเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร และเมื่อเกิดขึ้นแล้วมีแต่จะคล้อยไปสู่ความดับโดยส่วนเดียวครับ

ขอเชิญคลิกเพื่อศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

รูปที่ไม่มีใจครอง หทยรูปเป็นรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 2 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก รูป และ นิพพาน ซึ่งการประชุมรวมกันของ จิต เจตสิก รูป จึงบัญญัติว่าเป็นสิ่งมีชีวิต ส่วนสภาพธรรมที่มีเป็นแต่เพียงรูปอย่างเดียว ไม่ชื่อว่าสิ่งมีชีวิต ซึ่งรูปที่มีใจครอง คือ รูปที่มีใจครอง หมายถึง มีจิตเกิดกับรูปนั้น คือ จิตทุกขณะ จะต้องเกิดที่รูป ตามประเภทของจิตนั้นๆ คือ จักขุวิญญาณจิต ทำกิจเห็น เกิดที่จักขุปสาทรูป โสตวิญญาณจิต ทำกิจได้ยิน เกิดที่โสตปสาทรูป ฆานวิญญาณจิต ทำกิจได้กลิ่น เกิดที่ฆานปสาทรูป ชิวหาวิญญาณจิต ทำกิจลิ้มรสเกิดที่ชิวหาปสาทรูป กายวิญญาณจิต ทำกิจรู้กระทบสัมผัส (คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม) เกิดที่ กายปสาทรูป ส่วนจิตอื่นๆ นอกจากนี้ เกิดที่รูปๆ หนึ่งเรียกว่าหทยรูป หทยรูปเป็นรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตรูปที่มีใจครอง จึงจะต้องเป็นรูปที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกรรมเป็นสมุฏฐานให้เกิด ส่วนรูปที่ไม่มีใจครอง คือ รูปที่ไม่ได้เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน และ ไม่มีจิต เจตสิก เกิดร่วมด้วย แต่เป็นรูปที่เกิดจากอุตุ ความเย็น ความร้อน เป็นสมุฏฐาน

เพราะฉะนั้น เมื่อเรากล่าวโดยละเอียด เมื่อว่าโดยปรมัต ความจริงที่เป็นแต่เพียงสภาพธรรม สิ่งมีชีวิต ก็คือ มีรูปที่เกิดจากรรม และ เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน และ มีชีวิตตรินยรูป และ มีชีวิตรินยเจตสิกเกิดขึ้น ก็บัญญัติว่าเป็นสิ่งมีชีวิต แต่ในความเป็นจริง การมองเห็น คือ การเห็น จะต้องเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฎทางตา คือ รูปที่เป็นวัณณะเท่านั้น ไม่สามาถที่จะเห็นชีวิตตรินยรูป ไม่สามารถที่จะเห็นชีวิตรินยเจตสิกที่เป็นนามธรรมได้ เพราะฉะนั้น เพียงตาเปล่า จึงไม่สามารถบอกได้เลยว่า สิ่งนี้มีชีวิตไม่มีชีวิต เพียงแต่เราเข้าใจได้ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เรื่องภพภูมิ ตามที่เข้าใจว่า สัตว์ประเภทไหนมีชีวิต และ ไม่มีชีวิต แต่อย่างไรก็ดี เพียงตาเปล่า ไม่สามารถแยกได้ ครับ

ดังนั้น รูปที่มีใจครอง จึงตัดสินจาก เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน และมีจิต เจตสิกเกิดร่วมด้วย โดยเฉพาะมีชีวิตรินทริยเจตสิกและชีวิตรินยรูป ส่วนรูปที่ไม่มีใจครอง ก็เพราะไม่ได้เกิดจากรรมเป็นสมุฏฐาน แต่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน ไม่มีจิต เจตสิกเกิดร่วมด้วย โดยเฉพาะชีวิตรินทริยเจตสิกและ ชีวิตรินยรูป แต่เราคงไม่สามารถแยกได้ด้วยตาเปล่า ว่าเกิดจากกรรมหรือเกิดจากอุตุ เพียงเข้าใจคร่าวๆ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้เราเข้าใจตามกำลังปัญญาของตน ซึ่งประโยชน์ของการเข้าใจ เรื่องการมีชีวิต หรือไม่มีชีวิต โดยนัยอภิธรรม เพื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่มีสัตว์บุคคล มีแต่การประชุมรวมกันของรูป และ นาม จึงบัญญัติว่าเป็นสิ่งมีชีวิต เพื่อที่จะไถ่ถอนความเห็นผิดว่า มีสัตว์ บุคคล มีเรา และอีกประการหนึ่ง คือ เพื่อให้เห็นโทษของการทำบาป มีการฆ่าสัตว์มีชีวิต เป็นต้น เพราะสัตว์ทั้งหลายโดยมากมีชีวิต และตนเอง คือเรา ก็รักชีวิต สัตว์อื่นก็มีชีวิตและรักชีวิตนเองเช่นกัน ไม่ควรทำบาป คือ การฆ่า เบียดเบียนสัตว์อื่น ครับ

ประโยชน์ของการศึกษาพระธรรมจึงจะได้สาระ คือ การขัดเกลากิเลส เห็นโทษของการฆ่า และ ประโยชน์ คือ เมตตา และ เมี่อได้ความเข้าใจถูกว่า ไม่มีเรา มีแต่สภาพธรรมที่ประชุมรวมกัน จึงบัญญัติว่าสิ่งมีชีวิต อันเป็นไปเพื่อไถ่ถอนความเห็นผิด และ ความไม่รู้ ที่จะทำให้ขัดเกลากิเลส และ เจริญขึ้นของปัญญา จนดับกิเลสได้ในที่สุด นี่คือ ประโยชน์ และ จุดประสงค์ที่ถูกต้องในการศึกษาพระธรรม ครับ


[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 443

อนึ่ง ขันธสันดานที่เรียกกันว่าสัตว์ ชื่อว่า ปาณะ ในคำว่า ปาณาติปาโต นี้ ขันธสันดานนั้นโดยปรมัตถ์ ได้แก่ รูปชีวิตินทรีย์ และอรูปชีวิตินทรีย์. แท้จริงเมื่อรูปชีวิตินทรีย์ที่บุคคลให้พินาศแล้ว อรูปชีวิตินทรีย์นอกนี้ก็พินาศไป เพราะอรูปชีวิตินทรีย์เนื่องกับรูปชีวิตินทรีย์นั้น.

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
daris
วันที่ 2 ม.ค. 2556

ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมครับ สิ่งมีชีวิตบางอย่างตัวเล็กมาก มองแทบจะไม่เห็น เช่นไรฝุ่นที่เป็นเหตุให้เกิดภูมิแพ้ ก็ขนาดตัวไม่ถึง 1 มม. ถ้ามองด้วยตา ก็คงดูไม่ออกว่าเป็นอะไร อาจจะคิดว่าเป็นแค่ขี้ฝุ่น แต่พอส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ถึงเห็นว่าเขามีลำตัว มีขา มีปาก เช่นนี้ถือว่ามีชีวิตรึเปล่าครับ ที่สงสัยเพราะ เวลาเราตากที่นอน เราก็ทำเพื่อฆ่าเชื้อโรค แต่ไรฝุ่นเขาก็ตายไปด้วย (แล้วจริงๆ เราก็อาจจะมีเจตนาให้ไรฝุ่นนั้นให้ตายด้วยเพราะไม่อยากเป็นภูมิแพ้) แบบนี้เป็นปาณาติบาตรึเปล่าครับ แล้วถ้าไรฝุ่นเป็นสัตว์มีชีวิตแล้ว แบคทีเรียมีชีวิตรึเปล่าครับ เพราะก็ต้องมองด้วยกล้องจุลทรรศน์เหมือนกัน แล้วก็ก่อโรคเหมือนกัน

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

ไรฝุ่นบ้าน

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 2 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.คำปั่น อ.ผเดิมและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 2 ม.ค. 2556

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดง ถึง สัตว์ที่มีชีวิตในร่างกายมนุษย์ด้วยแต่ไม่ใช่ที่ตัวเล็กมากๆ ดังเช่น แบคทีเรีย แต่ที่มีชีวิต เช่น พยาธิที่อยู่ในท้อง เป็นต้น และรวมถึง ตัวไร ที่อาจเกาะตามร่างกายได้ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิต ส่วนจะเป็นบาปหรือไม่ สำคัญที่เจตนา หากมีเจตนาฆ่าสัตว์และสัตว์นั้นตายก็เป็นปาณาติบาต แต่ไม่ได้มีเจตนาฆ่า ต้องการทำความสะอาด ให้เบาะปราศจากเชื้อโรค โดยไม่ได้มีเจตนามุ่งหมายที่จะฆ่าสัตว์ใด หรือ มีเจตนาให้เชื้อโรคน้อยลง ซึ่งความมุ่งหมายก็มุ่งหมายที่เชื้อโรค อื่นๆ ไม่ได้มีเจตนาฆ่าตัวไร หรือ สัตว์มีชีวิต ก็ไม่เป็นปาณาติบาต ครับ

ส่วนแบคทีเรีย และ ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคนั้น โรคเกิดได้หลายอย่าง จากกรรมเป็นสมุฏฐานก็ได้ อุตุเป็นสมุฏฐานก็ได้ เพราะฉะนั้น แบคทีเรีย ไวรัส ไม่มีชีวิต แต่เกิดจากอุตุเป็นปัจจัย รูปเหล่านี้ ที่สมมติเรียกว่า แบคทีเรีย ไวรัส ที่เป็นรูปที่ไม่ดี เป็นต้น ย่อมมีผลกระทบต่อรูปอื่นๆ ที่ประชุมรวมกันในร่างกายของมนุษย์ ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 2 ม.ค. 2556

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
นิรมิต
วันที่ 3 ม.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
daris
วันที่ 3 ม.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pheejad
วันที่ 3 ม.ค. 2556

ขอทราบความรู้เพิ่มเติมครับ! ตามที่อ่านมาแบ่งอย่างนี้ถูกหรือผิดครับ แบ่งรูปต่างๆ ในโลกเป็นสิ่งไม่มีชีวิต และสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตที่ไม่มีจิตครอง เช่น ต้นไม้ แบคทีเรีย ไวรัส ไม่ใช่สัตว์ สิ่งมีชีวิตที่มีจิตครอง เช่น มนุษย์ สัตว์เดียรัจฉาน ถือเป็นสัตว์

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 4 ม.ค. 2556

ถูกต้อง ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
kinder
วันที่ 5 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
aurasa
วันที่ 6 ม.ค. 2556

เข้าใจกระจ่างยิ่งค่ะ

กราบขอบพระคุณ อนุโมทนากับ

อ.คำปั่น อ.เผดิม

และท่านที่ตั้งกระทู้ถามค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 21 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ