สัพพัญญู

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  6 ธ.ค. 2556
หมายเลข  24141
อ่าน  16,570

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

ขอเรียนถามค่ะ เกี่ยวกับคำว่า สัพพัญญู” ช่วยกรุณาแยกให้ด้วยค่ะ ว่าประกอบด้วยคำใดบ้าง แต่ละคำแปลว่าอะไร และช่วยกรุณายกตัวอย่าง คำนี้ ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ให้ด้วยค่ะ

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาสำหรับคำอธิบายและกุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ

ด้วยความเคารพ จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 6 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สัพพัญญู หมายถึง ผู้ทรงรู้ธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง เป็นพระนามหนึ่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาจากคำว่า สพฺพ (ทั้งปวง) กับ ญาธาตุ ลงในอรรถว่า รู้ ลง รูปัจจัย สำเร็จรูป เป็น สัพพัญญู

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๕๘

จริงอยู่ พระพุทธะ มี ๔ คือ สุตพุทธะ จตุสัจจพุทธะปัจเจกพุทธะ สัพพัญญูพุทธะ. ในพุทธะ ๔ นั้น ภิกษุผู้เป็นพหูสูต (มีพุทธพจน์อันสดับแล้วมาก) ชื่อว่า สุตพุทธะ. ภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพ (นี้อาสวะสิ้นแล้ว) ชื่อว่า จตุสัจจพุทธะ. พระองค์ผู้บำเพ็ญบารมีสองอสงไขย กำไรแสนกัป แล้วแทงตลอดปัจเจกพุทธญาณ ชื่อว่าปัจเจกพุทธะ. พระองค์ผู้บำเพ็ญบารมี ๔-๘-๑๖ อสงไขย กำไรแสนกัป แล้วย่ำยีกระหม่อมแห่งมารทั้ง ๓ แทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณ ชื่อว่า สัพพัญญูพุทธะ

ในพุทธะ ๔ เหล่านี้ พระสัพพัญญูพุทธะ ชื่อว่า ไม่มีพระองค์ที่ ๒ ธรรมดาว่าพระสัพพัญญูพุทธะพระองค์อื่น จะเสด็จอุบัติร่วมกับพระสัพพัญญูพุทธะพระองค์นั้น ก็หาไม่ พุทธะมีหลายประเภท ที่สามารถเข้าใจได้อีกนัยหนึ่ง ได้แก่ สัพพัญญูพุทธะ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยไม่มีใครเป็นผู้สอน แล้วทรงแสดงพระธรรมให้สัตว์โลกได้รู้ตาม ปัจเจกพุทธะ คือ พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ธรรมเฉพาะตน แต่สะสมบารมีไม่เพียงพอที่จะรู้ทุกสิ่งเหมือนพระสัพพัญญูพุทธเจ้า จึงไม่สามารถสั่งสอนสัตว์โลกให้รู้ตามได้ และอนุพุทธะ คือ ผู้ตรัสรู้ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แก่ พระอริยสาวกทั้งหลาย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศที่สุด ประเสริฐที่สุด กว่าที่พระองค์จะได้ตรัสรู้นั้น ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาที่นานมาก เมื่อได้ทรงตรัสรู้แล้ว ก็ทรงมีพระมหากรุณาที่จะเกื้อกูลสัตว์โลกด้วยการทรงแสดงพระธรรมให้ได้เข้าใจความจริง พระมหากรุณาคุณของพระองค์ที่มีต่อสัตว์โลกคือ ทรงแสดงพระธรรมให้สัตว์โลกได้เข้าใจตามความเป็นจริง จากที่สัตว์โลกเคยเป็นผู้มากไปด้วยกิเลสประการต่างๆ ก็สามารถที่ขัดเกลาละคลายจนกระทั่งสามารถดับได้ตามลำดับขั้น ด้วยปัญญาอันเกิดจากการได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง

การที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ก็ต้องด้วยปัญญาที่เข้าใจพระธรรม เท่านั้น แม้เมื่อครั้งที่พระองค์ยังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็มีทางเดียวเช่นเดียวกัน คือ ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง จึงสามารถรู้ได้ว่าบุคคลนี้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะทรงแสดงสิ่งที่มีจริงที่ผู้อื่นไม่สามารถจะแสดงได้ ไม่สามารถตรึก นึก คิด ไตร่ตรองประมวลเองได้แม้แต่คนเดียว ไม่มีใครเลยที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากผู้ที่ได้อบรมเจริญบารมีมาอย่างสมบูรณ์ พร้อมที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น ชาวพุทธ ควรที่จะได้คิดพิจารณาไตร่ตรองว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น ทรงแสดงว่าอย่างไร ซึ่งพระธรรมนี้ ถ้าพระองค์ไม่ทรงเห็นประโยชน์ ก็จะไม่ทรงแสดง แต่เนื่องจากว่าทรงเห็นประโยชน์ว่ามีผู้ที่ได้อบรมเจริญบารมีมาแล้ว สามารถที่จะฟัง พิจารณาและอบรมเจริญปัญญา จึงทรงแสดง จะเห็นได้ว่าแต่ละบุคคลที่เกิดมาในโลกนี้ หลายคนก็สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติมีความสุขในชีวิต บางคนอาจจะคิดว่าพอแล้ว ไม่มีความจำเป็นอะไรอีกในชีวิต เพราะได้รับความสำเร็จทุกอย่าง แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้ศึกษาพระธรรม ผู้นั้น ชื่อว่า ยังไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และยังไม่เข้าใจพระธรรม ด้วย ถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ต้องศึกษาต้องฟัง ถึงแม้ว่าจะยาก ก็จะต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ดีกว่าปล่อยให้เป็นสิ่งที่ยากไปเรื่อยๆ โดยไม่ฟัง เพราะฉะนั้นจึงควรเห็นประโยชน์ของปัญญา ซึ่งจะเป็นที่พึ่งที่แท้จริงสำหรับชีวิต เป็นที่พึ่งทั้งในโลกนี้ และ ในโลกหน้าด้วย ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง เพราะทรัพย์สินเงินทอง ไม่ทำให้พ้นจากทุกข์ได้ แต่ปัญญา สามารถทำให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ และ ปัญญาจะเจริญขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ขาดการฟังพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 6 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ หน้า ๓๔๗

บทว่า สพฺพญฺญุตาณวเรน เทสิตํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า สัพพัญญู เพราะทรงรู้ซึ่งธรรมทั้งปวง ความมีแห่งพระสัพพัญญูนั้น ชื่อว่า สัพพัญญุตา พระญาณ นั่นแหละประเสริฐ หรือประเสริฐในพระญาณ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ หน้า ๒๙

บทว่า กงฺขํ แปลว่า ความสงสัย พระผู้มีพระภาคเจ้าชื่อว่าเป็นสัพพัญญู เพราะอรรถว่า ทรงรู้สังขตธรรมและอสังขตธรรม โดยไม่มีส่วนเหลือ


จากข้อความในพระไตรปิฎก แสดงคำว่า พระสัพพัญญูโดยละเอียดว่า ทรงรู้ธรรมทั้งปวงที่เป็นสภาพธรรมที่เป็น สังขตธรรม และ อสังขตธรรม คือ ทรงรู้สภาพธรรมที่เป็นปรมัต คือ จิต เจตสิก รูปที่เป็น สังขตธรรม ที่เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจับปรุงแต่ง และ ทรงรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นอสังขตธรรม คือ พระนิพพาน

และ พระสัพพัญญู ที่หมายถึงพระพุทธเจ้าที่ทรงรู้ธรรมทั้งปวง ยังมีความละเอียดที่ว่าทรงรู้ธรรมทั้งในอดีต อนาคตและปัจจุบัน นั่นคือ รู้สภาพธรรมที่เป็นลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงทุกๆ อย่าง ทั้งที่ดับไปแล้ว และ กำลังปรากฏ และ กำลังจะเกิดขึ้น และ ทรงรู้บัญญัติธรรม คือ เรื่องราวทางโลกทุกอย่างๆ ด้วย ครับ

ส่วนพุทธะ ยังแบ่งอีก เป็น ๔ อย่าง ดังนี้

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑๕๘

อรรถกถาอัปปฏิวัทิตสูตร

ในบทว่า สมฺพุทฺธา ได้แก่ ผู้ตรัสรู้แล้วโดยชอบ ด้วยเหตุ ด้วยการณ์ จริงอยู่ ผู้ตรัสรู้ ๔ จำพวก คือ พระสัพพัญญูพุทธะ ปัจเจกพุทธะ จตุสัจจพุทธะ และ สุตพุทธะ ในพุทธะเหล่านั้น ผู้บำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศ แล้วบรรลุพระสัมมาสัมโพธิ ชื่อว่า พระสัพพัญญูพุทธะ ผู้บำเพ็ญบารมีสิ้น ๒ อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป จึงบรรลุด้วยตนเอง ชื่อว่า พระปัจเจกพุทธะ พระขีณาสพผู้สิ้นอาสวะโดยไม่เหลือ ชื่อว่า จตุสัจจพุทธะ ผู้เป็นพหูสูต ชื่อว่า สุตพุทธะ พุทธะมีในก่อนแม้ทั้ง ๓ ย่อมสมควรในอรรถนี้

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 8 ธ.ค. 2556

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 9 ธ.ค. 2556

อนุโมทนาในกุศลทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 10 ธ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ปวีร์
วันที่ 11 ธ.ค. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ