ความสำคัญตนและความเป็นตัวตนเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไรครับ

 
papon
วันที่  28 มี.ค. 2557
หมายเลข  24648
อ่าน  3,186

ความสำคัญตนและความเป็นตัวตนเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 28 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาัสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความสำคัญตน หมายถึง มานะ ส่วน ความเป็นตัวตน คือ ความเป็นเรา ด้วย โลภะ มานะ และ ทิฏฐิ เพราะฉะนั้น ความเป็นตัวตน เป็นเรา จึงกว้างกว่า ความสำคัญตน ที่เป็นมานะ ซึ่งความสำคัญตน ที่เป็นมานะ เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นตัวตน ครับ

ซึ่งขออธิบาย มานะ และ ความสำคัญตน ดังนี้ ครับ

ซึ่งเมื่อกล่าวถึงการมีเรานั้น ก็มีด้วย อำนาจสภาพธรรม 3 อย่าง คือ ตัณหา ที่เป็นโลภเจตสิก มานะ และทิฏฐิ ที่เป็นความเห็นผิด

ตัณหา เป็นความติดข้องต้องการ (โลภเจตสิก) เป็นสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน เป็นสภาพธรรมติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใด

มานะ เป็นความสำคัญตน เป็นความทะนงตน ถือตน มีการเปรียบเทียบกับผู้อื่นว่าดีกว่าเขา เสมอเขา หรือ เลวกว่าเขา

ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่เห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

ความเป็นไปของปุถุชนผู้ที่หนาแน่นไปด้วยกิเลสนั้น ย่อมยึดถือขันธ์ห้าว่าเป็นเราด้วยอำนาจตัณหา คือ โลภะบ้าง มานะ ความถือตัวบ้าง ทิฏฐิ ความเห็นผิดบ้าง เพราะยังไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน

ซึ่งขออธิบายความเป็นเรา 3 อย่าง ดังนี้ ครับ

ความเป็นเราด้วยตัณหา หรือ โลภะ ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้เห็น เห็นบุคคลอื่นแล้วเกิดความติดข้อง ขณะนั้น เป็นเรา หรือ เป็นเขาด้วยความติดข้อง หรือ ขณะเห็นตนเองในกระจก เกิดความยินดีพอใจ ในรูปร่างกายของตนเอง ขณะนั้นมีเราแล้ว แต่มีเราด้วยความติดข้องในความเป็นเราในขณะนั้น และแม้อยากเกิดเป็นเทวดา เกิดในภพภูมิที่ดี ก็เป็นเราด้วยตัณหาแต่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เพราะเพียงยินดีพอใจในภพภูมิ แต่ไม่ได้มีความเห็นผิดเกิดขึ้นมา

ความเป็นเราด้วยมานะ คือ ขณะใดที่เปรียบเทียบ ว่าเราสูงกว่าเขา เสมอคนอื่น หรือด้อยกว่าคนอื่น จะเห็นนะครับว่า มานะ เป็นการเปรียบเทียบ แล้วอะไรจะเปรียบเทียบ นอกจากว่า จะต้องมีเราที่ไปเปรียบเทียบ มีเขา มีคนอื่นดังนั้น เพราะเป็นอกุศลที่คิดว่าเราสูงกว่า มีเราแล้ว แต่เป็นเราด้วยมานะที่เป็นการเปรียบเทียบ ครับ

ความเป็นเราด้วยทิฏฐิ คือเป็นเราด้วยความสำคัญผิดที่เป็นความเห็นผิดคือ ขณะนั้นเป็นอกุศลที่เป็นโลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด เช่น ยึดถือว่า ดอกไม้มีจริง เที่ยง ยั่งยืน และยึดถือว่ามีเราจริงๆ มีสัตว์ บุคคลจริงๆ ขณะนั้นมีเรา มีเขา มีสิ่งต่างๆ ด้วยความเห็นผิด เพราะยึดถือด้วยความเห็นผิดว่าเที่ยง เป็นสุขและเป็นตัวตนจริงๆ ครับ

มานะ ใน ภาษาไทย ตามที่เข้าใจกัน คือ ความพยายาม บากบั่น ไม่ย่อท้อ แต่ในความเป็นจริง มานะ ที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ที่เป็นภาษาบาลี มานะ ไม่ได้หมายถึง ความพยายาม บากบั่น แต่ความพยายามบากบั่นเป็นลักษณะของวิริยะ ครับ ซึ่ง มานะ ในภาษาบาลี หมายถึง

มานะ คือ ความสำคัญตน สำคัญว่าดีกว่าเขา เสมอเขา ต่ำกว่าเขา ขณะที่เปรียบเทียบมีการสำคัญตนเช่นนี้ ขณะนั้น มีมานะเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตครับ พระอรหันต์เท่านั้นที่สามารถดับมานะได้จนหมดสิ้น เป็นสมุจเฉท.

ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกแสดงถึงลักษณะของมานะ ที่เป็นความสำคัญตน เปรียบเทียบ ดังนี้ ครับ

ที่ชื่อ "ความถือตัว" เนื่องด้วยกระทำมานะ คำว่า "กิริยาถือตัวความถือตัว" แสดงขยายถึงอาการและภาวะ ที่ชื่อว่า "การยกตน" เกี่ยวกับการเชิดชูตน การยกตนเกิดขึ้นแก่บุคคลใด ย่อมยังบุคคลนั้นให้เทิดขึ้น คือสถาปนาตนยกขึ้นไว้ เหตุนั้นจึงชื่อว่า "ความเทิดตน" ที่ชื่อว่า "การเชิดชูตนดุจธง" โดยความหมายว่า ทำตัวให้เด่นขึ้น (ทำให้เด่นหรือสำคัญขึ้น)

ที่ชื่อว่า "การยกจิตขึ้น" ด้วยอรรถว่า ประคองจิตไว้โดยความหมายว่ายกขึ้นไว้บรรดาธงหลายคัน ธงที่ยกขึ้นสูงกว่าเขา ชื่อว่า "เกตุ" หมายความว่า ธงเด่น แม้มานะเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็เปรียบได้กับธงเด่น โดยเทียบกับมานะต่อๆ มา เหตุฉะนั้นจึงชื่อว่า "เกตุ" แปลว่าดุจธงเด่น ธรรมชาติที่ชื่อว่า "เกตุกมฺย" ด้วยอรรถว่าปรารถนาเป็นดุจธง ภาวะแห่งธรรมชาติที่ต้องการ ดุจธง ชื่อว่า เกตุกมฺยตา แปลว่า ความต้องการเป็นดุจธง และความต้องการเป็นดุจธงนั้นเป็นของจิต ไม่ใช่ของตน ด้วยเหตุนั้นจึงตรัสว่า "ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง" จริงอยู่ จิตที่สัมปยุตต์ด้วยมานะ ย่อมปรารถนาเป็นดุจธงและภาวะแห่งจิตนั้น ชื่อว่าความต้องการเป็นดุจธง ได้แก่ "มานะ" ที่นับว่าเป็นดุจธง

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

มานะ [ธรรมสังคณี]

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 28 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-มานะ ในทางโลกเข้าใจกันว่าเป็นความพยายามบากบั่นขยันหมั่นเพียร แต่ในทางธรรม มานะ เป็นความสำคัญตน เป็นความทะนงตน ถือตน เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง คือ มานเจตสิก เป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิตเท่านั้น มานะ เป็นความถือตนทะนงตน ซึ่งไม่มีใครชอบอย่างแน่นอน ผู้ที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ มานะก็ยังมี แต่ว่าความหยาบ ความเบาบางก็แตกต่างกันออกไป เมื่อศึกษาในเรื่องของมานะ ซึ่งเป็นอกุศลเจตสิกประเภทหนึ่ง ทำให้เห็นว่าอกุศลในชีวิตประจำวันมีมากจริงๆ แล้วแต่ว่าใครจะสะสมหนักมากไปในทางใด หรือว่า ใครจะสามารถขัดเกลาให้เบาบางลงได้ในแต่ละทาง ซึ่งธรรมที่ตรงกันข้ามกับมานะ ก็จะต้องเป็นกุศลธรรมเท่านั้น ที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน มี ความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นต้น เพราะขณะนั้น จิตใจอ่อนโยน ไม่หยาบกระด้าง และประการสำคัญ การอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเริ่มจากการฟัง การศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สามารถไปถึงซึ่งการดับกิเลสได้ รวมถึงกิเลสที่กำลังกล่าวถึง คือ มานะ ด้วย กิเลสทั้งหลายที่มีนั้น ต้องเป็นผู้มีปัญญา ถึงจะดับได้ ถ้าไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถดับกิเลสใดๆ ได้เลย

-เมื่่อกล่าวถึงธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ แล้ว ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ไม่พ้นไปจากจิต เจตสิก และรูป แต่เพราะไม่ได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ไม่ได้เข้าใจถึงความเป็นจริงของธรรม ก็ยึดถือในสิ่งที่มีจริงเหล่านั้น ว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล สภาพธรรมที่ยึดถือ นั้น ก็คือ ความเห็นผิด ที่จะไถ่ถอนการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์บุคคล ก็ด้วยหนทางเดียวเท่านั้น คือ หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
papon
วันที่ 28 มี.ค. 2557

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

เวลาได้ยินเสียงที่เป็นคำพูดแล้วไม่พอใจในคามหมายของคำพูดเหล่านั้น เพราะว่าไม่คิดว่าขณะนั้เป็นเพียงสภาพธรรมและเพราะความเป็นตัวเราจึงเดือดร้อนใจใช่หรือไม่อย่างไรครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 28 มี.ค. 2557

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

ขณะที่ไม่พอใจ ในความหมายในคำที่พูด ก็เพราะ อาศัยเหตุ คือ การยึดถือว่าเป็นเราด้วยโลภะนั่นเอง จึงเกิดความไม่พอใจ ในคำพูดนั้น ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
papon
วันที่ 28 มี.ค. 2557

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

การคิดว่าเป็นเราด้วยโลภะขณะนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ร่วมทั้งเป็นทิฏฐิวิปลาสหรืออย่างไรครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 28 มี.ค. 2557

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

ไม่จำเป็นครับ เพราะความคิดว่าเป็นเราด้วยโลภะก็อย่างหนึ่ง ส่วนความเป็นเราก็แบ่งเป็น ความเป็นเราด้วยทิฏฐิ ความเห็นผิดอยู่แล้ว ครับ เพราะฉะนั้น ความเป็นเราด้วยโลภะ ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ได้ ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Jarunee.A
วันที่ 18 พ.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ