ความเสื่อมทิฏฐิ

 
Krisd
วันที่  17 เม.ย. 2557
หมายเลข  24726
อ่าน  3,376

"ความเสื่อมทิฏฐิ" คืออะไรครับ

ขอคำอธิบายและยกตัวอย่างทีครับ จากพระสูตรนี้ครับ

ความเสื่อม ๕ และสมบัติ ๕ [สัมปทาสูตร]

ขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 17 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๒๗๑

สัมปทาสูตร

(ว่าด้วยความเสื่อม ๕ และสมบัติ ๕)

[๑๓๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อม ๕ ประการนี้ ๕ ประการ เป็นไฉนคือ ความเสื่อมญาติ ๑ ความเสื่อมเพราะโภคะ ๑ ความเสื่อมเพราะโรค ๑ ความเสื่อมศีล ๑ ความเสื่อมทิฏฐิ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย เมื่อตายไปแล้ว ย่อมไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะเหตุแห่งความเสื่อมญาติ เพราะเหตุแห่งความเสื่อมโภคะ หรือเพราะเหตุแห่งความเสื่อมเพราะโรค (แต่ว่า) สัตว์ทั้งหลาย เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะเหตุแห่งความเสื่อมศีล หรือเพราะเหตุแห่งความเสื่อมทิฏฐิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายความเสื่อม ๕ ประการนี้แล.

ทิฏฐิ โดยทั่วไปเป็นคำกลางๆ หมายถึง ความเห็น ขึ้นอยู่กับว่า จะเห็นถูก หรือเห็นผิด ถ้าเห็นถูก ก็เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นปัญญา แต่ถ้าเป็นความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงแล้ว ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ ทิฏฐิ ที่เป็นอกุศล เป็นอันตรายมากทีเดียวซึ่งความเสื่อมทิฏฐิในที่นี้ หมายถึง เสื่อมจากสัมมาทิฏฐิ คือ เสื่อมจากความเห็นถูกก็จะทำให้ไปอบาย ทุคติ ซึ่งความเสื่อมทิฏฐิ คือไม่เห็นถูก ก็คือ ทำให้เป็นผู้เห็นผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิจึงทำให้ไปอบาย ซึ่งตัวอย่างของผู้ที่เสื่อมจากทิฏฐิคือเสื่อมจากความเห็นถูก เป็นผู้เห็นผิด เช่น ผู้ที่มีความเข้าใจธรรมบ้าง แต่ไปฟังหนทางผิด จึงทำให้ยึดข้อปฏิบัติที่ผิด เพราะเห็นผิด ชื่อว่าเสื่อมจากทิฏฐิ ครับ

อนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 17 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรม เพราะมีความเห็นผิดเกิดขึ้นเป็นไป จึงเรียกบุคคลนั้นว่า เป็นบุคคลผู้มีความเห็นผิด เป็นผู้มีความเห็นที่ไม่ตรง มีความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรม เมื่อเห็นผิดแล้ว ทุกอย่างก็ผิดไปหมด ความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา และทางใจ ก็ย่อมผิดไปด้วย กล่าวได้ว่า คิดผิด พูดผิด ทำผิด ปฏิบัติผิด คล้อยตามความเห็นที่ผิด ถ้าได้กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ก็จะเป็นเหตุให้ตนเองยิ่งตกต่ำมากยิ่งขึ้น คือ ตกไปสู่อบายภูมิ ยากที่ข้ามพ้นได้ ทั้งหมด ล้วนสืบเนื่องมาจากความเห็นผิด ทั้งนั้น ความเห็นผิด เป็นอกุศลธรรม ที่อันตรายและมีโทษมากเป็นอย่างยิ่ง

ขณะที่ความเห็นผิดเกิดขึ้น เสื่อมแล้ว เสื่อมจากปัญญา เสื่อมจากคุณความดีทั้งปวง เช่น เห็นผิดว่าบุญบาป ไม่มี ก็ลองคิดดูว่าถ้าเห็นผิดอย่างนี้แล้วจะเป็นอย่างไร? ก็ไม่ทำดี มีแต่ทำชั่วต่างๆ นานา นี้คือ ตัวอย่างของความเห็นผิด ซึ่งเป็นความเสื่อมอย่างหนึ่ง

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความละเอียดรอบคอบ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อละคลายความเห็นที่ผิด ที่ไม่ตรง ได้ในที่สุด เราไม่สามารถที่จะทราบได้เลยว่าโอกาสที่เราจะเข้าใจธรรมในภพนี้ชาตินี้ จะเหลืออีกเท่าใด เพราะฉะนั้นแล้วเวลาที่เหลืออยู่นี้จึงเป็นเวลาที่มีค่าที่สุดในการที่จะให้ตนเองมีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลส มีความเห็นผิด เป็นต้นได้ในที่สุด ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 17 เม.ย. 2557

เสื่อมจากทิฏฐิ คือ ไม่มีความเห็นถูก เพราะเห็นผิด ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Krisd
วันที่ 18 เม.ย. 2557

กราบอนุโมทนาครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Krisd
วันที่ 18 เม.ย. 2557

อย่างกรณี การที่่คนหลายๆ คนเขาไปนั่งสมาธิเพื่อจะพ้นทุกข์ แต่ความจริงแล้วไม่ได้เกิดกุศลจิตเลย เข้าใจไปเองว่ากำลังปฏิบัติธรรม ทั้งๆ ที่เป็นแค่การหลบความไม่พอใจ (โทสะ) มาจดจ่อกับความพอใจ (โลภะ) แบบนี้เข้าข่ายความเสื่อมทิฏฐิไหมครับ ผมสงสัยว่าลักษณะแบบนี้จะมีโทษร้ายแรงถึงกับไปนรกเลยเหรอครับ เพราะอะไรหรือครับถึงมีโทษมากขนาดนี้

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 18 เม.ย. 2557

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

เป็นความเสื่อมจากทิฏฐิได้ เพราะยึดถือข้อปฏิบัติที่ผิด ทำให้ประพฤติผิด เป็นเหตุให้ไปอบายภูมิได้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
peem
วันที่ 14 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ประสาน
วันที่ 3 ต.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 31 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Jarunee.A
วันที่ 22 ก.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ