อรรถกถาปุราเภทสูตร

 
khampan.a
วันที่  5 ก.ค. 2557
หมายเลข  25059
อ่าน  2,317

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ 782

อรรถกถาปุราเภทสูตรที่ ๑๐

ปุราเภทสูตร มีคำเริ่มต้นว่า กถํทสฺสี ดังนี้.

พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นอย่างไร ท่านกล่าวถึงการเกิดแห่งพระสูตรนี้และอีก ๕ พระสูตร คือ กลหวิวาทสูตร จูฬวิยูหสูตร มหาวิยูหสูตร ตุวฏกสูตร และอัตตทัณฑสูตร โดยความ เสมอกันตามนัยดังกล่าวแล้วในการเกิดแห่งสัมมาปริพาชนิยสูตรนั้นแล. แต่ โดยความต่างกัน พระผู้มีพระภาคเจ้า ในมหาสมัยนั้น เพื่อทรงแสดงธรรม ให้เป็นที่สบายแก่พวกเทวดาที่เป็นราคจริต จึงทรงให้พระพุทธนิมิตถามพระองค์ แล้วได้ตรัสสัมมาปริพพาชนิยสูตรขึ้นฉันใด ในมหาสมัยนั้นก็ฉันนั้น เหมือนกัน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบจิตของพวกเทวดาที่มีจิตเกิดขึ้นว่า ก่อนตายเราควรทำอะไรหนอ เพื่อทรงอนุเคราะห์เทวดาเหล่านั้นจึงทรงนำ พระพุทธนิมิต พร้อมด้วยภิกษุบริวาร ๑,๒๕๐ รูป มาทางอากาศ ให้พระพุทธนิมิตนั้นถามปัญหาพระองค์แล้วจึงได้ตรัสพระสูตรนี้

พึงทราบความในคำถามนั้นดังนี้ พระพุทธนิมิตตรัสถามถึงอธิปัญญา ด้วยคำว่า บุคคลมีความเห็นอย่างไร ถามถึงอธิศีลด้วยคำว่า บุคคลมีศีล อย่างไร ถามถึงอธิจิตด้วยคำว่า บุคคลเช่นไรเป็นผู้สงบ บทที่เหลือชัดแล้ว ทั้งนั้น

พึงทราบความในการตอบดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงแก้อธิปัญญาเป็นต้น โดยสรูปตรัสว่าบุคคลชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะกิเลสสงบโดยเป็น ผู้มีอธิปัญญาเป็นต้น เมื่อจะทรงแสดงถึงความสงบแห่งกิเลสนั้นๆ โดยอนุโลม ตามอัธยาศัยของเหล่าเทวดาต่างๆ จึงได้ตรัสคาถามีอาทิว่า วีตตณฺโห

ผู้ปราศจากตัณหา ดังนี้เป็นต้น. ในคาถานั้นพึงทราบการเชื่อมความแห่งคาถา ๘ คาถา ตั้งแต่ต้น ด้วยคาถานี้ว่า ตํ พรูมิ อุปสนฺโต เรากล่าวผู้นั้นว่า

เป็นผู้สงบดังนี้.พึงทราบการเชื่อมความแห่งคาถาอื่นจากนั้นด้วยบทหลังแห่ง คาถาทั้งหมดนี้ว่า ส เว สนฺโตติ วุจฺจติ ผู้นั้นแลเรากล่าวว่าเป็นผู้สงบ ดังนี้. พึงทราบความโดยนัยการพรรณนาไปตามลำดับ

บทว่า วีตตณฺโห ปุรา เภทา บุคคลปราศจากตัณหาก่อนแต่สรีระแตก คือ ละตัณหาได้ก่อนจะ ตาย.

บทว่า ปุพฺพมนฺตมนิสฺสิโต เป็นผู้ไม่อาศัยเบื้องต้นและเบื้องปลาย อันต่างด้วยกาลมีอดีตกาลเป็นต้น.

บทว่า เวมชฺเฌ นุปสงฺเขยฺโย อันใครๆ จะพึงนับว่าเป็นผู้ยินดีแล้วในท่ามกลางไม่ได้ คืออันใครๆ จะพึงนับว่าเป็น ผู้ยินดีแล้ว แม้ในกาลปัจจุบันไม่ได้.

บทว่า ตสฺส นตฺถิ ปุเรกฺขตํ ความมุ่งหมายของผู้นั้นไม่มี คือ ความมุ่งหมายสองอย่าง พึงทราบการประกอบใน คาถานี้ อย่างนี้ว่า ตํ พฺรูมิ อุปสนฺโต เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นผู้สงบดังนี้.

ในบททั้งปวงก็มีนัยนี้. เราจักไม่แสดงการประกอบนอกเหนือไปจากนี้ จัก พรรณนาบทที่ยากเท่านั้น.

บทว่า อสนฺตาสี ไม่สะดุ้ง คือ ไม่สะดุ้งเพราะไม่มีลาภนั้น.

บทว่า อวิกตฺถี ไม่โอ้อวด คือ มีปรกติไม่โอ้อวดด้วยศีลเป็นต้น.

บทว่า อกุกฺกุจฺโจ ไม่มีความรำคาญ คือเว้นจากความรำคาญมือเป็นต้น.

บทว่า มนฺตาภาณี พูดด้วย ปัญญา คือ สอบแล้วสอบเล่าด้วยปัญญาแล้วจึงกล่าววาจา.

บทว่า อนุทฺธโต คือ เว้นจากความฟุ้งซ่าน

บทว่า ส เว วาจายโต ผู้นั้นเป็นมุนีสำรวมแล้ว ด้วยวาจาคือผู้นั้นสำรวมระวังแล้วด้วยวาจา เป็นผู้กล่าววาจาเว้นจากโทษ ๔.

บทว่า นิราสตฺตี ไม่ทะเยอทะยาน คือไม่มีตัณหา

บทว่า วิเวกทสฺสี ผสฺเสสุ เป็นผู้เห็นความสงัดในผัสสะทั้งหลาย คือเห็นความสงัดจากความเป็นตัวตนเป็นต้นในจักขุสัมผัสเป็นต้นอันเป็นปัจจุบัน

บทว่า ทิฏฺฐีสุ น นิยฺยติ อันใครๆ จะนำไปในทิฏฐิทั้งหลายไม่ได้เลย คือจะนำไปในทิฏฐิไรๆ ในทิฏฐิ ๖๒ ไม่ได้เลย

บทว่า ปฏิลีโน ปราศจากกิเสส คือ ปราศจากกิเลส นั้น เพราะละราคะเป็นต้นได้แล้ว.

บทว่า อกุหโก ไม่หลอกลวง คือ ไม่ หลอกลวง ด้วยวัตถุหลอกลวง ๓ อย่าง

บทว่า อปิหาลุ คือมีปรกติไม่ทะเยอทะยาน ท่านอธิบายว่า เว้นจากความปรารถนาและความอยาก

บทว่า อมจฺฉรี ไม่ตระหนี่ คือเว้นจากความตระหนี่ ๕ อย่าง

บทว่า อปฺปคพฺโภ ไม่คะนอง คือเว้นจากความเป็นผู้คะนองกายเป็นต้น.

บทว่า อเชคุจฺโฉ ไม่เป็นที่น่า เกลียด คือ ไม่เป็นที่น่ารังเกียจ คือ ชื่นใจชอบใจ ด้วยความเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์เป็นต้น

บทว่า เปสุเณยฺเย จ โน ยุโต ไม่ประกอบในคำส่อเสียด คือ ไม่ประกอบในกรรมคือความส่อเสียดอันควรรวบรวมเข้าด้วยอาการทั้งสอง.

บทว่า สาติเยสุ อนสฺสาวี เว้นจากความชมเชยด้วยความอยากในกามคุณ ทั้งหลายอันเป็นวัตถุน่ายินดี.

บทว่า สณฺโห เป็นผู้ละเอียดอ่อน คือ เป็นผู้ ประกอบด้วยกายกรรมเป็นต้นอันละเอียดอ่อน.

บทว่า ปฏิภาณวา มีปฏิภาณ คือประกอบด้วยปฏิภาณในการเรียน การถามและการบรรลุ.

บทว่า น สทฺโธ ไม่เชื่อใครๆ คือไม่เชื่อใครๆ ถึงธรรมที่ตนบรรลุแล้วด้วยตนเอง.

บทว่า น วิรชฺชติ ไม่กำหนัด คือ ไม่กำหนัด เพราะสิ้นราคะ เพราะไม่ยินดี.

บทว่า ลาภกมฺยา น สิกฺขต ไม่ศึกษาเพราะใคร่ลาภ คือ ไม่ศึกษาพระสูตรเป็นต้น เพราะปรารถนาลาภ.

บทว่า อวิรุทฺโธ จ ตณฺหาย รเสสุ นานุคิชฺฌติ ไม่พิโรธไม่ยินดีในรสด้วยตัณหา คือ เป็นผู้ไม่พิโรธ เพราะไม่มีความพิโรธ ไม่ถึงความอยากในรสอันเป็นรากเหง้าแห่งตัณหา.

บทว่า อุเปกฺขโก เป็นผู้วางเฉย คือ เป็นผู้ประกอบด้วยฉฬังคุเบกขา.

บทว่า สโต มีสติ คือเป็นผู้ประกอบด้วยสติมีกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นต้น.

บทว่า นิสฺสยตา คือ อันตัณหาและทิฏฐิอาศัย.

บทว่า ญตฺวา ธมฺมํ รู้ธรรมแล้ว คือ รู้ธรรมด้วยอาการมีความไม่เที่ยงเป็นต้น

บทว่า อนิสฺสิโต คือเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิเหล่านั้นไม่อาศัยแล้วอย่างนี้. ท่านแสดงว่า นอกจากธรรมญาณเสียแล้วตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัย ไม่มี.

บทว่า ภวาย วิกวาย วา เพื่อความมี หรือความไม่มี คือ เพื่อสัสสตทิฏฐิ หรือ เพื่ออุจเฉททิฏฐิ.

บทว่า ตํ พฺรูมิ อุปสนฺโต คือเรากล่าวผู้เห็นปานนั้น ดังที่กล่าวไว้แล้วในคาถาหนึ่งๆ ว่าเป็นผู้สงบ.

บทว่า อตาริ โส วิสตฺติกํ ผู้นั้นข้ามตัณหาได้แล้ว คือ ข้ามมหาตัณหา กล่าวคือวิสัตติกาอันได้แก่ความอยากจัดโดยความเป็นของกว้างใหญ่ไพศาลเป็น ต้นได้แล้ว. บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงสรรเสริญผู้สงบนั้นจึงตรัสว่า ตสฺส ปุตฺตา บุตรของผู้นั้นไม่มี ดังนี้เป็นต้น บุตรทั้งหลายในบทว่า ปุตฺตา นั้นได้แก่บุตร ๔ จำพวก มีบุตรเกิดแต่ตนเป็นต้น. อนึ่งในบทนี้ พึงทราบว่าบุตรที่นำมาเลี้ยงท่านก็เรียกว่าบุตร. เพราะบุตรของเขาเองไม่มี.

บทว่า เยน นํ วชฺชุ ปุถุชฺชนา อโถ สมณพฺราหฺมณา ปุถุชนหรือสมณพราหมณ์ จะพึงกล่าวกะผู้นั้นโดยโทษมีราคะเป็นต้นใด ความว่า ปุถุชน เทวดา มนุษย์และสมณพราหมณ์ภายนอกจากนี้จะพึงกล่าวกะผู้นั้นว่า ผู้ยินดีแล้วหรือผู้ประทุษร้ายแล้วโดยโทษมีราคะ เป็นต้นใด.

บทว่า ตํ ตสฺส อุปรกฺขตํ คือ โทษมีราคะเป็นต้นนั้นมิใช่เป็นความมุ่งหมายของผู้เป็นพระอรหันต์นั้น.

บทว่า ตสฺมา วาเทสุ เนชติ เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะถ้อยคำทั้งหลาย คือ ไม่หวั่นไหว ในคำนินทาเพราะโทษมีราคะเป็นต้นนั้นเป็นเหตุ.

บทว่า น อุสฺเสสุ วทเต มุนีย่อมไม่กล่าวยกย่องในบุคคลผู้ประเสริฐ คือ ไม่กล่าวยกย่องในบุคคลผู้ประเสริฐโดยทำตนไว้ภายในแล้วยกตนว่าเราเป็นผู้ประเสริฐ. ในสองบทต่อไปก็มีนัยนี้.

บทว่า กปฺปํ เนติ อกปฺปิโย ผู้ไม่มีกัปปะ (คือตัณหาและทิฏฐิ) ย่อมไม่มาสู่กัปปะ คือ บุคคลเห็นปานนี้นั้นย่อมไม่มาสู่กัปปะทั้งสองอย่าง. เพราะเหตุไร. เพราะเป็นผู้ไม่มีกัปปะ คือ ตัณหาและทิฏฐิ. ท่านอธิบายว่า เป็นผู้ละกัปปะได้แล้ว.

บทว่า สกํ ของตน คือ ยึดถือว่าของเรา.

บทว่า อสตา จ น โสจติ ไม่เศร้าโศกเพราะสิ่งที่ไม่มีอยู่ คือ ไม่เศร้าโศก เพราะความไม่มีเป็นต้นและเพราะความไม่มีอยู่.

บทว่า ธมฺเมสุ จ น คจฺฉติ และไม่ลำเอียงในธรรมทั้งหลาย คือ ไม่ลำเอียงในธรรมทั้งปวงด้วยความพอใจ เป็นต้น

บทว่า ส เว สนฺโตติ วุจฺจติ บุคคลนั้นแลเรากล่าวว่าเป็นผู้สงบ คือ เรากล่าวบุคคลเห็นปานนั้นว่า เป็นผู้สงบ สูงสุดกว่าคน. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเทศนาด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัต เมื่อจบเทศนา เทวดาแสนโกฏิ ได้บรรลุพระอรหัต. จำนวนผู้บรรลุโสดาบันเป็นต้นเหลือจะนับ ด้วยประการฉะนี้

จบอรรถกถาปุราเภทสูตรที่ ๑๐


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 6 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ