ฉันทะและตัณหา
ขออธิบายความแตกต่างของคำว่า
ฉันทะ และ ตัณหา ...
ผู้ที่ใฝ่หาความรู้ในทางธรรมะนั้นเป็นผู้มีฉันทะหรือมีตัณหา?
ผู้ที่ใฝ่หาความหลุดพ้นเข้าสู่นิพพานนั้นเป็นผู้มีฉันทะหรือมีตัณหา?
ผู้ที่มีความต้องการเผยแพร่ธรรมะให้ผู้คนอื่นๆ ... ให้มีความเข้าใจในธรรมะและเข้าสู่นิพพาน ... เป็นจำนวนมากๆ นั้น เป็น ฉันทะ หรือมี ตัณหา?
ฉันทะ เป็นปกิณณกเจตสิก เกิดร่วมกับจิตทั้ง ๔ ชาติ
ฉันทะ คือความพอใจ มีความเป็นผู้ใคร่เพื่อทำเป็นลักษณะ ขณะที่มีความพอใจในการกระทำสิ่งต่างๆ เป็นไปในกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้
ตัณหาหรือโลภะ เป็นอกุศลเจตสิก เกิดร่วมกับโลภมูลจิตเท่านั้น โลภะมีการยึดอารมณ์ มีความติดข้องเป็นลักษณะ การใฝ่หาความรู้ในทางธรรมเป็นไปด้วยกุศลฉันทะก็ได้ หรืออกุศลฉันทะที่มีโลภะเกิดร่วมด้วยก็ได้ เช่น ผู้ศึกษาพระธรรมเพื่อให้ผู้อื่นรู้ว่าเราเป็นคนเก่ง สอบได้มีคะแนนดี หรือศึกษาพระธรรมเพื่อใช้ไปในทางผิด เป็นต้น เป็นอกุศล (ตัณหา) ถ้าเข้าใจพระนิพพานไม่ถูกต้อง เช่น เข้าใจว่าพระนิพพานเป็นอีกเมืองหนึ่ง ทำสิ่งต่างๆ เพื่อไปสู่พระนิพพานนั้นเป็น ตัณหา