ที่ตั้งของความสำคัญตน
[เล่มที่ 65] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า ๔๓๗ ข้อความตอนหนึ่งจาก...
ตอนว่าด้วยมานะ ๕ ประการ
"บุคคลให้มานะ (ความสำคัญตน) เกิดขึ้น เพราะ.-
๑. ได้รูปที่ชอบใจ
๒. ได้ยินเสียงที่ชอบใจ
๓. ได้กลิ่นที่ชอบใจ
๔. ได้รสที่ชอบใจ
๕. ได้โผฏฐัพพะที่ชอบใจ
รวมเป็นมานะ ๕ ประการ"
แสดงให้เห็นถึงความล้ำลึกของอกุศลที่จะเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน การที่จะได้มา ซึ่งสิ่งที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ตามต้องเป็นผลของกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ให้ผลเป็นกุศลวิบาก แต่ก็เป็นปัจจัยให้มานะ (ความสำคัญตน) เกิดขึ้นได้ ดังนั้น ได้มาก็ดีแล้วเป็นผลของอดีตกุศลกรรม แต่แม้กระนั้นด้วยความที่ไม่เข้าใจเรื่องของอกุศลธรรม ก็ทำให้อกุศลจิตเกิดขึ้นมีมานะเกิดร่วม ด้วยนั่นเอง
มานะ ในทางโลกเข้าใจกันว่าเป็นความพยายามบากบั่นขยันหมั่นเพียร แต่ในทางธรรม มานะ เป็นความสำคัญตน เป็นความทะนงตน ถือตน เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง เป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิต มานะ เป็นความถือตนทะนงตน ซึ่งไม่มีใครชอบ ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ มานะก็ยังมีแต่ว่าความหยาบ ความเบาบางก็แตกต่างกันออกไป ทำให้เห็นว่าอกุศลในชีวิตประจำวันมีมากจริงๆ แล้วแต่ว่าใครจะสะสมหนักมากไปในทางใด หรือว่าใครจะสามารถขัดเกลาให้ เบาบางลงได้ในแต่ละทาง นอกจากนั้นแล้ว ความเป็นผู้ได้ยศ หรือการได้มาซึ่งความสรรเสริญ ก็เป็นที่ตั้งของมานะได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือ ผู้ที่มีหน้าที่การงานที่ดีเจริญก้าวหน้า ก็เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดความสำคัญตนได้ เวลาที่ได้รับ คำสรรเสริญจากบุคคลหนึ่งบุคคลใด ถ้ารับไม่เป็นก็ไปหลง ติด ยึดถือ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เป็นแต่เพียงคำที่บุคคลอื่นกล่าวเท่านั้น แต่ว่าใจก็ไปติดเสียหนาแน่น เหนียวแน่นอย่าง จริงจัง มีการฟู พองโต ในคำสรรเสริญนั้น ซึ่งเป็นทางที่จะทำให้อกุศลธรรมยิ่งเพิ่มพูนขึ้น
ส่วนใหญ่เรามองเห็นมานะของผู้อื่น และคิดเอาว่าเรามองเห็นได้ชัดเจน แต่ว่าก็ไม่รู้ลักษณะของจิตที่กำลังคิดถึงบัญญัติอารมณ์ แค่นั้นไม่พอ ยังหลงลืมมานะของตนเอง ซึ่งรู้ได้ยากยิ่งกว่ามากมาย ต้องด้วยปัญญาเท่านั้นจริงๆ ครับ จึงจะรู้ได้...อนุโมทนาครับ
มานะเป็นอกุศลที่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ มักเห็นว่าเป็นประโยชน์ ปุถุชนผู้ได้สดับแล้วรู้ว่าเป็นอกุศลแต่ไม่ทราบความละเอียด และแม้แต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามีก็ยังไม่อาจดับได้ พระอรหันต์เท่านั้นที่ดับมานะเป็นสมุจเฉท ข้อความตามที่แสดงในพระสุตันตปิฎก ที่ท่านผู้ตั้งกระทู้ยกมาแสดง ทำให้เห็นว่าการได้รับอารมณ์ที่น่าพอใจทางปัญจทวารเป็นปัจจัยให้เกิดมานะได้ แต่มีข้อที่น่าสังเกตคือพระอนาคามีท่านดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะแล้ว อารมณ์เหล่านี้จะเป็นปัจจัยให้เกิดมานะสำหรับท่านได้อย่างไร ขอเชิญท่านผู้รู้แสดงความคิดเห็นครับ
การที่กำลังพอใจในมานะห้าอย่างนั้น เคยนึกว่าไม่มีอกุศลธรรมเจือปน แท้ที่จริงแล้ว มีอยู่เพียบลำเรือ แต่ไม่เคยรู้สึกว่ามีเลย จริงๆ นะมานะของตนเองนี้แหละ ที่รู้ได้ยากจริงๆ
ขออนุโมทนาค่ะ
มานะที่สำคัญตนว่าแย่กว่า ต่ำกว่า หรือว่าเสมอกัน หรือว่าสูงกว่า เป็นอกุศลที่น่ารังเกียจ ควรขัดเกลาด้วยการฟังพระธรรมให้มากขึ้น ทุกๆ วันค่ะ
00484 ไม่ควรทำมานะ
ไม่ควรทำมานะในมารดา บิดา พี่ชายและในอาจารย์เป็นที่ ๔ พึงมีความเคารพในบุคคลเหล่านั้น พึงยำเกรงบุคคลเหล่านั้น บูชาบุคคลเหล่านั้นด้วยดีแล้วจึงเป็นการดี บุคคลพึงทำลายมานะเสียไม่ควรมีความกระด้าง ในพระอรหันต์ ผู้เย็นสนิท ผู้ทำกิจเสร็จแล้ว หาอาสวะมิได้ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เพราะอนุสัยนั้น.
ข้อความบางตอนจาก.....
มานัตถัทธสูตร [เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๒๘๔
ธรรมเตือนใจวันที่ : 12-03-2551
เมื่อก่อน ที่ยังไม่เข้าใจพระธรรม รู้แต่ว่า เกิดเป็นคน ต้องมีมานะ บากบั่น ฝ่าฟันอุปสรรค
เมื่อมีโอกาสได้เข้าใจพระธรรมบ้าง จึงได้ทราบว่า "มานะ" ไม่ใช่อย่างที่เคยคิดเลย แต่เป็น "ธรรม" ที่เป็นอย่างไร เพราะอะไรจึงมีมาก เกิดขึ้นขณะใด รู้ลักษณะได้ เมื่อสติเกิด.
ขออนุโมทนา.
เรียนท่าน k ค่ะ (ความเห็นที่ 5) ,
จากข้อความในพระสูตร ท่านกล่าวเพียง มานะ ที่อาศัยกามคุณเท่านั้น แต่มานะ เป็นอกุศลเจตสิกที่สามารถเกิดได้ทั้ง ๖ ทวารนะคะ โดยจะเกิดร่วมกับโลภมูลจิต (ที่พระอนาคามียังดับไม่ได้) เพราะฉะนั้น มานะ ยังคงเกิดได้แม้ไม่อาศัยปัญจทวารค่ะ
วัตถุกามที่ไม่ใช่กามคุณ ๕ เป็นที่ตั้งของมานะได้ครับเช่น ความยินดีในภพชาติ ในฌาน ในธรรมที่ได้บรรลุแล้ว ฯลฯ เพราะมานะเป็นอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตครับ
[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๑๓๖
มานะ อติมานะ มานาติมานะ โอมานะ
อธิมานะ อัสมิมานะ มิจฉามานะ.๑
ในบทเหล่านั้น บทว่า มาโน ความถือตัว คือลูบคลำบุคคลด้วยสามารถแห่งบุคคลผู้ดีกว่า เป็นต้น แล้วเย่อหยิ่งด้วยวัตถุในชาติเป็นต้น.
บทว่า อติมาโน ดูหมิ่นท่าน คือ ผยองเลยไปถึงว่า ไม่มีใครเช่นกับเราโดยชาติเป็นต้น.
บทว่า นานาติมาโน ดูหมิ่นด้วยความทะนงตัว คือเกิด ถือตัวว่า คนนี้เมื่อก่อนเช่นกับเรา เดี๋ยวนี้เราดีกว่า คนนี้เลวกว่าเรา.
บทว่า โอมาโน ถือตัวว่าเลวกว่าเขา คือถือตนว่าต่ำโดยชาติ เป็นต้น คือถือตัวว่า เราเป็นคนเลวนั่นแหละ.
บทว่า อธิมาโน ถือตัวยิ่ง คือมานะว่า เราบรรลุสัจธรรม ๔ ซึ่งไม่มีผู้บรรลุเลย. อธิมานะนี้เกิดแก่ปุถุชนผู้มีศีลบริสุทธิ์ไม่ประมาทในกรรมฐาน กำหนดนามรูปข้ามสงสัยโดยกำหนดปัจจัย ยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์พิจารณาสังขาร ปรารภวิปัสสนา, ไม่เกิดแก่ผู้อื่น.
บทว่า อสฺมิมาโน ถือเรา คือมานะว่าเรามีอยู่ในขันธ์มีรูป เป็นต้น. ท่านอธิบายว่า มีมานะเกิดขึ้นด้วยบทมีอาทิว่า อห รูป รูปเป็นเรา เราคือรูป.
บทว่า มิจฺฉามาโน มานะผิ คือ มานะเกิดขึ้นด้วยบทมีอาทิ ว่า ปาปเกน กมฺมายตนา กัมมายตนะเกิดด้วยความลามก.
ขออนุโมทนาคุณไตรสรณคมณ์ ในความเป็นผู้ละเอียด รอบคอบ มีวิริยะในการเจริญกุศล ในธรรมส่วนละเอียดเสมอมา กรุณาแวะเข้ามา ช่วยตรวจทานบ่อยๆ นะคะ.. (ถ้ามีเวลา)