ธาตุน้ำ และธาตุไฟ มองไม่เห็นด้วยตา จริงหรือ?

 
win
วันที่  19 มี.ค. 2549
หมายเลข  940
อ่าน  4,891

อยากทราบว่า ธาตุน้ำ และธาตุไฟ มองด้วยตาไม่เห็นจริงหรือ? แล้วที่เรามองเห็นในขันน้ำ คือ ธาตุอะไร? และธาตุน้ำสามารถสัมผัสทางกายได้หรือไม่? สำหรับธาตุไฟนั้นพอเข้าใจแล้ว ว่ามีลักษณะร้อนเป็นลักษณะ แต่อยากทราบว่าส่วนที่ตาเรามองเห็นลุกเป็นเปลวขึ้นมา คือ ธาตุดิน ใช่หรือไม่? เรื่องนี้สงสัยมานานเหมือนกัน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 20 มี.ค. 2549

ลักษณะของธาตุน้ำธาตุไฟ และธาตุอื่นๆ (เว้นวรรณธาตุ) ปรากฏทางตาไม่ได้ สิ่งที่ตาเห็นได้มีอย่างเดียวเท่านั้นคือ สีหรือรูปารมณ์ (วรรณธาตุ) สำหรับธาตุอื่นๆ รู้ได้ทวารอื่นไม่ใช่ทางตา ที่ว่าเรามองเห็นธาตุไฟ ธาตุน้ำ ธาตุดิน เป็นต้นนั้น เป็นความทรงจำว่า มีรูปร่างเป็นเปลวขึ้นมามีความร้อน เป็นลักษณะของธาตุไฟ ความจริง ธาตุไฟต้องรู้ได้ทางกายคือ ต้องกระทบสัมผัสจึงจะรู้ว่าร้อนหรือเย็นได้

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
sucheep
วันที่ 20 มี.ค. 2549

ธาตุลมกับอากาศธาตุ เหมือนกันหรือไม่ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
study
วันที่ 21 มี.ค. 2549

ธาตุลม มีลักษณะ เคร่งตึง หรือไหว ส่วนอากาศธาตุ (ปริเฉทรูป) มีลักษณะเป็นช่องระหว่างรูปคือ มีการคั่นซึ่งรูป เป็นลักษณะ สรุปคือไม่เหมือนกัน ธาตุลมเป็นมหาภูตรูป อากาศธาตุ เป็นอุปาทายรูป มีลักษณะต่างกัน

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 21 มี.ค. 2549

รูปรมัตถ์เป็นสภาวธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นและดับไปเช่นเดียวกันกับจิตและเจตสิก รูปปรมัตถ์มี ๒๘ รูป หรือ ๒๘ ประเภท มีความหมายไม่เหมือนที่เข้าใจกันว่า โต๊ะเป็นรูปหนึ่ง เก้าอี้เป็นรูปหนึ่ง หนังสือเป็นรูปหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น ในรูปปรมัตถ์ ๒๘ ประเภทนั้น มีรูปที่จิตรู้ได้ทางตา คือ มองเห็นได้เพียงรูปเดียว คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ส่วนอีก ๒๗ รูปนั้น จิตเห็นไม่ได้ แต่รู้ได้ทางอื่นตามประเภทของรูปนั้นๆ เช่น เสียงที่รู้ได้ทางหู เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 21 มี.ค. 2549

อวินิพโภครูป ๘ ประกอบด้วย มหาภูตรูป ๔ และ อุปทายรูป ๔

มหาภูตรูป (รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน) ๔ ได้แก่

ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) เป็นรูปที่อ่อนหรือแข็ง

อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) เป็นรูปที่เอิบอาบหรือเกาะกุม

เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) เป็นรูปที่ร้อนหรือเย็น

วาโยธาตุ (ธาตุลม) เป็นรูปที่ไหวหรือตึง

มหาภูตรูป ๔ นี้ ต้องอาศัยกันเกิดขึ้น จึงแยกกันไม่ได้เลย และมหาภูตรูป ๔ นี้เป็นปัจจัย โดยเป็นที่อาศัยเกิดของรูปอีก ๔ รูป ที่เกิดร่วมกับมหาภูตรูปในกลาปเดียวกัน คือ อุปาทายรูป ๔ ได้แก่

วัณโณ (แสงสี) เป็นรูปที่ปรากฏทางตา

คันโธ (กลิ่น) เป็นรูปที่ปรากฏทางจมูก

รโส (รส) เป็นรูปที่ปรากฏทางลิ้น

โอชา (อาหาร) เป็นรูปที่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป

รูป ๘ นี้แยกกันไม่ได้เลย เป็นกลุ่มของรูปที่เล็กที่สุดที่เกิดพร้อมกันและดับพร้อมกันอย่างรวดเร็ว จะมีแต่มหาภูตรูป ๔ โดยไม่มี อุปาทายรูป (รูปที่อาศัยมหาภูตรูปเกิด) ๔ รูปนี้ไม่ได้เลย

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 21 มี.ค. 2549

ปริจเฉทรูป คือ อากาสรูป ซึ่งคั่นอยู่ระหว่างกลาปทุกๆ กลาป ทำให้รูปแต่ละกลาปไม่ติดกัน ไม่ว่ารูปจะปรากฏเล็กใหญ่ขนาดใดก็ตาม ให้ทราบว่ามีอากาสรูปคั่นอยู่ระหว่างทุกๆ กลาปอย่างละเอียดที่สุด ทำให้รูปแต่ละกลาปแยกออกจากกันได้ ถ้าไม่มีปริจเฉทรูปคั่นแต่ละกลาป รูปทั้งหลายก็ติดกันหมด แตกแยกกระจัดกระจายออกไม่ได้เลย แต่แม้รูปที่ปรากฏว่าใหญ่โต ก็สามารถแตกย่อยออกได้อย่างละเอียดที่สุดนั้นก็เพราะมีอากาสธาตุ คือ ปริจเฉทรูปคั่นอยู่ทุกๆ กลาป นั่นเอง ฉะนั้น ปริจเฉทรูปจึงเป็นอสภาวรูปอีกรูปหนึ่ง ซึ่งไม่มีลักษณะเฉพาะของตนที่เกิดขึ้นต่างหาก แต่เกิดคั่นอยู่ระหว่างกลาปต่างๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันนั่นเอง

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
prakaimuk.k
วันที่ 23 มี.ค. 2549

การที่เห็นวัตถุมีลักษณะต่างๆ กันนั้น เช่น โต๊ะ ต่างจากใบไม้ เนื่องจากธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ (มหาภูตรูป) ในวัตถุแต่ละอย่างมีปริมาณต่างกัน ดังนั้น วรรณะ กลิ่น รส โอชา (อุปทายรูป) ที่เกิดร่วมด้วยก็จะต่างกัน ตามปริมาณของมหาภูตรูปนั้นๆ เนื่องจากธาตุ ๔แยกจากกันไม่ได้ มองเห็นไม่ได้ (นอกจากวรรณะ) การจะเข้าใจลักษณะของธาตุเหล่านี้ เพี่อเป็นปัจจัยในการช่วยการละกิเลส ละตัวตน ก็ทำได้โดยการศึกษาพิจารณาอย่างแยบคายบ่อยๆ เนืองๆ โดยอาศัยอายตนะทั้ง ๖ นั่นเอง

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
win
วันที่ 24 มี.ค. 2549

อ่านแล้ว รู้สึกมหัศจรรย์ในพระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะครับ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าบังเกิดในโลก ใครหนอจะรู้สภาวะอันละเอียดอ่อนได้เช่นนี้ ขอบคุณท่านเว็บมาสเตอร์ และทุกท่านที่ตอบ ที่เข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ตรงส่วนนี้ จึงทำให้สามารถอธิบายให้ผมเข้าใจได้ (ถ้าตัวเองไม่เข้าใจก็อธิบายไม่ได้) ผมอ่านแล้ว เข้าใจทันทีครับ ขอบคุณมาก

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
s_sophon
วันที่ 29 มี.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 25 มี.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ