รู้นิยามของ ”ขันธ์” หรือรู้ลักษณะของขันธ์
อ.ธิดารัตน์ แล้วถ้าอย่างการศึกษา แม้จะเป็นการศึกษาเรื่องราวแต่เรื่องราวนั้นก็มีลักษณะของสภาพธรรมด้วย การศึกษาที่ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แต่ผู้นั้นยังไม่ได้ประจักษ์สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง แล้วก็สงสัย ความสงสัยนั้นจะเป็นวิจิกิจฉาไหม
สุ. ถ้าเราเข้าใจความหมายของวิจิกิจฉา เราก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าเป็นหรือเปล่า ไม่อย่างนั้นเราก็พูดชื่อกันไปตลอดใช่ไหม แต่เราก็ยังจะต้องถามกันอยู่นั่นแหละว่าเป็นหรือเปล่า
อ.ธิดารัตน์ คือถ้าสงสัยชื่อก็น่าจะเป็นความไม่รู้ จริงๆ ก็เป็นความสงสัยเหมือนกันที่ว่ายังตัดสินใจไม่ได้ชัดเจน
สุ. เพราะฉะนั้นไม่ใช่ให้คนอื่นตัดสิน แต่ธรรมที่ได้ยินได้ฟังจากพระไตรปิฎกส่วนหนึ่งส่วนใดหรืออรรถกถา ฟังด้วยการไตร่ตรอง ด้วยการพิจารณาของตนเอง แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น อันนั้นเป็นคำตอบที่ชัดเจนเพราะว่าได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเจตสิก ข้อความในอรรถกถาก็มี เพราะฉะนั้นถ้าได้อ่านได้ค่อยๆ พิจารณาก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ดีกว่าที่จะให้คนอื่นตอบ เพราะฉะนั้นเรื่องที่จะให้คนอื่นตอบก็หมายความว่าเราไม่รู้เลย แน่นอน เรารู้แต่ชื่อ ไม่ว่าเราจะศึกษามา ๑๐ ปี ๒๐ ปี ถ้ายังคงมีคำถามอยู่ แต่ถ้าไม่ถาม อ่านอีก ฟังอีก พิจารณาอีก ค่อยๆ เข้าใจอีก ก็ไม่ถาม เพราะว่าค่อยๆ เข้าใจขึ้น
ผู้ถาม บางทีก็ต้องถาม แต่ทีนี้พอถามก็ต้องใช้ชื่อ อาจารย์ก็บอกใช้ชื่ออีกแล้ว แต่ก็ต้องพูดออกมาเป็นชื่อ
สุ. คำถามของในพระไตรปิฎก และอรรถกถา ขอให้มีความละเอียดว่าจะถามว่าใช่ไหม นี่มีไหม นี่เป็นจิตใช่ไหม นั่นเป็นวิจิกิจฉาใช่ไหม มีไหม ในพระไตรปิฎก หรือว่าถ้าสงสัยเรื่องขันธ์ ท่านก็จะพูดเรื่องขันธ์ เพื่อให้เข้าใจความหมายของขันธ์ แต่ไม่ใช่ถามว่านี่ขันธ์ใช่ไหม และให้ท่านผู้นั้นตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าเป็นเรื่องของพระวินัยนั่นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก เพราะฉะนั้นก็จะต้องเข้าใจด้วย เช่น ขณะนี้ได้ยินคำว่า “ขันธ์” มาบ่อยมากเลยตั้งแต่ต้นเลยใช่ไหม เป็นปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ เพราะฉะนั้นก็มีทั้งเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน หยาบ ละเอียด ไกล ใกล้ ภายใน ภายนอก แสดงไว้หมดเลย แล้วจะมาถามว่านี่ขันธ์ใช่ไหม กับการที่จะบอกให้เข้าใจว่า การที่จะรู้ขันธ์นั้นรู้ได้อย่างไร ไม่ใช่ให้ตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ ใช่ไหม
เพราะฉะนั้นเวลานี้เราได้ยินคำว่า“ขันธ์” จริง และเราได้ยินคำอธิบายด้วย ขันธ์ได้แก่ปรมัตถธรรมที่เกิดดับ เพราะฉะนั้นก็ได้แก่จิต เจตสิก รูป ทั้งหมด เป็นขันธ์ แล้วก็ขันธ์ก็หลากหลายต่างกันไป แต่อย่างไรจึงจะเป็นปัญญาของตัวเองที่รู้จักขันธ์ ไม่ใช่รู้จักความหมายของคำว่า “ขันธ์” และไม่ใช่รู้จักเพียงชื่อขันธ์ เพราะว่าลักษณะของขันธ์ก็บอกแล้วใช่ไหม อดีต อนาคต หยาบ ละเอียด ไกล ใกล้ ขณะนี้ได้ยินเสียง ถ้าไม่รู้ลักษณะของเสียงนี้ซึ่งหมดไปแล้ว แล้วก็มีเสียงใหม่เกิดขึ้น ขณะนั้นจะรู้ไหมว่านี่คือความหมายของขันธ์ ลักษณะของเสียงที่ต่างกัน หยาบกับละเอียด ไกลกับใกล้ เลวกับประณีต ภายใน ภายนอก ไม่ใช่ให้เราไปจำคำนิยามของคำว่า“ขันธ์” สามารถบอกได้อธิบายได้ แต่ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงจะรู้จักขันธ์ เมื่อสติสัมปชัญญะเกิด แล้วกำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วดับ อดีตแล้วใช่ไหม รู้จักแล้วใช่ไหม ว่าสิ่งนี้เกิดแล้วปรากฏแล้วหมดไป เพราะฉะนั้นนี่คือความหมายของขันธ์ เป็นตัวขันธ์ ไม่ใช่เป็นชื่อที่เราไปจำเอาไว้ว่ามีลักษณะยังไงบ้าง แต่ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดก็เป็นเพียงชื่อหยาบยังไง ละเอียดยังไง ภายนอกยังไง ภายในยังไง ไม่เคยรู้ในขณะที่สภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจด้วยว่าการฟังธรรม คือตัวธรรมล้วนๆ ไม่ใช่ว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้น แล้วคนนี้ตกลงเขาเมตตาหรือเขากรุณา อย่างนั้นไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเวลาที่สนทนาธรรมหรือฟังธรรมก็คือว่า มีธรรม เรื่องธรรมให้เราได้เข้าใจธรรม แต่ไม่ใช่ไปถามให้ใครตัดสิน ถ้าถามให้ใครตัดสินคือเราไม่ได้ฟังธรรมด้วยความเข้าใจของเราเอง แต่ต้องพึ่งคนอื่นตลอดไป ถ้าเขาบอกว่าใช่ ถ้าเขาบอกว่าไม่ใช่ แล้วความจริงเป็นอะไรกันแน่ใช่ไหม หรือคนนี้บอกว่าใช่ คนนั้นบอกว่าไม่ใช่ แล้วความจริงเป็นอะไรกัน ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ใช่ปัญญาของเราเอง ไม่ตรงตามพระประสงค์ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่อที่จะถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะทรงแสดงพระธรรมให้ผู้อื่นเกิดปัญญาของตนเอง เมื่อได้ฟังพระธรรมเข้าใจ เพราะฉะนั้นนี่ขันธ์คือตัวอย่างให้รู้ว่าสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง แล้วเราคิดว่าเราจำได้แล้ว เราเข้าใจแล้วโดยคำ แต่จริงๆ เรารู้ลักษณะของขันธ์หรือเปล่า และจะรู้ได้อย่างไร นี่เป็นประโยชน์กว่า
ที่มา ...