ลักษณะของสภาพธรรมปรากฏกับสติ
ผู้ถาม สติสัมปชัญญะที่รู้ตามความเป็นจริงโดยการฟัง หรือการศึกษา ถึงแม้จะเป็นนิมิตอนุพยัญชนะก็ยังช่วยได้ในระดับหนึ่ง ตรงนี้อาจารย์ช่วยขยายความ
อีกเรื่องหนึ่งคือ อย่างไรสติสัมปชัญญะจะระลึกการลดละการที่เป็นสักกายทิฏฐิหรือ"อัตตวาทุปาทาน" ถ้าไม่ได้ศึกษาหรือไม่ฟังจะรู้ไม่ได้เลยสิ่งที่กำลังปรากฏ ขอคำขยายความตรงนี้
สุ. ไม่ได้ห้ามเลยว่าไม่ให้ใช้พยัญชนะ มิฉะนั้นก็ไม่มีการพูด การกล่าวธรรมใช่ไหม ก็ต้องเข้าใจว่าต้องมีคำ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษาด้วยประการทั้งปวง แม้แต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมโดยนัยของขันธ์ โดยนัยของอายตนะ โดยนัยของธาตุ โดยนัยปัจจัย โดยนัยปฏิจจสมุปบาท ทั้งหมดเพื่อเกื้อกูลให้ผู้ที่ฟังเข้าใจความเป็นอนัตตาของสิ่งที่มี และก็กำลังปรากฏ ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมด้วยสติสัมปชัญญะ ก็หมายความว่าความต่างของสติขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นฟังธรรม ขั้นสมถะ จะต่างกับขณะที่กำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งขณะนี้มีลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่กว่าความเข้าใจจะเกิด และก็เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏได้ต้องอดทน และไม่หวั่นไหว เพราะเหตุว่ามีแน่นอน และก็จะเห็นได้ว่าปัญญาของแต่ละคนที่สะสมมา สะสมที่จะเข้าใจระดับไหน เข้าใจเรื่องราวถูกต้อง แต่ว่าสติสัมปชัญญะไม่ได้เกิดที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้แต่กิจหน้าที่ของสติ เป็นสภาพที่ใช้พยัญชนะว่าระลึกรู้ ถ้าไม่ใช้จะรู้ได้ยังไงว่าสติต่างกับศรัทธา ต่างกับหิริ ต่างกับโอตตัปปะ แต่ว่าที่ใช้คำว่า " เป็นสภาพที่ระลึกรู้ " ไม่ใช่เจตนา ไม่ใช่สัญญา ไม่ใช่เจตสิกอื่น ก็เพราะเหตุว่าเวลาที่สติเกิด ทำกิจรู้ที่ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งปกติมีแล้วขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตามี เสียงมี แข็งมี คิดมี ทุกอย่างมี แต่ว่าสติสัมปชัญญะไม่ได้รู้ตรงลักษณะ เพราะฉะนั้นจึงใช้พยัญชนะว่า ระลึก เพราะว่าสิ่งนี้มีเกิดแล้วๆ ก็รู้ลักษณะ แต่ทีนี้ถ้าคนที่ติดพยัญชนะก็คิดว่าภาษาไทยเรา เวลาที่ระลึก เราระลึกนานใช่ไหม ลองระลึกถึงอดีตสิ หลายคำไหม เรื่องราวต่างๆ ยาวทีเดียวใช่ไหม นั่นคือระลึก แต่เวลาที่สติเกิดทำกิจระลึกรู้ ไม่ต้องไปคิดถึงคำว่าสติเกิดระลึกรู้ เพราะขณะนั้นลักษณะของสภาพธรรมปรากฏกับสติที่เกิด และรู้ตรงลักษณะนั้น นี่เป็นการที่จะรู้ความต่างของการเพียงจำคำ และก็เข้าใจความหมายของคำ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นทำกิจ ไม่มีใครต้องไปบอกไปย้ำว่าสติเกิดระลึกเพราะว่าสติระลึกตรงนั้นใช่ไหม ไม่ต้องบอกว่าทำกิจด้วย หรือไม่ได้เกิดแล้วก็ระลึกรู้ เพราะว่ากำลังรู้ตรงนั้นแล้ว เพราะว่าสติเกิดก็ทำกิจหน้าที่ของสติที่รู้ตรงลักษณะสภาพธรรมซึ่งถ้าฟังด้วยดี ด้วยความเข้าใจที่ละเอียด ก็จะไม่ลืมที่ว่าจิตเป็นสภาพที่เกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ และก็เมื่อจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะก็จะรู้ลักษณะของอารมณ์หรือว่าจะรู้อารมณ์คือสิ่งที่จิตกำลังรู้ทีละอย่าง รู้หลายอย่างไม่ได้
เพราะฉะนั้นในขณะที่แข็งปรากฏ ขณะนี้ทุกคนพิสูจน์ได้ ขณะที่แข็งปรากฏ ถ้าเป็นปัญญาที่สมบูรณ์จะไม่มีอะไรเหลือเลย โลกนี้ทั้งหมดว่างเปล่า มีแต่ธาตุรู้ซึ่งกำลังรู้แข็งนั่นคือระดับของปัญญาที่สามารถจะเห็นความจริงว่าขณะนั้นไม่มีเราเลย เพราะเหตุว่ามีแต่ธาตุรู้ซึ่งกำลังรู้ลักษณะที่แข็งที่กำลังปรากฏ และโดยการศึกษาเราจะทราบว่าขณะนั้นจะมีเจตสิกอะไรบ้างที่เป็นโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยทำกิจการงานในขณะนั้น นั่นคือขั้นศึกษา แต่ที่จะรู้ว่าสติเกิดหรือหลงลืมสติก็คือว่าแม้มีลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ปรากฏแต่ละทาง เช่นทางตาในขณะนี้ก็มีสภาพธรรมอย่างหนึ่งต่างกับทางอื่นกำลังปรากฏ ทางหูก็มีสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งต่างกับทางอื่น ทางหูเป็นเสียงที่กำลังปรากฏใช้คำนี้แต่ไม่ต้องนึกถึงคำว่าเสียงเลย เวลาที่กำลังได้ยินจะได้ยินอื่นไม่ได้นอกจากสภาพธรรมนั้น
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้จริงๆ ว่าการฟังต้องเป็นความละเอียดที่จะรู้ว่าผู้ที่มีปัญญาที่ได้อบรมแล้วจะรู้อย่างไร และผู้ที่กำลังอบรมเจริญปัญญาก็ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ อบรมด้วยความมั่นคง แล้ววันหนึ่งก็สามารถที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่าสภาพธรรมเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมแม้แต่ท่านพระสารีบุตร ท่านก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าการที่ท่านเชื่อในอริยสัจจ์ ๔ ไม่ใช่เชื่อตามพระผู้มีพระภาค แต่เพราะเหตุว่าท่านได้ประจักษ์ลักษณะนั้นด้วยตัวเอง แล้วอย่างไหนจะถูกต้อง เชื่อตาม แต่ไม่ใช่ความคิดของตัวเอง ความเข้าใจของตัวเอง กับการที่สามารถที่จะรู้จริงๆ ว่าสภาพธรรมเป็นอย่างนั้นตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แต่ความเชื่อที่มั่นคงของท่านมาจากปัญญาของท่านเองซึ่งประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง นี่คือการที่จะรู้ความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด กับสติสัมปชัญญะไม่เกิดที่เป็นหลงลืมสติ
ที่มา ...