ศึกษาจากหลายอาจารย์ดีไหม


    ผู้ถาม ตรงนี้แหละครับ ท่านอาจารย์ช่วยบรรยายว่าระหว่างสมมุติบัญญัติ และก็ปรมัตถธรรมไม่ให้เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน

    สุ. อย่าไปคิดว่าไม่ให้เป็นดีกว่า ค่อยๆ เข้าใจ ความค่อยๆ เข้าใจนั้นจะทำให้รู้ว่าไม่มีตัวตน แต่ถ้าจะไปทำก็คือผิดแล้ว เราอยู่ที่นั่น ลึกมาก

    อ.วิชัย ลักษณะของปัญญาคือโดยสภาพเป็นสภาพที่รู้ตามความเป็นจริงว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ถ้าโดยลักษณะของโมหะเป็นลักษณะที่ปกปิดไม่ให้รู้ ขณะนั้นก็เป็นวิปลาสด้วย ดังนั้นลักษณะของโมหะจะเกื้อกูลต่อการที่จะเห็นว่า เที่ยง เป็นสุข และก็เป็นอัตตา

    สุ. เห็นอยู่แล้วใช่ไหม

    อ.วิชัย โดยลักษณะของโมหะคือเขาไม่ให้รู้

    สุ. ไม่ให้รู้ความจริง

    อ.วิชัย คือเขาจะเกื้อกูลให้เห็นผิดไปจากความเป็นจริงด้วยหรือเปล่า

    สุ. เพราะไม่รู้จึงติดข้อง เมื่อติดข้องจึงมีความเห็นต่างๆ ความเห็นต่างๆ มาจากความติดข้อง ถ้าไม่ติดข้องในความเห็นนั้น ความเห็นนั้นก็ไม่เกิด หรือว่าถ้าไม่ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็มีแต่ความไม่รู้ ยังไงๆ พื้นของความอกุศลก็คือ ความไม่รู้

    อ.วิชัย แต่ก็ต้องมีโมหะเพื่อปกปิด

    สุ. โมหะคือความไม่รู้

    ผู้ถาม เข้าใจว่าเพราะไม่รู้ มันก็ปกปิด วิธีโน้นไปเรียนจากอาจารย์นี้ วิธีนี้อีกอาจารย์ แล้วก็ผสมผเส เลยเห็นผิดไปเลย อาจารย์ช่วยขยายความตรงนี้ด้วย

    สุ. ก็เป็นเรื่องจริง ซึ่งท่านผู้หนึ่งท่านก็ฟังรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา แล้วท่านก็ไปปฏิบัติที่สำนักปฏิบัติ พอกลับมาท่านบอก ท่านเข้าใจ สิ่งที่ได้ฟังมากขึ้น เวลาที่ได้ฟังอะไรแล้ว ควรจะพิจารณาต่อไปด้วย เมื่อกี้ฟังแล้วเหมือนจบ แล้วก็มีใครพิจารณาว่าถูกผิดประการใดอย่างไรหรือเปล่า ในคำพูด ในความคิด ผู้นั้นเป็นผู้ที่ได้ ไม่ใช่เป็นผู้ที่ละ นี่ผิดหรือถูก ไปเพื่อที่จะได้ และก็กลับมาก็ยังได้อีก อะไรละไม่มีเลย เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าตรงหรือเปล่า แล้วก็สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้ในขั้นการฟัง เพื่อที่จะได้รู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ใครหนีพ้นถ้ามีจักขุปสาท ไม่ว่าจะในนรก สวรรค์ มนุษย์โลกไหนก็ตามแต่ต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตากับจิตเห็น และมีความรู้มีความเข้าใจแม้ขั้นการฟัง ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง มีจริงๆ กำลังปรากฏ แล้วต่อจากนั้นก็จึงคิดเรื่องราวต่างๆ มากมายติดตามมา หรือแม้แต่ในขณะนี้ เห็นจริง แต่ไม่ได้คิดเรื่องนี้เพราะกำลังฟัง และก็กำลังคิดเรื่องที่ฟังทั้งๆ ที่จิตเห็นก็เห็น และก็มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่มีจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าไปเข้าใจว่าไปปฏิบัติแล้วได้ผล แล้วก็ยิ่งฟังก็ยิ่งเข้าใจ แต่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแล้วละคลายความไม่รู้หรือเปล่า เพราะว่าสภาพธรรมในขณะนี้ ผู้ที่ตรัสรู้แล้วทรงแสดง ซึ่งเปลี่ยนไม่ได้เลย เพราะว่าเป็นการประจักษ์ชัด ไม่ใช่เป็นการประมวลด้วยการคิดตรึก ว่าขณะนี้สภาพธรรมใดเกิด สภาพธรรมนั้นดับ ไม่มีสักสภาพธรรมเดียวซึ่งเกิดแล้วไม่ดับ แล้วสภาพธรรมที่จะเกิดโดยพยัญชนะท่านก็อาจจะใช้ภาษาบาลีหลายอย่าง แต่หมายความว่าขณะที่เกิด ถ้าไม่มี ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏคือขณะที่ตั้งอยู่ก็มีไม่ได้ ใช่ไหม และเมื่อขณะนี้ตั้งอยู่แล้ว ที่จะไม่ดับนี่ไม่มี นี่ก็แสดงให้เห็นว่าผู้รู้ท่านรู้จริง และก็ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงด้วย เป็นปกติ แม้แต่คำว่า “เป็นปกติ” ก็ต้องคิดต้องพิจารณา เพราะบางคนก็ถามอีกเหมือนกันว่าเป็นปกติ เป็นยังไง เดี๋ยวนี้แหละปกติจริงๆ พอนึกจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นเป็นปกติหรือเปล่า หรือว่าปกติมีเหตุปัจจัยเกิด คิดก็คิด มีเหตุปัจจัยเกิดชอบก็ชอบ มีเหตุปัจจัยเกิดโกรธก็โกรธ นี่คือปกติของสภาพธรรมที่มีเหตุปัจจัยแล้วเกิด แล้วก็รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่พอมีความเป็นตัวตนที่จะทำ ผิดปกติ ไม่ใช่เป็นไปตามปกติของเหตุปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิด และเป็นไปอย่างนี้ เป็นปกติอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจะไม่มีการที่จะเข้าใจถึงการสะสมของเหตุปัจจัยที่จะทำให้แม้คิดก็ต้องตามการสะสม ว่าจะคิดถึงเรื่องอะไร

    ในการสนทนาก็มีคำถามอีกคำถามหนึ่ง ท่านผู้ถามก็ถามว่า แล้วขณะที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจะรู้"กรรม"ได้อย่างไร เพราะว่าปัญญาขั้นแรกก็คือขั้นที่รู้เรื่องกรรม และผลของกรรม มีความเข้าใจมั่นคง มีศรัทธาในกรรม และผลของกรรม เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้ จะรู้ว่าเป็นผลของกรรมได้อย่างไร จะรู้กัมมปัจจัยได้อย่างไรว่าขณะนี้ที่กำลังเห็นต้องมีกัมมปัจจัยที่ทำให้เห็นขณะนี้เกิดขึ้น ท่านถามอย่างนี้เพราะว่าท่านต้องการที่จะรู้ว่าเวลาที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม จะเข้าถึงความเป็นกัมมปัจจัยได้อย่างไร

    ก็ถามท่านว่าขณะนี้มี"ขันธ์"ไหม ยังไม่ต้องไปถึงกรรม เพียงแค่ "ขันธ์" ตอนต้นๆ ก็ได้ยินคำว่า “ปรมัตถธรรม”ใช่ไหม ได้แก่จิต เจตสิก รูป นิพพาน และก็ทรงแสดงความเป็นขันธ์ของปรมัตถธรรมว่า ขันธ์ได้แก่ จิต เจตสิก รูป คือเวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลืออีก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ วิญญาณคือจิตเป็นวิญญาณขันธ์ ส่วนรูปก็เป็นรูปขันธ์ ก็ถามท่านว่าขณะนี้มีขันธ์ไหม ท่านก็บอกว่า มี ทุกคนตอบได้ใช่ไหม (มี) แล้วรู้ได้อย่างไรว่าเป็นขันธ์ ไม่ใช่เพียงแต่บอกว่ามีแล้วปัญญาอยู่ที่ไหน ปัญญาจริงๆ ที่จะรู้ว่านี่เป็นขันธ์หรือความหมายของขันธ์ ไม่ใช่ตามตำราว่าขันธ์ก็จะต้องประกอบลักษณะ ๔ อย่าง อดีต อนาคต ปัจจุบัน ไกล ใกล้ หยาบ ละเอียด ภายใน ภายนอก เลว ประณีต นี่คือ จำ จากผู้ที่รู้ขันธ์ เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่ถามเอง เข้าใจความหมายของขันธ์ที่จะตอบว่ามีขันธ์ได้อย่างไร ที่จะกล่าวคำนี้ว่ามีขันธ์ รู้ได้อย่างไรว่ามี ถ้าไม่เข้าใจก็ตอบไม่ได้ ใช่ไหม ก็นี่เป็นเรื่องของความรู้ที่จะต้อง หมายความว่าไม่ใช่จำชื่อแต่ต้องเข้าใจจริงๆ ในความหมายของการที่ได้อ่านได้ฟัง และก็ได้เข้าใจแล้ว และก็ยังรู้ด้วยว่าวิธีหรือหนทางที่จะกล่าวด้วยตัวเอง ที่ปัญญาของตัวเองว่าเป็นขันธ์ อย่างไรจึงทำให้สามารถที่จะทำให้รู้ได้ว่าเป็นขันธ์ ไม่ใช่เรา นี่ก็เป็นเรื่องของความคิดที่ละเอียดทีละเล็กทีละน้อยซึ่งจะทำให้เรารู้ตัวเองตามความเป็นจริงว่าเราเรียน เราไปพยายามหาความที่ได้ยินได้ฟังคำอะไรมาก็อยากจะรู้ อยากจะเข้าใจ แต่เพียงจำ ท่านผู้นี้ก็ยังไม่พอ ท่านก็ขอให้คนอื่นตอบบ้าง เพราะอะไร จะได้ฟังดูว่าคำตอบของคนอื่นเหมือนของท่านหรือเปล่า นี่ก็ไม่ใช่เรื่องความเข้าใจแล้ว แต่เป็นเรื่องจะจำว่าใครจำได้มากกว่ากัน คนนี้อาจจะจำบรรทัดนี้ตอบอย่างนี้ คนนั้นอาจจะจำบรรทัดนั้น ตอบอย่างนั้นแต่ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องความเข้าใจของผู้ตอบเอง ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่อย่างนี้ แต่ว่าการศึกษาธรรมไม่ใช่เพื่อใคร ไม่ใช่เพื่ออะไร แต่เพื่อความเข้าใจสิ่งที่มีซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน และก็ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงแสดงธรรม ไม่มีใครสามารถจะรู้ความจริงได้เลย เพราะฉะนั้นก็เป็นการสะสมของแต่ละท่านที่ได้สะสมมาแล้ว ที่ได้เคยฟัง แต่ก็จะต้องรู้ว่าฟังพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นความละเอียดยิ่ง และต้องเป็นความรู้ความเข้าใจของเราเอง แล้วก็ไม่ท้อถอยด้วย


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 179


    หมายเลข 10044
    3 ก.ย. 2567