ฟังเพื่อดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา


    ผู้ถาม ถ้าเราไม่สามารถที่จะเข้าใจปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งหรือทุกๆ ปัจจัยได้ทั้งหมด มันยังเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งได้อยู่

    สุ. ก็ต้องทราบว่าสังขารขันธ์ได้แก่อะไร ทุกครั้งที่จะกล่าวถึงคำไหน ไม่ใช่กล่าวลอยๆ แต่ต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ ว่านามธรรมก็ได้แก่จิต และเจตสิก รูปธรรมเป็นสังขารขันธ์หรือเปล่า

    ผู้ถาม ไม่ใช่

    สุ. ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น จิต เป็นสังขารขันธ์หรือเปล่า

    ผู้ถาม ไม่ใช่

    สุ. อะไรเป็นสังขารขันธ์

    ผู้ถาม เจตสิกที่เหลือ

    สุ. เจตสิก ๕๐ ประเภท เว้น เวทนาเจตสิกกับสัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้นปัญญาเป็นสังขารขันธ์หรือเปล่า

    ผู้ถาม เป็น

    สุ. ถ้ามีความเข้าใจเกิดขึ้น จิตที่มีความเข้าใจเกิดร่วมด้วย ดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้ความเข้าใจนั้นไม่ได้หนีหายไปเลย ไม่ได้สูญหายไปไหน สะสมสืบต่อในจิตขณะต่อไป เพราะฉะนั้นเวลาที่ฟังอีก ความเข้าใจที่ฟังครั้งหลังๆ ก็จึงเพิ่มขึ้นจากความเข้าใจครั้งแรก ด้วยเหตุนี้เมื่อปัญญาเจตสิกเป็นสังขารขันธ์ ที่สะสมไว้ก็ปรุงแต่งทำให้มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อ เพราะเหตุว่าเราศึกษาธรรม เราจะทราบได้ว่า เรารู้จักชื่อ รู้จักเรื่องของธรรม แต่เราไม่ได้รู้จักตัวจริงของธรรม อวิชชาอยู่ที่ไหน อยู่ที่ไม่เห็นถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่สามารถที่จะเห็นได้ ว่าสิ่งที่เราพอใจในขณะนี้คืออะไร เป็นรูปธรรม ที่เป็นอัสสาทะ คือ แช่มชื่นทำให้เกิดโสมนัส เราก็ไม่รู้เลยแต่เราก็มีความติดข้องในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ไม่ใช่ว่าเราต้องไปรู้ชื่อ ว่านี่เรียกว่าอะไร นั่นเรียกว่าอะไร แต่มีความเข้าใจถูกต้อง ว่าขณะนี้ เราฟังธรรม เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีตั้งแต่เกิด โดยไม่รู้ ไม่สามารถจะรู้ได้ถ้าไม่ฟัง แต่ว่าพอฟังแล้วเริ่มมีความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีแล้ว และกำลังมีในขณะนี้ และจะมีต่อไป นี่คือสังขารขันธ์ที่จะสืบต่อไป แล้วก็ทำให้เราสามารถที่จะรู้ความต่างของปัญญาระดับที่เพียงฟัง สามารถที่จะอ่านออก แปลได้ แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ตรงตามที่ได้ทรงแสดง เพราะว่าอาจจะมีความเข้าใจในพยัญชนะที่อาจจะมีความหมายไม่ตรงกับสภาพธรรมได้ เพราะเหตุว่า คำหนึ่งๆ ก็มีความหมายหลายอย่าง แล้วแต่ว่าความเข้าใจจะตรงกับความหมายของสภาพธรรมหรือไม่ เพราะฉะนั้น ก็ให้ทราบได้ ว่าอวิชชาไม่ได้ไกลไปไหนเลยไม่ได้ไกลตัว ทำไมเรามีอกุศลมากมายโดยไม่รู้ตัวด้วย เพราะไม่รู้ ก็ไม่รู้ และก็ไม่รู้ต่อไปเรื่อยๆ ก็เต็มไปด้วยความไม่รู้นั่นเอง แต่เมื่อฟังแล้ว ก็เริ่มมีความเข้าใจขั้นการฟังจากการที่ไม่เคยฟังมาก่อน แต่อวิชชาก็มีตราบใดที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นต้องรู้จุดประสงค์ การฟังแต่ละชาติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม ตรง ตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่เรา ทั้งหมด เพื่อดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา กำลังคิด เป็นเราหรือเปล่า

    ผู้ถาม เป็น

    สุ. ปรมัตถธรรม มีอะไรบ้าง

    ผู้ถาม จิต เจตสิก รูป นิพพาน

    สุ. เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังคิด เป็นอะไร

    ผู้ถาม กำลังคิด ก็เป็นตัวเราคิด

    สุ. ปรมัตถธรรม มีอะไรบ้าง

    ผู้ถาม จิต เจตสิก รูป นิพพาน

    สุ. นอกจากปรมัตถธรรม มีอะไรอีกไหม มีเราอีกต่างหากหรือเปล่า

    ไม่มีใช่ไหม เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังคิด อะไรคิด

    ผู้ถาม จิต

    สุ. จิต เจตสิก ต้องค่อยๆ เข้าใจ จนกว่าจะสามารถรู้ลักษณะของจิต เพราะเวลานี้พูดเรื่องจิตทั้งๆ ที่จิตก็กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดเกิดดับ แต่ว่าไม่รู้ลักษณะของจิตเหล่านั้นเลย เพราะฉะนั้น ฟัง จนกว่าสังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้ปัญญาอีกขั้นหนึ่งเกิดพร้อมสติสัมปชัญญะ ไม่ต้องกลัวสติสัมปชัญญะ ไม่ต้องคิดว่าอีกนานแสนนานเราจะมีสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย การฟังขณะใด ค่อยๆ สะสม ถ้าเข้าใจลักษณะของสติสัมปชัญญะแล้ว ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้สติสัมปชัญญะเกิดได้ แต่ถ้าไม่เข้าใจสติสัมปชัญญะ แล้วจะไปทำให้สติสัมปชัญญะเกิดนี่เป็นไปไม่ได้เลย เมื่อสติสัมปชัญญะเกิด ก็คือไม่ใช่เราอีก ใช่ไหม ใช้ชื่อตรงเลย สติสัมปชัญญะ แล้วจะมาเป็นเราได้ยังไง ทั้งหมด คือให้รู้ความจริงว่าเป็นธรรม จนกว่าจะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนหรือเป็นเราได้


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 180


    หมายเลข 10158
    3 ก.ย. 2567