เพราะไม่รู้ความจริงว่าสิ่งนั้นเกิดแล้วดับ
ผู้ถาม จากการศึกษา และจากการฟังพระธรรม ทำให้เราพอจะทราบได้ว่าลักษณะจิตประเภทนี้ที่เกิดกับเราในขณะนี้เป็นอกุศลจิต แต่ว่ามันก็ยังไม่ใช่ลักษณะของปรมัตถธรรมที่แท้จริง
สุ. เพราะเป็นการคิดนึกเรื่องสิ่งที่มีที่กำลังปรากฏ เช่น ขณะนี้ก็คิด จิตกำลังเห็น คือคิดแล้ว จิตกำลังเห็น แต่ไม่ได้รู้ลักษณะที่เห็น สภาพเห็นซึ่งเป็นธาตุรู้ ธาตุเห็น ไม่ได้รู้ลักษณะนั้นเลย เพราะฉะนั้นการฟังด้วยดี ก็จะทำให้เข้าใจจริงๆ ว่าถ้าไม่มีความรู้ขั้นฟังเป็นขั้นต้นอย่างถูกต้อง การที่สติสัมปชัญญะจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นจะฟังยังไงก็ตาม ควรที่จะได้เข้าใจลักษณะของสติสัมปชัญญะ มิฉะนั้นแล้วการเรียนของเราทั้งหมดจะเป็นการจำเพียงชื่อไปทุกชาติเลย และการจำชื่อก็เหมือนกับการศึกษาเรื่องใดๆ ก็เป็นแต่ชื่อเท่านั้น ทุกอย่างวิชาการอื่นทั้งหมดเป็นบัญญัติ เป็นเรื่องราว เป็นชื่อเพราะเหตุว่าไม่ใช่การรู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ที่เกิดดับที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นทุกคนก็เห็นว่าเราชอบอะไรใช่ไหม เมื่อกี้ก็รับประทานขนมอร่อยๆ แต่ไม่รู้ว่าขณะนั้นเกิดดับ อาทีนวะก็คือโทษของทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิด โทษของกามที่เราพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะไม่รู้ความจริง ว่าสิ่งนั้นเกิดแล้วดับ
เมื่อวานนี้ก็ได้พูดถึงเรื่องที่ค่อยๆ ไตร่ตรองว่าสภาพธรรมเกิดดับ จริงไหม มีปัจจัยเกิดแล้วต้องดับ ที่เกิดแล้วไม่ดับไม่มี ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม สภาพธรรมนั้น ที่เกิดแล้วดับ จริงไหม (จริง) เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่ไม่ปรากฏแต่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดไหม (เกิด) ดับไหม (ดับ) ไม่ปรากฏ แล้วสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดปรากฏแล้วดับไหม ทั้งสองอย่างนี้จะต่างกันยังไง สิ่งที่ไม่ปรากฏแต่เกิดดับ ก็ไม่เป็นที่ตั้งของความติดข้อง แต่สิ่งใดก็ตามที่เกิดปรากฏเป็นที่ตั้งของความติดข้อง แล้วเราจะเห็นไหมว่าเสมอกัน ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สิ่งที่ไม่ปรากฏมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น การเกิดแล้วก็ไม่รู้ความจริงมีโทษแค่ไหน ทำให้ติดข้องตลอดไปในสังสารวัฏฏ์ กว่าจะรู้ความจริงที่จะละ เพราะไม่มีใครสามารถที่จะละโดยไม่รู้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่เราละ ไม่มีเรา เป็นธาตุหรือเป็นธรรม คือจิต เจตสิก ที่เป็นนามธรรม จึงสามารถที่จะเห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจากขั้นการฟัง การเข้าใจ และการที่สติสัมปชัญญะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม
ที่มา ...