ความลังเลสงสัย
คุณอุไรวรรณ การสงสัยในคำสอนของศาสนาพุทธเรื่องขันธ์ ธาตุ อายตนะในอดีตชาติมีจริงไหม อภิญญาจิตมีจริงหรือไม่ ไม่เชื่อ และก็มีอคติในเรื่องที่ว่าทำดีก็ไม่ได้ดี อันนี้แหละสงสัยว่าจัดเป็นอุเบกขาเวทนาหรือ
อ.อรรณพ ในขณะที่ลังเลสงสัยจริงๆ เป็นวิจิกิจฉา เป็นโมหะมูลจิต ขณะนั้นประกอบกับอุเบกขาเวทนา ในขณะที่อกุศลประเภทอื่น อย่างเช่น ความเดือดร้อน โทสะ ธรรมะเป็นเรื่องที่เขาไม่เชื่อว่ามีจริงด้วยความลังเลสงสัย ซึ่งดับไปแล้วนั้นก็เป็นได้ แล้วก็มีความไม่พอใจว่า เอ๊ะ พระธรรมเป็นเรื่องไม่จริงหรืออย่างไร หรือสลับกับความอยากรู้ที่เป็นโลภะก็มี เพราะฉะนั้นความเดือดร้อนขุ่นเคืองในเรื่องของพระธรรมอันเนื่องมาจากความเห็นผิดบ้าง ความลังเลสงสัยบ้าง ขณะนั้นก็เป็นโทสะ เมื่อเราไม่เข้าใจสภาพธรรมะตามความเป็นจริงแต่ละขณะก็ปะปนกัน ดูเหมือนว่าในขณะที่ลังเลสงสัยไม่น่าจะเป็นเวทนาที่เป็นอุเบกขา แต่จริงๆ แล้วในขณะที่เดือดร้อนรำคาญใจ ไม่เข้าใจ และก็ไม่ศรัทธา มีแต่ความไม่ชอบใจ ขณะนั้นก็ต้องเป็นโทสะ
อ.วิชัย ความสงสัยเกี่ยวกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือถ้าเป็นยุคนี้ไม่มีโอกาสที่จะเข้าเฝ้าฟังพระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า การที่จะละความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เขาจะอย่างนี้ไหม การที่จะมีอบรมปัญญาที่จะเข้าใจสภาพธรรมะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง
สุ. ถ้าได้ฟังน้อยก็จะรู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าน้อย แต่ว่าเริ่มเห็นเมื่อได้ฟัง แม้เพียงคำว่า “ธรรมะ” มีใครที่จะแสดงความเป็นธาตุ ความเป็นธรรมะ เพราะว่าแต่ละคนเกิดมาก็เป็นเรา เป็นตัวตนตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย นานแสนนานก็ไม่รู้ว่าความจริงไม่มีเรา สิ่งที่ยึดถือว่าเป็นเราเป็นธรรมะ เพียงเท่านี้เห็นความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม แล้วยิ่งฟังต่อไปยิ่งมีความเข้าใจต่อไปถึงท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ก็รู้ได้เลยว่า ทั้งหนทางที่ทรงแสดง ทั้งการประจักษ์แจ้งของตนเอง ก็หมดความสงสัยในความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าได้ประจักษ์สภาพธรรมะที่ทรงแสดง
อ.วิชัย ฉะนั้นถ้าแม้บุคคลบางคนเห็นพระรูปแต่ไม่เข้าใจธรรมะก็ไม่ชื่อว่าละคลายความสงสัย
สุ. แม้จะติดตามพระองค์ไปเบื้องหลัง พระปฤษฎางค์ก็ไม่ได้คิดว่าพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ธรรมะ คิดว่าพระธรรมที่ทรงแสดงจากการตรึกตรองของพระองค์เท่านั้น
อ.วิชัย เช่นสุนัขขัตลิจฉวี
สุ. ถูกต้อง
อ.กุลวิไล พระวินัยจะช่วยละความสงสัยอย่างไร
สุ. พระธรรมที่ได้ฟัง และก็มีความเข้าใจในความไม่ใช่ตัวตนสามารถที่จะเข้าใจถูกต้องว่ากุศลเป็นธรรมะที่ดี อกุศลเป็นธรรมะที่ไม่ดี ถ้าปัญญาเห็นถูกอย่างนี้จะเจริญกุศลขึ้น แล้วก็ค่อยๆ ละคลายอกุศลหรือเปล่า นี่ก็เป็นเรื่องของการกำจัดกิเลสซึ่งตามพระวินัยก็เป็นการกำจัดเรื่องของความประพฤติไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมทางกาย ทางวาจา สำหรับภิกษุ แต่สำหรับแต่ละคน ไม่ได้หมายความว่าเมื่อไม่ใช่ภิกษุแล้วก็ไม่ควรที่จะประพฤติทางกาย ทางวาจาให้เหมาะสม แต่การที่จะประพฤติทางกาย ทางวาจาให้เหมาะสม ก็สืบเนื่องมาจากการที่เข้าใจพระธรรมยิ่งขึ้น ถ้าใครเข้าใจพระธรรมแล้วก็ยังไม่มีการขัดเกลาทางกาย และทางวาจา ก็พอที่จะเห็นการปรุงแต่งของสังขารขันธ์ ซึ่งผู้นั้นมีความเข้าใจเรื่องราวของธรรมะ แต่ว่าถ้าเข้าใจจริงๆ ปัญญาขณะนั้นก็จะต้องรู้ว่ากุศลทุกประการทั้งทางกาย วาจา ใจ เป็นสิ่งที่จะต้องอบรมให้ยิ่งขึ้น
ที่มา ...