ต้องถึงความไม่ใช่เราจึงจะเป็นสติสัมปชัญญะ


    ผู้ถาม แล้วนามธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะอกุศลจิต มันเป็นส่วนที่หยาบมากซึ่งเราแม้สติไม่เกิดก็สามารถที่จะระลึกได้ ก็เลยมีความรู้สึกว่าสติระลึกรูปธรรม และนามธรรมคงไม่ใช่ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นลักษณะของอกุศลจิตที่เรารู้ในชีวิตประจำวันใช่ไหม

    สุ. แน่นอน ถ้าถามว่าขณะนี้ทุกคนเห็นไหม ตอบว่าไงคะ

    ผู้ถาม เห็น

    สุ. แต่ไม่รู้ว่าเห็นไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นเวลาที่เกิดโกรธ ถ้าถามว่ารู้ไหมว่าโกรธ ก็ตอบว่ารู้ แต่ไม่รู้ว่าโกรธไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นมีสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ แต่อวิชชาไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นได้ ไม่ใช่พอเรารู้ว่าโกรธเป็นยังไงแล้วขณะนั้นจะเป็นสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่ เป็นธรรมดาที่ถามว่าเห็นขณะนี้เป็นเห็นไหม ก็ตอบว่าเห็น ได้ยินไหม ก็ตอบว่าได้ยิน โกรธไหม ก็ตอบว่าโกรธ ก็คือว่ามีลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ปรากฏอยู่ตามเหตุตามปัจจัย แต่ละวันเกิดแล้วก็หมดไป เกิดแล้วก็หมดไปอย่างเร็วมากโดยไม่รู้ ถ้าถามก็บอกว่ารู้แต่ไม่ใช่สติสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้นต้องมีการฟังก่อนแล้วก็ต้องมีความเข้าใจจริงๆ การศึกษาธรรมถ้าจะบรรลุผลก็ต้องไม่มีเครื่องเนิ่นช้าคือโลภะที่ใช้คำว่า ตัณหา” “มานะ” “ทิฏฐิ” ถ้ามีโลภะ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เครื่องเนินช้าจริงๆ เพราะเหตุว่าเราอาจจะมีความพอใจในสิ่งอื่นซึ่งไม่ใช่การเข้าใจพระธรรม แล้วก็คิดว่าสิ่งนั้นมีประโยชน์มากในชีวิตของเรา เพราะไม่เห็นประโยชน์ว่าสิ่งที่มีประโยชน์ในชีวิตเหนือสิ่งอื่นใดคือความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริง ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญาจะเข้าใจอะไร และถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีปัญญาจะไม่เข้าใจอะไร
    ถ้าเราไม่ศึกษาธรรม เราก็อาจจะบอกว่าคนนั้นไม่มีปัญญาเพราะว่าไม่ได้เรียนหนังสือสูงๆ ไม่ได้จบปริญญา ก็อาจจะคิดว่าอย่างนั้น แล้วคนที่มีปัญญาก็ต้องสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ที่คนอื่นไม่สามารถจะทำได้ เช่นในยุคนี้สมัยนี้ นั่นคือความเห็นของคนที่ไม่รู้ว่าธรรมคืออะไร และความจริงคืออะไร แต่ถ้าเป็นผู้ที่รู้ก็จะรู้ได้เลยว่าปัญญาคือความเข้าใจถูก ความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง แต่ถ้าขณะใดที่ไม่เข้าใจ ขณะนั้นจะกล่าวว่าปัญญาก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่พอรู้ว่าโลภะกำลังชอบ และก็เป็นสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่ ก็เป็นธรรมดา โกรธรู้ว่าโกรธก็เป็นธรรมดา


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 190


    หมายเลข 10367
    3 ก.ย. 2567