อวิชชาความไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ


    ผู้ถาม ขณะที่เราศึกษาแล้ว และเราก็มีแต่เรื่องราวในชีวิตประจำวันของเราทุกวันๆ ซึ่งก็หลีกหลี่ยงไม่ได้

    สุ. ไม่ได้ให้หลีกเลี่ยงเลย แต่ดูว่าขณะที่เป็นเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น น่าตกใจ หรือว่าน่ายินดี ถ้าไม่มีจิต เจตสิก เกิดขึ้น เรื่องราวต่างๆ นั้นก็ไม่มี เพราะฉะนั้นต้องรู้ตามความเป็นจริง เรื่องของโลกทั้งหมดจะกี่ชาติก็ตาม เพราะมีจิต เจตสิกที่กำลังรู้ทีละทวาร และก็ทีละประเภท และก็รวมกันเป็นเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังมีเรื่องราวอยู่ มีความเป็นเรา มีความเป็นสัตว์ มีความเป็นบุคคล มีความไม่รู้ ก็ไม่สามารถที่จะละการติดข้องในเรื่องราวได้ เพราะเหตุว่าไม่รู้ตามความเป็นจริงว่าถ้าไม่มีจิต เจตสิก ขณะนี้ที่กำลังรู้อารมณ์ทีละ ๑ ขณะ เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว เรื่องราวต่างๆ ก็มีไม่ได้

    ผู้ถาม เราก็มีเรื่องราวซึ่งไม่ต้องไปทุกข์ร้อน ก็ฟังไปเรื่อยๆ ใช่ไหม

    สุ. คงจะไม่ได้ ถ้าเป็นเรื่องราว และมีเรา แล้วจะไม่ทุกข์ร้อน แต่ถ้าสามารถที่จะเข้าใจความจริงว่าเป็นสภาพธรรมที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก และก็เกิดขึ้น และก็ดับไปอย่างรวดเร็วเท่านั้นเอง ขอกล่าวถึงข้อความหนึ่งซึ่งต่อไปก็คงจะพบในพระไตรปิฎก แต่ว่าให้พิจารณาตามความเป็นจริงว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงความประพฤติเป็นไปของธรรม ของจิต เจตสิก ซึ่งในภูมิบางภูมิก็มีแต่เฉพาะจิต เจตสิก ไม่มีรูปเลย เช่น อรูปพรหมภูมิ แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นภูมิที่มีทั้งจิต เจตสิก รูป แต่อย่างไรก็ตามเรากำลังศึกษาเรื่องความไม่รู้คืออวิชชา เพราะฉะนั้นที่ทรงเน้นก็คือว่า ความประพฤติเป็นไปในชีวิตแต่ละชาติ ก็จะมีสภาพธรรมซึ่งใครก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือเมื่อเกิดแล้วต้องเห็นใช่ไหม ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เมื่อศึกษาเรื่องจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๑๘ ประเภท คืออเหตุกจิตก็จะรู้ได้ว่าเป็นวิบาก ๑๕ เป็นกิริยา ๓ สำหรับวิบากใครจะกั้นไม่ให้เกิดได้เพราะเหตุว่าเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นวิบากต้องมีตั้งแต่เกิด และก็จนกว่าจะตายก็ต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู มาตามกรรม แล้วแต่ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ เป็นธรรมดา ยับยั้งไม่ได้ แต่ว่าหลังจากนั้นแล้วมีสิ่งสำคัญ ๒ อย่าง คือ อวิชชาความไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ อันนี้เวลาศึกษาธรรมหรือฟังธรรม พิจารณาตามความเป็นจริงว่า เป็นอย่างนี้ไหม สิ่งที่สำคัญคือไม่มีใครสามารถที่จะไม่ให้สิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด แล้วยับยั้งไม่ให้เกิดไม่ได้ แต่เมื่อเกิดแล้วมีความไม่รู้อย่างหนึ่ง และเมื่อเกิดแล้วมีความรู้ มีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่เป็นสิ่งที่ต่างกันมาก เพราะฉะนั้นลองคิดถึงอดีตอนันตชาติที่ผ่านมา ถ้าเรามีความเข้าใจที่ค่อยๆ สะสม เราก็สามารถที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏได้ แต่ถ้าเราสะสมมาน้อยก็จะต้องสะสมต่อไป เพราะว่าความจริงทนต่อการพิสูจน์สภาพธรรมเกิดดับเร็วจนไม่ปรากฏความเร็ว จนเหมือนเที่ยงตั้งแต่กี่ภพกี่ชาติก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นรู้หรือไม่รู้ ถ้าไม่รู้หลังเห็น หลังได้ยิน หลังได้กลิ่น หลังลิ้มรส หลังสิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ก็เป็นอกุศลทั้งนั้น สำหรับกุศลประเภทที่เป็นไปที่จะให้เกิดวัฏฏะ เช่น กุศลที่เป็นกามาวจร เป็นไปที่จะเป็นทาน เป็นศีล ที่จะให้ผลเป็นการเกิดในสุคติภูมิ หรือว่าเป็นอกุศลกรรมก็เกิดในทุกคติภูมิ หรือแม้กุศลที่เป็นฌาณจิตที่จะทำให้เกิดในรูปพรหมภูมิเป็นพรหมบุคคล และอรูปพรหมภูมิ สิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็เพียงเป็นสิ่งที่เกิดตามเหตุตามปัจจัยยับยั้งไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่น่าคิดจึงมี ๒ อย่าง หลังเห็นแล้วเป็นความไม่รู้ หรือว่าหลังเห็นแล้วเป็นความรู้ ซึ่งความรู้หลังจากที่เห็นแล้วมาจากไหน อยู่ดีๆ เกิดไม่ได้เลย แต่ต้องอาศัยการฟัง การพิจารณา แล้วเป็นความเข้าใจของตัวเอง ไม่ใช่เป็นความเข้าใจของผู้อื่นที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียดมาก แต่ว่าเป็นปัญญาของผู้ที่ท่านรู้แล้ว ท่านจึงสามารถที่จะแสดงได้อย่างละเอียด แต่ผู้ไม่รู้ๆ แม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏ ก็จะเห็นได้กว่าจะรู้ได้นานไหม และก็เป็นผู้ที่จริงใจต่อการที่จะรู้ความจริงด้วย เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ขณะใดที่ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏก็เป็นการเริ่มที่จะฟังให้เข้าใจจนกว่าจะรู้ จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง มิฉะนั้นก็คือตายแล้วก็เกิดตามภพภูมิต่างๆ แล้วก็เห็น แล้วก็ได้ยินไป แล้วก็ไม่รู้ไป ก็เป็นเรื่องรู้ได้ด้วยตัวเองใช่ไหมว่าจะต้องฟังแล้วก็ศึกษาไปจนกว่าจะเป็นความรู้ของตัวเองจริงๆ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 191


    หมายเลข 10378
    3 ก.ย. 2567