จะละคลายความยึดมั่นในรูปตั้งแต่ศรีษะจรดเท้าได้อย่างไร


    อ.ธิดารัตน์ โมหะซึ่งเป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ แสดงว่าในขณะที่โมหอุทธัจจสัมปยุตต์ ขณะนั้นโมหะนั้นเกิดร่วมกับอุทธัจจะ และก็มีลักษณะของอุทธัจจะปรากฏใช่ไหมคะ

    สุ . ลักษณะของความไม่รู้หรือลักษณะของอุทธัจจะ

    อ.ธิดารัตน์ แยกไม่ได้

    สุ. ก็เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน โมหะคือความไม่รู้ ขณะนี้รู้หรือเปล่า

    อ.ธิดารัตน์ ต้องมีลักษณะของโมหะปรากฏทีหนึ่ง และลักษณะของอุทธัจจะปรากฏอีกทีหนึ่ง

    สุ. ยากไหมที่จะรู้แม้ขณะนี้อกุศลก็ไม่ได้ประกอบด้วยโลภะ เพราะว่าสำหรับโลภมูลจิตเกิดร่วมกับความรู้สึกเฉยๆ ก็มี อุเบกขาเวทนา โมหมูลจิตก็เกิดร่วมกับความรู้สึกเฉยๆ อทุกขมสุขอุเบกขาเวทนา แล้ว ๒ อย่างต่างกันตรงไหน เป็นอกุศลทั้ง ๒ อย่าง

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าเป็นโมหะก็คือลักษณะของความไม่รู้ปรากฏ

    สุ. เฉยๆ แต่มีโลภะเกิดร่วมด้วย เฉยๆ และไม่มีโลภะเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นการที่จะรู้จักลักษณะของสภาพธรรมตรงลักษณะซึ่งปรากฏ กี่รอบไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย เกิดดับสืบต่อเร็วมากแต่นิมิตมีที่จะทำให้รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นลักษณะของสภาพธรรมอะไร แล้วสติก็เริ่มคือรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้น คำว่า “รู้ตรง” สำหรับทวารอื่น อาจจะเริ่มจากทางกายก่อนซึ่งทุกคนก็คิดว่าก็มีลักษณะของรูปหยาบคือรูปอ่อนหรือแข็งที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้ ก่อนพูดเรื่องนี้ไม่รู้ลักษณะที่อ่อนหรือแข็งที่กำลังปรากฏ แต่พอพูดก็อาจจะทำให้มีปัจจัยที่รู้ลักษณะ ตรงลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เพียงเท่านั้นก็เป็นความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด เพราะฉะนั้นบางคนถ้าฟังธรรมแล้วบอกว่าธรรมยาก จริง ไม่ใช่ไม่ยากเลย สติปัฏฐานบางคนก็บอกว่ายิ่งยากกว่าธรรมที่ได้ยินได้ฟังก็จริง แต่ว่าไม่พ้นวิสัยของความเข้าใจถูก ถ้ามีความเข้าใจถูกว่าถ้าเป็นสติสัมปชัญญะที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ต้องเป็นปกติ นี่แสดงให้เห็นว่าไม่มีตัวตนที่จะทำให้ผิดปกติ จึงสามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปกติเพราะเกิดแล้วเป็นอย่างนั้น ใครก็เปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่ปกติธรรมดาอย่างนี้ ไม่ได้มากมายยากถึงขณะที่ว่าจะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏที่แข็งไม่ได้ แต่ก็จะมีความต่างกันว่าด้วยความจงใจตั้งใจ หรือว่าด้วยการรู้ว่ากำลังมีลักษณะนั้นปรากฏ นี่คือความละเอียด เพราะฉะนั้นธรรมอยู่ที่ความละเอียด ถ้ามีความเข้าใจแล้วค่อยๆ เห็นความต่างกันของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ว่ากำลังปรากฏว่าปรากฏโดยหลงลืมสติๆ ไม่ได้รู้ตรงลักษณะนั้น หรือว่าปรากฏโดยไม่ได้หลงลืมเพราะสติกำลังรู้ตรงลักษณะนั้น แม้เพียงเล็กน้อย แต่ผู้นั้นก็จะรู้ว่าสาระทั้งหมดอยู่ที่การเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั่นเอง สิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาแล้วทั้งวัน สนุกทั้งวัน ไม่เหลือเลย จะไปหาลักษณะนั้นกลับมารู้ไม่ได้ แต่ลักษณะของสิ่งที่มีจริงขณะนี้กำลังปรากฏให้รู้ เพราะฉะนั้นขณะใดที่กำลังรู้ลักษณะนั้น ถ้าปัญญาอบรมเจริญขึ้น ก็สามารถประจักษ์ทั้งการเกิดขึ้น และการดับไปของสภาพธรรมนั้น แต่ว่าเมื่อปัญญายังไม่ถึงระดับนั้นก็เพียงมีลักษณะนั้นปรากฏให้ค่อยๆ เริ่มเข้าใจในความเป็นจริงว่าก็เป็นเพียงแต่สภาพธรรมอย่างหนึ่ง และถ้าศึกษาเรื่องของจิตที่ผ่านมาแล้วก็จะทราบได้ว่าจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังมีแข็งปรากฏ อย่างอื่นจะมีปรากฏด้วยไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเราอยู่ที่ไหน แต่ถ้าไม่รู้อย่างนี้ เรากำลังนั่งอยู่แล้วก็รู้แข็ง กำลังยืนอยู่รู้แข็ง กำลังเดินอยู่รู้แข็ง ก็เป็นรูปทั้งหมดที่ยังคงอยู่ในความทรงจำ แต่ว่าลักษณะของรูปไม่ได้ปรากฏเลย เพราะฉะนั้นจะละคลายความยึดมั่นในรูปตั้งแต่ศรีษะจรดเท้าได้อย่างไร ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด และรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้เพียงเล็กน้อย เพราะว่าขณะนั้นก็ดับแล้ว เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเห็นประโยชน์ว่าในสังสารวัฏ ไม่มีอะไรที่จะมีประโยชน์เท่ากับสติปัฏฐาน สังขารธรรมทั้งหลาย มรรคมีองค์ ๘ เป็นเลิศ เพราะสามารถที่จะรุ้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ และก็จะรู้จริงๆ สุข ทุกข์ ใดๆ ทั้งหมดที่ผ่านไปแล้ว และยังไม่เกิด ไม่มีความสำคัญเลยเพราะว่าถ้ามีเกิดขึ้นด้วยความไม่รู้ก็ผ่านไปหมด แต่สิ่งที่กำลังปรากฏให้ค่อยๆ อบรมความรู้ความเข้าใจถูกขึ้น อันนี้ก็เป็นสาระ เพราะฉะนั้นก็ต้องไม่ลืมว่าพร้อมด้วยความละคลายไม่ใช่ความติด ถ้ามีการติดเมื่อไหร่ ธรรมฝ่ายตรงกันข้ามกับปัญญามาทันที กั้นทันที แต่ถ้าเป็นปกติ และรู้ว่าเห็นยังเกิดขึ้นได้ตามเหตุตามปัจจัย ได้ยินก็เกิดขึ้นได้ตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้นสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐานเมื่อมีปัจจัยจึงเกิดได้ ก็จะคลายความต้องการ โลภะก็ไม่สามารถที่จะมาทำให้ติดข้องที่จะต้องการผล หรือว่าต้องการที่จะทำ แต่ว่าเป็นการละตั้งแต่ขั้นฟัง และก็เป็นการละไปโดยตลอด ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ไม่มีเครื่องเนิ่นช้าเท่าที่มีหรือจะเป็นไปได้ตามกำลังของการสะสมของโลภะ อยากเมื่อไหร่ ช้าเมื่อนั้น เพราะว่าขณะที่อยากไม่ใช่การรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็ไม่ต้องคิดเรื่องรู้อุทธัจจะ แล้วแต่อะไรจะปรากฏ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 194


    หมายเลข 10446
    31 ส.ค. 2567