กว่าความรู้จะจริงตรงชัด ประจักษ์แจ้ง


    ผู้ถาม ตามความเป็นจริงแล้ว ลักษณะของโมหะรู้ได้ยากกว่าลักษณะของโลภะหรือโทสะ หรือว่าแล้วแต่อัธยาศัยที่ได้สะสมมาที่จะรู้ลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งในอกุศลเจตสิก ๓ ตัวนี้

    สุ. ธรรมไม่ได้จำกัดเลย และก็ไม่มีว่าจะต้องรู้อย่างนั้น จะต้องรู้อย่างนี้ แต่หมายความว่าความไม่รู้คืออย่างนี้ และความรู้คืออย่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจต่างกันระหว่างความไม่รู้กับความรู้ ก็จะทำให้เป็นผู้ที่รู้ตัวเองตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไปอาศัยว่าต้องเหมือนใคร อย่างขณะนี้กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วจะรู้อะไร ต้องไปเหมือนคนอื่นไหมว่าเขาจะรู้ผัสสเจตสิกหรือจะรู้เวทนาเจตสิก หรือจะรู้ชีวิตินทริยเจตสิก มนสิการเจตสิก เพราะฉะนั้นทุกคนก็เป็นผู้ที่ตรงอบรมเจริญปัญญาเพื่อเห็นถูก เข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏเพราะปรากฏแล้ว เพราะเกิดแล้วจึงปรากฏ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปตามแบบไหนเลยทั้งสิ้น เป็นผู้ที่พิสูจน์ธรรมด้วยตัวเองว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ และถ้าจะรู้จะเข้าใจถูก จะเข้าใจถูกในอะไร เดี๋ยวนี้

    ผู้ถาม ก็ต้องเข้าใจถูกในขณะที่ธรรมนั้นปรากฏ

    สุ. อะไร จะเข้าใจถูกในอะไรขณะที่กำลังเห็น ต้องเข้าใจสภาพที่กำลังปรากฏจริงๆ ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้ค่อยๆ เข้าใจถูก ให้รู้ว่าถ้าไม่นึกถึงรูปร่างสัณฐานใดๆ เลยทั้งสิ้น ความหมายของธาตุที่ปรากฏทางตาได้ก็เพียงสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ที่ยังไม่ได้คิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นธรรมที่ได้ฟังอาจจะคิดว่าฟังยาก แล้วก็เมื่อไหร่จะรู้ เช่น ถ้าพูดสั้นกว่านี้อีก พูดว่าขณะนี้ไม่มีเรา แต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ถูกหรือผิด

    ผู้ถาม ถูกต้อง

    สุ. แต่กว่าจะไม่มีเรา เห็นไหม ประโยคนี้ถูก แล้วเมื่อไหร่จะถูกจริงๆ โดยการที่ว่าไม่มีเรา ต้องอบรมเจริญปัญญาจนสามารถที่จะเข้าใจตามที่ได้กล่าวได้ว่าไม่มีเรา แต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นปัญญาการศึกษาก็คือว่าไม่ลืมสิ่งที่ได้ฟังไตร่ตรองว่าเป็นความจริง ก็จะต้องอบรมจนกว่าจะประจักษ์แจ้ง อย่างท่านพระสารีบุตรในชาติสุดท้ายของท่านที่จะได้เป็นพระโสดาบัน และก็เป็นพระอรหันต์ เป็นอัครสาวก ท่านฟังพระธรรมไม่มากเลย เพียงแต่สิ่งที่เห็นแล้ว แค่นี้ เหมือนที่เราพูดเมื่อกี้นี้ไหม ไม่มีเราแต่มีสิ่งที่ปรากฏ แต่ของท่านไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงไม่มีเรา เพียงแต่ว่าสิ่งที่เห็นแล้ว ท่านเข้าใจได้ว่าขณะนี้สิ่งที่เห็นแล้วมีจริงๆ และก็มีสภาพเห็นสิ่งที่เห็นแล้วด้วย และก็ขณะนั้นปัญญาที่ได้สะสมมาพร้อมถึงกาลที่สติปัฏฐาน ก็ไม่ต้องมีใครไปบอกว่าสติคือขณะที่กำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าขณะนั้นมีสภาพธรรม ผู้ที่สติสัมปชัญญะยังไม่เกิดก็คิดว่ารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมนี่คือรู้อย่างไร อาจจะต้องไปทำอะไรหลายอย่างแต่ความจริงไม่ใช่เลย สติเป็นสภาพเมื่อเกิดเป็นสภาพรู้เพราะเป็นนามธรรมก็รู้ตรงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ และถ้ามีปัญญาที่ได้อบรมมาแล้วก็สามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะฉะนั้นที่ได้ฟังไปทั้งหมดก็คงไม่ลืมว่าไม่มีเรา แล้วก็เติมคำว่า “ไม่มีเรา” เพื่อที่จะให้อบรมเจริญปัญญาถึงความไม่มีเรา ไม่มีเราแต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น ขณะนี้ไม่มีเรา มีเห็น ถูกต้องไหม ขณะนี้ไม่มีเรา มีได้ยิน กว่าความรู้จะจริงตรงชัด ประจักษ์แจ้ง ก็คือไม่ได้ประจักษ์แจ้งอย่างอื่นเลย นอกจากไม่มีเรา มีสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นธาตุต่างๆ เป็นสภาพธรรมต่างๆ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 195


    หมายเลข 10449
    3 ก.ย. 2567