ความสำคัญของอวิชชาและวิชชา
คุณอุไรวรรณ ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่าหลังจากได้ที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้กลิ่นแล้ว หรือรู้รสแล้ว หรือกระทบสัมผัสแล้ว ก็จะมีสภาพธรรม ๒ อย่างที่ปรากฏเท่านั้น ก็คือสภาพรู้กับไม่รู้ ขอความกรุณาท่านอาจารย์
สุ. นี่เป็นการแสดงธรรมหลากหลายต่างๆ กันซึ่งข้อความนี้อยู่ในสติสัมภิทามรรคซึ่งท่านพระสารีบุตรก็ได้กล่าวถึงเรื่องชีวิตอย่างสั้นๆ ว่าชีวิตของเราแต่ละขณะ แต่ละวัน ดูยืนยาว แต่ถึงแม้ว่าจะยืนยาวสักเท่าไหร่ก็ตาม สิ่งที่มีจริงก็คือว่าต้องมีความประพฤติเป็นไปของจิตในแต่ละภพแต่ละชาติ คือเมื่อมีการเกิดแล้ว จะไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสไม่ได้ จริงหรือเปล่า บังคับบัญชาไม่ได้เลย ถ้าในอรูปพรหมไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย มีแต่ใจ ก็ยังมีความประพฤติเป็นไปที่ว่าเมื่อเกิดแล้วก็จะต้องคิดนึก ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ เป็นภวังคจิตได้ ความเป็นไปของจิตตามการสั่งสมว่าเมื่อมีกรรมที่ทำให้วิบากเกิดขึ้น ก็ยังมีการสะสมของอกุศล และกุศลที่ทำให้ไม่ใช่เป็นแต่เพียงภวังค์ แต่จะมีการรู้หรือคิด แล้วแต่ว่าจะอยู่ในภพภูมิใด ในบางภูมิก็ไม่มีจักขุปสาท ไม่มีโสตปสาท เช่น รูปพรหมบุคคล และสำหรับภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็แล้วแต่กรรมว่าจะทำให้มีครบทุกทวารหรือเปล่า แต่ว่ายังไงๆ มโนทวารวิถีต้องมี เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงให้เห็นว่าความประพฤติเป็นไปในสังสารวัฏ ถ้าเราจะไม่กล่าวส่วนปลีกย่อย เราจะกล่าวโดยละเอียดพอสมควรซึ่งเป็นสาระก็คือ เมื่อมีการเห็นหรือการได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งจะไม่มีไม่ได้ ต้องมี หลังจากนั้นเป็นอะไร มี ๒ อย่าง จะไม่กล่าวถึงสิ่งอื่นเลย แต่จะกล่าวถึงสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกันคืออวิชชา และวิชชา แล้วเราก็พิจารณาดูว่าส่วนใหญ่หลังจากที่เห็นแล้วได้ยินแล้ว อวิชชาหรือวิชชาเกิด ถ้าอวิชชาเกิดก็สะสมอวิชชาต่อไปไม่รู้จบ ไม่มีที่สิ้นสุดเลย ไม่ว่าจะกระทำกุศลใดๆ กามาวจรกุศลทั้งหลาย ทาน ศีล หรือว่าระดับของฌาณจิตก็ตาม ผลก็คือว่าทำให้มีความประพฤติเป็นไปของวิญญาณคือมีการเกิด และก็มีวิบาก และก็มีการคิดนึก แต่ว่าหลังจากนั้นสิ่งสำคัญก็คือว่ากุศลจิตเกิดหรืออกุศลจิตเกิด หรือที่กล่าวถึงโดยเฉพาะก็คือว่าเมื่อเห็น เมื่อได้ยินแล้ว เป็นอวิชชาหรือวิชชา เพื่อให้เห็นความต่างกัน และความสำคัญว่าอวิชชาจะหมดไปได้ ละคลายไปได้ด้วยปัญญาเท่านั้น ไม่ใช่ด้วยกรรมอื่น ไม่ใช่ด้วยกุศลประเภทอื่น แต่ต้องเป็นด้วยความเห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรม และที่กล่าวโดยเจาะจงยิ่งกว่านั้นคืออวิชชา (ความไม่รู้) เป็นอัญญาณจริยา ประพฤติอย่างไรก็ยังเป็นไปด้วยความไม่รู้ ความไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม อีกประการหนึ่งก็คือญาณจริยา ความประพฤติเป็นไปของปัญญาซึ่งถ้ากล่าวโดยตรงหมายความถึงวิปัสสนามรรคผล เป็นการที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม แต่ในขณะนี้ก็เป็นกุศลประเภทที่ให้ผลเป็นวิบากยังไม่ได้ออกจากสังสารวัฏ แต่ว่าการที่จะมีอวิชชาต่อไปเรื่อยๆ เมื่อไม่มีปัญญา ต่างกับขณะที่แม้มีอวิชชาก็มีการอบรมเจริญปัญญาจนกว่าญาณนั้น ปัญญานั้นจะถึงวิปัสสนา และมรรคผล นี่เป็นการแสดงสังสารวัฏ และการออกจากสังสารวัฏ ที่เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของอวิชชา และวิชชาว่าเป็นสภาพธรรมซึ่งต่างกัน ก็ยากขึ้นใช่ไหม แต่ก็เป็นความจริงที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าแม้แต่วิปัสสนาญาณหรือมรรคผล จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเริ่มจากการฟังหรือความเห็นถูก ความเข้าใจถูก จนกว่าจะรู้แจ้งสภาพธรรมเมื่อไหร่ถึงความเป็นพระอรหันต์ก็ไม่ต้องมีการเกิดอีกเลย
ที่มา ...