ฟังเรื่องอะไรก็ตามเป็นชีวิตประจำวันของแต่ละคน


    อ.ธิดารัตน์ โมหมูลจิตดวงหนึ่งมีวิจิกิจฉา (ความสงสัย) เกิดร่วมด้วย อีกดวงหนึ่งเป็นความไม่รู้ และก็ไม่สงบในอารมณ์ ท่านอธิบายว่าไม่สงบในอารมณ์เดียว ส่วนวิจิกิจฉาเป็นการไม่สงบในอารมณ์ต่างๆ เพราะวิจิกิจฉาจะมีลักษณะความเห็นเป็น ๒ อย่าง ไม่สามารถที่จะตัดสินใจในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งได้ จึงเป็นความคิดที่พล่านไป ต้องใช้คำว่าความคิดที่ซัดส่ายไป ความตัดสินใจไม่ได้ว่าสภาพธรรมนี้เป็นสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด จะมีความสงสัยว่าเป็นอย่างนี้หรือว่าเป็นอย่างนี้ ไม่อาจตัดสินใจในอารมณ์นั้นได้ ท่านจึงใช้คำว่า “วิจิกิจฉา” ความเคลือบแคลงสงสัย

    สุ. การศึกษาธรรม ไม่ว่าเราจะได้ยินได้ฟังเรื่องอะไรก็ตาม ให้ทราบว่าไม่อยู่ไกลเลย เป็นชีวิตประจำวันของแต่ละคน ถ้าได้ยินคำว่า “โมหะ” คือความไม่รู้ หาเจอไหม เมื่อไหร่วันนี้ หรือว่าตั้งแต่เช้ามามีกุศลหรืออกุศล ถ้าขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นต้องมีสภาพที่เป็นโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นอกุศลเพราะไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่เคยยึดถือว่าเป็นเราหรือว่าเป็นตัวตน แล้ววันหนึ่งก็มากเหลือเกิน เพราะฉะนั้นการที่จะให้ค่อยๆ เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีอยู่ก็เป็นเรื่องซึ่งต้องอาศัยการฟัง การไตร่ตรอง การพิจารณา ไม่ใช่ไปคิดถึงคำ แล้วก็ไม่รู้ แต่ก็กล่าวตามๆ กัน แต่ก็ต้องรู้ความจริงว่าคำนั้นหมายถึงสภาพธรรมอะไร และก็เราสามารถที่จะรู้ได้ เข้าใจได้ไหม อย่างคำว่า “โมหะ” ก็เป็นสิ่งที่มีจริงแน่นอนเพราะเหตุว่าไม่รู้ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นก็มีการสะสมของแต่ละชาติที่จะสะสมอกุศลหลังจากที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ส่วนน้อยครั้งก็จะเป็นการสะสมกุศลโดยเฉพาะที่ประกอบด้วยปัญญา เป็นความเห็นถูก เราต้องเกิดอีกมากมายหลายชาติ นับชาติไม่ถ้วน และก็แต่ละชาติจะเหมือนอย่างชาตินี้หรือเปล่าที่ว่าก็มีโมหะมากมายแต่ก็ยังมีโอกาสที่กุศลจิตจะเกิด และยังมีโอกาสที่กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาจะเกิด ซึ่งก็ต่างกับการเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือว่าเกิดในอบายภูมิ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 195


    หมายเลข 10457
    2 ก.ย. 2567