สิ่งที่ดูเป็นธรรมดา ... แต่ไม่รู้


    ผู้ถาม แล้วเราจะซักผ้าที่ดำๆ ได้ยังไง

    สุ. เดี๋ยวนี้ทำอะไรอยู่

    ผู้ถาม ฟังพระธรรม

    สุ. เข้าใจไหม

    ผู้ถาม ถ้าจะกล่าวก็คงเข้าใจบ้าง

    สุ. ถ้าไม่ฟังเข้าใจไหม ก็รู้วิธีแล้ว รู้หนทางแล้วว่าทำยังไงจึงจะเข้าใจสิ่งซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย

    ผู้ถาม แต่ว่าจะห้ามสภาพความคิดนึกนี่เป็นไปไม่ได้

    สุ. ใคร อภิธรรม ธรรมเป็นธรรม ใครจะทำอะไรธรรม ลองเชิงธรรม ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย

    ผู้ถาม วิทยากรที่มูลนิธิไม่ได้สอนให้ทำ ไม่ได้สอนให้จำ แต่สอนให้เข้าใจ และให้ความเข้าใจนั้นทำหน้าที่ของสภาพธรรมตามเหตุ และตามผลนั้น กระผมคิดว่าจะให้จำธรรมทั้งหมดก็คงทำไม่ได้ จะให้เข้าใจ และความเข้าใจนั้นทำหน้าที่ก็คงเป็นไปไม่ได้อีกเหมือนกัน กระผมใคร่ขอความกรุณาให้อาจารย์ช่วยอธิบาย

    สุ. ขณะนี้ก็กำลังจำหรือเปล่า

    ผู้ถาม จำ มีนามธรรมเกิดขึ้น มีจิตเกิดขึ้น

    สุ. เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเกิดแล้วรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด สัญญาเจตสิกเป็นสภาพจำ มีอยู่กับจิตทุกขณะ ถ้าเราไม่ได้ฟังธรรม เราจะฟังเรื่องอื่นแล้วก็จำเรื่องอื่น แม้แต่ขณะที่กำลังเห็นก็จำสิ่งที่กำลังปรากฏ ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏซึ่งเกิดดับอย่างเร็วมาก เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะได้ยินได้ฟังอะไร จำโดยที่ว่าต้องไปพยายามจำอีก หรือว่าเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ประโยชน์ของการฟังอยู่ที่เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังหรือว่าจำสิ่งที่ได้ฟัง ประโยชน์

    ผู้ถาม ก็คงจะเป็นความเข้าใจ

    สุ. ถ้าเข้าใจแล้วจะลืมไหม เพราะฉะนั้นจำด้วยความเข้าใจกับจำโดยไม่เข้าใจก็ต่างกัน แล้วจะเรียนแบบไหน ฟังธรรมแบบไหน ฟังเพื่ออะไร

    ผู้ถาม ฟังเพื่อความเข้าใจ

    สุ. ได้บ้างหรือยัง

    ผู้ถาม มีบ้างเล็กน้อย

    สุ. เพราะฉะนั้นจำไว้แล้วด้วยใช่ไหม แต่ว่าจำในวันหนึ่งๆ ไม่ได้จำแต่เรื่องธรรม ยังจำสิ่งอื่นอีกมากมาย พอเห็นก็จำสิ่งที่เห็นแล้ว เมื่อกี้นี้ฟังธรรมก็หมดไปแล้ว พอได้ยินก็จำเสียงที่ได้ยินแล้ว ที่ได้ฟังธรรมเมื่อกี้นี้ก็หมดไปแล้ว เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ไม่ได้จำแต่เฉพาะธรรม จำอย่างอื่นด้วยๆ เหตุนี้จึงเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะรู้ว่าแม้แต่ได้ยินได้ฟังอะไรก็ตามแต่ จำนี่จำไว้ แต่ว่าจะตรึกหรือจะคิดถึงสิ่งนั้นหรือเปล่า เพราะว่ามีความจำมากมายเยอะแยะวันหนึ่งๆ แต่วันนี้ผ่านพ้นไปแล้ว คืนนี้จะคิดถึงอะไรก่อนจะนอน บอกไว้ก่อนได้ไหม ตั้งใจไว้ก่อนได้ไหม ถึงเวลาคิดเองตามเหตุตามปัจจัย แต่ว่าคิดเรื่องอื่นจะทำให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเพิ่มขึ้นหรือเปล่า หรือว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วก็เกิดคิดพิจารณา ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แม้แต่คำที่ได้ยินซ้ำกันบ่อย ในพระไตรปิฎกก็จะกล่าวว่าซ้ำเหลือเกิน สูตรนั้นก็ซ้ำกับสูตรนี้ ทั้งหมดก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เว้นเลยไม่ว่าจะเป็นสูตรไหน แล้วก็ทำไมไม่ชอบหรือได้ฟังซ้ำๆ อยากจะฟังเรื่องใหม่ๆ เรื่องเก่าๆ ไม่เอา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ไม่เอาๆ เรื่องใหม่หรือยังไงซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ได้เข้าใจจริงๆ ในสิ่งซึ่งแม้กล่าวซ้ำสักเท่าไหร่ก็ตามเพื่อให้รู้ว่าเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า เข้าใจจริงๆ หรือยัง เพราะฉะนั้นตั้งแต่ได้ฟังธรรม ไม่ว่าจะเป็นที่โน่น ที่นี่ ที่นั่น จะพ้นจากเรื่องสิ่งที่มีจริงทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ไหม ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีสติระลึกได้จากการสะสม ก็จะรู้ได้ว่ายังไม่ได้ประจักษ์ความจริงของสิ่งที่ได้ฟัง เพราะฉะนั้นเพียงขั้นฟังรู้เรื่องไม่พอ ไม่เป็นประโยชน์เลย เพียงแค่ฟังรู้เรื่องโดยพยัญชนะ โดยรูปประโยค โดยความหมายว่าคำนี้แปลว่าอะไรหรือหมายความว่าอะไร ทั้งๆ ที่สภาพธรรมกำลังมีอยู่ กำลังปรากฏ ให้เข้าใจสิ่งนี้ต่างหาก คำทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟังไม่ว่าจะเป็นคำยาก คำยาว คำใหม่ คำไม่เคยได้ยิน ยังไงก็ตามแต่ๆ ทั้งหมดเพื่อให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจอย่างนี้จะคิดถึงธรรมเป็นประโยชน์ไหม ถ้าขณะนั้นคิดแล้วค่อยๆ เข้าใจ ขณะนั้นเราก็บังคับไม่ได้ว่าจะให้คิดถึงธรรมอะไร ได้ยินได้ฟังตั้งหลายคำ แต่ข้อสำคัญก็คือว่าอย่าเห็นว่าการพูดซ้ำไร้ประโยชน์ มิฉะนั้นในพระไตรปิฎกจะไม่มีแต่คำซ้ำ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ถ้าไม่รู้ประโยชน์ก็จะเบื่อ และก็จะคิดว่าไม่มีอะไรเลยนอกจากสิ่งที่ดูเป็นธรรมดา แต่สิ่งที่ดูเป็นธรรมดาเพราะไม่รู้ ผู้ที่ทรงตรัสรู้ๆ ได้ว่าไม่ธรรมดา เพราะขณะนี้เองเกิดแล้วก็ดับสืบต่ออยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการคิดไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ถ้าคิดเพื่อที่จะให้เข้าใจถูกขึ้น เพราะว่าเข้าใจเพียงเล็กน้อยก็อาจจะเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกได้มากจากการค่อยๆ คิดให้ถูกต้องทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ถาม เราไม่สามารถที่จะไปบังคับให้จำหรือบังคับให้เข้าใจได้ ในขณะใดที่เป็นความจำ และในขณะใดที่เป็นความเข้าใจที่ควรจะรู้ควรจะเข้าใจในขณะนี้

    สุ. ขณะนี้ได้ยินชื่อทั้งหมดใช่ไหม

    ผู้ถาม ถูกต้อง

    สุ. แล้วก็มีสภาพธรรมที่ตรงกับชื่อที่ได้ยินได้ฟังด้วย


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 206


    หมายเลข 10687
    31 ส.ค. 2567