กว่าจะถึงความเป็นอนัตตาทั่วหมดต้องเป็นผู้ที่ละเอียด


    ผู้ถาม จริงๆ แล้วในชีวิตประจำวันสิ่งที่เกิดกับเรามากที่สุดก็คือเรื่องราวทุกอย่าง ทีนี้จากการศึกษาธรรมแม้แต่เรื่องราวก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง พอเห็นเสร็จก็เป็นเรื่องราวมาเยอะแยะไปหมด ก็เลยกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่าแล้วเราจะพิจารณาในเรื่องราวเหล่านั้นหรือ

    สุ. เห็นไหม แล้วเราจะพิจารณาในเรื่องนั้นหรือ เป็นคำถามเหมือนกับต้องการบท ต้องการแบบที่จะให้ทำหรือเปล่า เพราะฉะนั้นการฟังธรรมต้องเป็นผู้ที่ละเอียด พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อให้คนที่กำลังฟังมีความเห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ อันนี้ถูกต้องแน่นอนใช่ไหม เพราะฉะนั้นจะมีเราหรือเปล่าในเมื่อทรงแสดงว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่เราไม่ได้เข้าถึงความหมายนี้อย่างมั่นคง ถ้าเข้าใจถึงความหมายนี้อย่างมั่นคง ขณะนี้ไม่มีเรา และไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม ไม่มีแบบที่ว่าแล้วต่อไปเราจะทำอะไรถ้าเรารู้ว่าเป็นธรรม นั่นคือไม่ได้เข้าใจธรรม ถ้าเข้าใจธรรมก็คือว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดปรากฏเพราะเหตุว่ามีปัจจัยทำให้สิ่งนั้นเกิด เมื่อสิ่งนั้นเกิดแล้วเช่นความโกรธหรือว่าความโลภก็ตามแต่ มีเราจะทำยังไงต่อไปคือลืมแล้วว่าเป็นธรรม แต่ว่าสิ่งนั้นก็ดับแล้วๆ ก็มีสภาพธรรมอื่นเกิดสืบต่อ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ เพิ่มขึ้น มั่นคงขึ้น ทุกอย่างเป็นธรรม แม้แต่ขณะที่กำลังคิด ทำไมขณะนี้อยู่ที่นี่คิดอย่างนี้ อยู่ที่บ้านคิดอย่างหนึ่ง ทำไมคิดไม่เหมือนกัน ทำไมไม่คิดเรื่องเดียวกัน ทำไมอยู่ตรงนี้จะไม่คิดเรื่องอื่นซึ่งน่าจะคิดเมื่ออยู่ที่บ้าน นี่ก็แสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ความคิดก็บังคับบัญชาไม่ได้ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ฟังธรรมเพื่อเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ อย่างที่คุณสุกัญญาบอกว่าวันหนึ่งๆ คิดมากเต็มไปด้วยเรื่องราว และก็สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็น้อยก ว่า ถูกต้องใช่ไหม แต่ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายที่ว่าน้อยกว่า น้อยแค่ไหน จากการฟัง รู้ได้ว่าเพียงแค่ปรากฏแล้วดับ นี่คือน้อยจริงๆ ต่อจากนั้นแล้วทางใจแม้ไม่เห็นก็ยังจำสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็คิดนึกเรื่องที่ปรากฏทางตามามากมายในความทรงจำ แม้ฝัน ไม่เห็นแล้วก็ยังคิดเรื่องฝันต่างๆ เมื่อคืนนี้ทุกคนก็คงฝันๆ จากไหน จากคิดในสิ่งที่ปรากฏแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงกล่าวว่าคิดมากเหลือเกิน มากกว่าสิ่งที่ปรากฏ แต่ต้องเป็นผู้ที่ฟังเข้าใจว่าสิ่งที่ปรากฏสั้นมาก เพียงปรากฏแล้วดับ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งเป็นรูป แล้วนามธรรมยิ่งดับเร็วกว่านั้นอีกมาก เพราะฉะนั้นต้องฟังให้เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรมที่มีปัจจัยเกิดปรากฏแล้วก็ดับไปโดยที่ว่าไม่มีตัวตนที่จะไปสร้าง หรือว่าจะไปทำ หรือว่าจะไปคิดว่าต่อไปจะเป็นอะไร ที่คิดว่าต่อไปจะเป็นอะไรคือมีปัจจัยปรุงแต่งให้คิดอย่างนั้นเกิดขึ้นแล้วโดยไม่รู้ ด้วยเหตุนี้กว่าจะถึงความเป็นอนัตตาทั่วหมดที่จะละความเป็นเราได้ก็เป็นผู้ที่ละเอียด เมื่อวานนี้ก็มีท่านผู้หนึ่งท่านก็ฟังธรรมน้อย แต่ว่าท่านบอกว่าท่านเกิดสติรู้แข็ง แต่ท่านฟังธรรมน้อย รู้แข็งไปทำไม ถ้าไม่มีความเข้าใจว่าแข็งนั้นเป็นสภาพธรรมที่เกิดปรากฏ ใครก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นเพียงแค่การที่เกิดคิดแล้วรู้ตรงแข็ง ไม่ได้หมายความว่าผู้นั้นมีปัญญาที่รู้ประโยชน์ของการที่จะเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์จริงๆ จะไม่กังวล และไม่สนใจว่าแล้วจะเป็นยังไงต่อไป เพราะคนนั้นต้องมีความสงสัยแน่นอนใช่ไหม เพราะว่ามีการฟังน้อยยังไม่รู้ว่าสภาพธรรมต่างกันเป็นสองอย่างคือลักษณะหนึ่งไม่รู้อะไรเลย ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ แต่ที่ธรรมทั้งหลายปรากฏได้ในชาติหนึ่งๆ ตลอดชาติทุกขณะเพราะมีธาตุรู้หรือสภาพรู้ ซึ่งแม้ในขณะนี้ก็กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก นั่นคือสิ่งที่มีแล้วไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นการฟังก็ฟังเรื่องเก่าแต่ว่าละเอียดขึ้น เพื่อที่จะมีความเข้าใจว่า แม้ขณะที่เข้าใจว่ากำลังรู้ตรงแข็ง แต่จริงๆ แล้วถ้าขณะนั้นไม่สามารถจะรู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งต่างกับสภาพที่กำลังรู้แข็ง เหมือนอย่างคิดนึกไม่ใช่เห็น คิดนึกไม่ใช่ได้ยิน ขณะนี้เห็น แต่กำลังคิดว่าสิ่งที่ปรากฏนี่เป็นอะไร อย่างรวดเร็วโดยที่เราไม่รู้เลยเพราะตอบว่าเห็นคน เหมือนกับกำลังได้ยินเสียง กับได้ยินคำ แยกไม่ออกเลยใช่ไหม เหมือนกับได้ยินคำทันทีเหมือนกับได้ยินคำทันทีฉันใด ทางตาที่กำลังเห็นก็เป็นเห็นคนทันทีฉันนั้น เพราะฉะนั้นประโยชน์ของการฟังก็คือว่าให้มีความเข้าใจถูก ให้มีความเห็นถูก ไม่ต้องไปกังวลเรื่องสติปัญญาจะเกิดหรืออะไรทั้งสิ้นถ้าไม่เข้าใจ ถ้าไม่มีความเข้าใจค่อยๆ เพิ่มขึ้นเพื่อที่จะละความไม่รู้ ความไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่เป็นประโยชน์ มิฉะนั้นตัวตนจะเข้ามาทันทีอย่างรวดเร็วโดยไม่รู้เลยว่าขณะนั้นเป็นไปด้วยโลภะหรือเปล่า


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 215


    หมายเลข 10927
    31 ส.ค. 2567