ความคิด-ความจริง


    ผู้ถาม สังคมที่เราอยู่ทุกวันนี้ก็ยังมีผู้ที่มีความรู้ ผู้ที่มีชื่อเสียง ผู้ที่มียศศักดิ์อะไรต่างๆ ยกตัวอย่างในกรณีที่บอกว่าหญิงไทยถ้าสามารถแต่งงานกับคนต่างชาติได้นั้นอันนี้เป็นเกียรติภูมิอย่างยิ่ง กรณีอย่างนี้คำสอนของพระผู้มีพระภาคให้ดูว่าสิ่งนั้นที่เราได้ยินแล้ว ๑ ขัดเกลาไหม มักน้อยหรือเปล่า สันโดษไหม และเป็นไปด้วยการละหรือเปล่าอย่างนี้ก็เข้าใจ แต่บางทีคำพูดหลายๆ คำก็ไม่สามารถที่จะตอบได้ และก็พิจารณาไม่ออก

    สุ. ก็ต้องแยกเรื่องที่ได้ยินได้ฟังเป็นสองเรื่องคือเรื่องทั่วๆ ไปซึ่งไม่ใช่เรื่องสัจจธรรม ไม่ใช่เรื่องธรรม แต่เป็นเรื่องความคิดของแต่ละคนที่สะสมมา เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังมีการสะสมของความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ความคิดบางกาลก็เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง บางกาลก็เป็นความคิดที่ถูกต้องในระดับหนึ่ง แต่ว่าก็ยังไม่ใช่การรู้ความจริงของสภาพธรรมนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ผู้ที่จะรู้ว่าคำใดเป็นคำที่ควรเชื่อ ก็คือผู้ที่ศึกษาธรรมแล้วมีความเข้าใจธรรม ก็สามารถที่จะแยกได้ว่าคำนั้นเป็นคำพูดให้เข้าใจธรรมหรือเปล่า หรือว่าเป็นความคิดความเห็นของแต่ละคนที่สะสมมา เพราะว่าไม่มีทางที่จะทำให้แต่ละคนมีความคิดอย่างเดียวกัน เหมือนกันได้เลย ต่างคนก็ต่างคิดตามความเข้าใจ เพราะฉะนั้นสะสมมาอย่างไร คิดอย่างนั้น พูดอย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องแยกระหว่างทางโลกกับทางธรรม

    ผู้ถาม ในกรณีอย่างนี้ก็อันตรายเหมือนกัน อย่างบางทีพ่อแม่บอกเราต้องทำอย่างนั้นนะ อย่างนี้นะ เสร็จแล้วเราก็ไม่เข้าใจก็ต้องเชื่อตามๆ กัน ก็ต้องเป็นเหตุมา และก็เป็นปัจจัย และก็เป็นผล

    สุ. ก็อยู่ในโลกของความไม่รู้ในสังสารวัฏต่อไปอีกแต่ละชาติจนกว่าจะได้มีโอกาสได้ฟังพระธรรม

    ผู้ถาม ถ้าเราไปเผลออยู่ตรงนั้นก็คือเหตุของเรามาแล้ว

    สุ. ทุกขณะเลย ทุกขณะเกิดขึ้นเพราะเหตุ มีการสะสมมาแล้วจึงได้คิดอย่างนี้ พูดอย่างนี้ ทำอย่างนี้

    ผู้ถาม แล้วก็ถ้าเราอยู่ตรงนั้นก็ต้องตามไปอย่างนี้เหมือนกัน

    สุ. แต่ละคนก็คือว่าเป็นตัวเอง ไม่แน่นอน เราจะทำสิ่งที่คนอื่นทำโดยไม่มีเหตุผลโดยไม่เข้าใจ หรือว่าเราเป็นคนที่ทำด้วยการไตร่ตรองในเหตุผลว่าเป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่สมควร ไม่ใช่ได้ยินแล้วเชื่อทันที ถ้าได้ยินแล้วเชื่อทันที ไม่มีทางที่จะมีพระธรรมเป็นที่พึ่ง แต่ว่าเมื่อได้ยินได้ฟัง และก็ได้ศึกษาธรรมแล้ว ก็มีพระธรรมเป็นสรณะเป็นที่พึ่งว่าสิ่งใดถูกต้อง สิ่งใดไม่ถูกต้อง


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 217


    หมายเลข 11009
    31 ส.ค. 2567