เป็นจิตของตนเองที่เกิดขึ้นแล้วก็คิดถึงคนอื่น
ผู้ถาม เมื่อเราศึกษาธรรมแล้ว นอกจากเราพิจารณาตัวเราน้อย เราก็ยังพิจารณาผู้อื่นมาก
สุ. เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจตัวเราขึ้น เราก็เข้าใจคนอื่นขึ้น แต่การที่จะพิจารณาคนอื่นถูกต้องหรือผิดก็ขึ้นอยู่กับปัญญาของเรา ถ้าเรามีความเข้าใจตัวเรา เราก็สามารถเข้าใจคนอื่น เช่นเรามีความต้องการความสุข สุขเวทนา ทุกคนต้องการเหมือนกันหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ เป็นเด็กเป็นเล็ก วัยไหนก็ตามแต่ก็ต้องการความรู้สึกที่เป็นสุข ไม่ต้องการความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ทุกคนมีโลภะ มีความติดข้อง มีความต้องการ และบางกาลเราพูดด้วยโลภะหรือเราพูดด้วยโทสะ หรือว่าเราพูดด้วยจิตที่เมตตา ถ้าเราสามารถที่จะรู้ได้ เราก็จะเห็นพฤติกรรมของบุคคลอื่น แล้วก็เข้าใจได้ว่าขณะนั้นการกระทำนั้นๆ เป็นไปด้วยจิตประเภทไหน แต่ว่าเมื่อมีความเข้าใจตัวเองชัดเจนขึ้น ค่อยๆ รู้ขึ้นก็สามารถที่จะเข้าสิ่งที่เราถือหรือเรียกว่าเป็นคนอื่น แต่ว่าตามความเป็นจริงขณะนั้นเป็นจิตที่คิดนึกของเราเองจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมต้องเข้าใจด้วยพระผู้มีพระภาคทรงแสดงจากการตรัสรู้ก็คือไม่มีตัวตนเลย มีแต่ธรรมซึ่งเป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป ทุกกาลสมัย แม้แต่ขณะที่กำลังคิดถึงบุคคลอื่น ขณะนั้นก็ห้ามไม่ได้ ธรรมไม่ใช่เป็นการที่จะไปห้าม แต่เป็นการที่เข้าใจถูกในสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ ทุกอย่างขณะนี้เกิดแล้วทั้งนั้นจึงได้ปรากฏได้ ถ้าไม่เกิดก็ปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะที่คิด ขณะนั้นมีจริงๆ แล้วแต่ว่าความคิดนั้นจะเป็นอย่างไรก็เป็นไปตามการสะสม แต่ให้เข้าใจให้ถูกต้องว่าจริงๆ แล้วก็คือว่าเป็นธรรมทั้งหมด เราอาจจะคิดถึงชื่อคนนั้น เขากำลังโกรธ หรือว่าเขากำลังแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรง แต่ตามความเป็นจริงก็คือเมื่อเอาชื่อของคนนั้นออกก็คือสภาพธรรมที่สะสมมาที่ทำให้คิดอย่างนั้น พูดอย่างนั้น ทำอย่างนั้น แล้วเราก็ใส่ชื่อเข้าไปว่าเรากำลังพิจารณาคนนั้นคนนี้ แต่ความจริงก็เป็นจิตของตนเองที่เกิดขึ้นแล้วก็คิดถึงคนอื่น
ที่มา ...