ลักษณะของสติ
สุ. ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ แม้โลภะจะเกิดก็ในสิ่งที่ถึงแล้ว มีแล้วตามกรรมที่ได้กระทำ อันนี้ก็จะทำให้เป็นผู้ที่มั่นคงในเรื่องของกุศล และก็ความพอใจนั้นก็จะเป็นไปตามการสะสมที่จะประกอบด้วยปัญญาที่รู้ว่าตราบใดที่ยังไม่ได้ดับโลภะๆ ก็มี แต่ว่าเป็นระดับที่ไม่ใช่เหมือนกับเวลาที่ไม่มีความเข้าใจธรรม
ผู้ถาม สภาพระลึกกับสภาพนึกคิด
สุ. ที่คุณสุกัญญาสงสัยเป็นเรื่องของคำที่อาจจะได้ยินได้ฟังคือสติ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง ที่ใช้คำนี้แล้วก็แปลออกมาว่าเป็นสภาพที่ระลึกได้แต่ต้องเป็นไปในกุศล เพราะว่าการคิดนึกของเราๆ คิดถึงอดีตได้ด้วยความเพลิดเพลินหรือว่าด้วยความขุ่นข้อง ขณะนั้นเป็นลักษณะของเจตสิกที่ไม่ใช่สติเจตสิก แต่ถ้าสติเจตสิกเกิดขณะไหน จิตขณะนั้นเป็นโสภณ เป็นจิตที่ดี เป็นจิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้นก็จะแยกจิตๆ ที่ไม่ดีกับจิตที่ดี ถ้าจิตฝ่ายดีจะต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายประเภทจึงสามารถที่จะเป็นโสภณจิตได้ ไม่ใช่เฉพาะสติเจตสิกเท่านั้น แต่เวลาที่จิตฝ่ายดีเกิดจะขาดสติเจตสิกไม่ได้เลย ตามกำลังว่าจิตขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน เป็นจิตประเภทฝ่ายดีขั้นทาน ขั้นศีลหรือขั้นฟังธรรม หรือขั้นเข้าใจธรรม หรือขั้นประจักษ์แจ้งของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นที่แปลว่าระลึก จริงๆ แล้วภาษาไทยจะใช้คำที่ยากที่จะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม หรือแม้แต่ภาษาหนึ่งภาษาใดนอกจากภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม แต่ต้องเป็นผู้ฟังที่เข้าถึงอรรถของคำนั้น ไม่ใช่เพียงแต่รู้ว่าคำนี้แปลว่าอะไร ถ้าเพียงรู้ว่าคำนี้แปลว่าอะไรอย่างสติ ถ้าแปลว่าระลึกแล้วจะเข้าใจได้ยังไงว่าขณะไหนเป็นสติเพราะว่ามีการระลึกหลายอย่าง ถ้าเป็นสติก็คือขณะนั้นเกิดขึ้น ระลึกคือเป็นไปในทานที่เป็นกุศลทั้งหมด เป็นไปในศีล เป็นไปในความสงบของจิต เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา เช่น การฟังธรรมเข้าใจ ขณะนั้นสติเจตสิกก็เกิด ขณะที่แม้ไม่ได้ฟังแต่นึกถึงธรรมไตร่ตรองด้วยความเข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นสติที่ใช้คำว่า “ระลึก” คือเป็นไปในกุศลหรือว่าในธรรมฝ่ายดีงาม แต่สติที่บอกว่าเป็นสติปัฏฐาน ใช้คำว่าระลึกเป็นไปในกาย ขณะนี้มีกาย เป็นไปในเวทนา ขณะนี้มีความรู้สึก เป็นไปในจิต ขณะนี้มีจิต เป็นไปในธรรม ขณะนี้มีธรรม ขณะที่ฟังเป็นสติขั้นฟัง หรือว่าเป็นสติขั้นระลึกเป็นไปในกาย ระลึกเป็นไปในกายไม่ได้แปลว่าคิดถึงเรื่องกาย แต่หมายความว่าที่กายมีสภาพธรรมที่ยึดถือว่าเป็นเราหรือว่าเป็นกายของเรา เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานคือขณะที่กำลังรู้ตรงลักษณะ ที่ใช้คำว่า “ระลึก” เพราะเหตุว่าไม่ได้เป็นไปกับเรื่องราว แล้วไม่ใช่ระลึกเป็นคำ แต่ว่าระลึกเพราะเหตุว่ามีการเข้าใจจากขั้นการฟัง ทำให้สตินั้นเกิดขึ้นรู้ตรงลักษณะนั้น คือระลึกหรือรู้ตรงลักษณะที่เป็นกายหรือว่าเป็นจิต หรือว่าเป็นธรรม หรือว่าเป็นความรู้สึก เพราะฉะนั้นก็เป็นความเข้าใจ “คำ” เดียวที่ใช้คำว่า “สติ” แต่จะต้องรู้อรรถของสติว่าเป็นธรรมฝ่ายดี และสติก็มีหลายขั้น ตั้งแต่ขั้นเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในความสงบของจิต และเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา
ที่มา ...