สัมปชัญญะ
ผู้ฟัง ธรรมนี้บอกว่าธรรมมีอุปการะมาก แม้ว่าเราใช้สติเพราะอุปการะแก่ตัวเอง ถ้าไม่มีสติก็หมายความว่า
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ ตื่นมาแล้วเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
ผู้ฟัง เป็นกุศล
ท่านอาจารย์ ใช้สติตอนไหน
ผู้ฟัง ใช้สติตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเลย ตอนที่นอนหลับยังไม่ใช่สติ
ท่านอาจารย์ ใช้ทั้งวัน
ผู้ฟัง ใช้กลางคืน ปกติผมจะสวดมนต์บ้างนิดๆ หน่อยๆ แต่เมื่อเช้าผมไม่ได้สวด
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษนะคะ คงเป็นเรื่องคิดเอง
ผู้ฟัง ก็เอาธรรมนี้มาคิดด้วยว่าธรรมมีอุปการะมาก มีอุปการะอย่างไร ก็อุปการะที่ว่าต้องใช้สติที่ว่าเราจะทำอะไรต้องระมัดระวัง
อ.ธิดารัตน์ การศึกษาธรรมโดยละเอียดก็จะทำให้เข้าใจว่าแม้ว่าสติหรือสัมปชัญญะจะเกิดกับจิตประเภทไหนได้ ก็จะต้องเป็นประเภทที่เป็นกุศลจิต ถ้าเป็นกุศลจิตก็จะต้องมีโสภณธรรมอื่นๆ อย่างเช่นศรัทธา ความผ่องใส ขณะที่เราคิดว่าเป็นกุศล ขณะนั้นจิตผ่องใสไหม ก็จะทำให้ไม่เข้าใจคลาดเคลื่อน เราลืมตาตื่นขึ้นมา ความยินดีพอใจในสิ่งที่เห็นมีแล้วเป็นปกติ การที่ว่าจะมีกุศลเกิดตลอด หรือว่ามีสติเกิดตลอดยังไม่ใช่วิสัยของปุถุชนๆ หรือผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลสปกติก็จะต้องมีกิเลส ไม่ว่าจะเป็นการเห็น การได้ยิน การลิ้มรส กลิ่นต่างๆ ยินดีพอใจในสิ่งที่เห็นที่ได้ยินเริ่มปรากฏแล้ว โลภเจตสิกเกิดกับโลภมูลจิต นอกจากจะมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ยังมีธรรมอื่นๆ ที่เกิดพร้อมกับโลภะนั้น อย่างเช่นเวทนาที่เป็นอุเบกขา แค่พอใจเฉยๆ นิดเดียว ถ้าหากว่าไม่ใช่บุคคลที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานโอกาสที่จะรู้ว่าเป็นลักษณะของอกุศลจิตรึกุศลจิตก็เป็นเรื่องที่ยาก เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมจึงเป็นประโยชน์อย่างมากเลย อย่างน้อยเราจะไม่เข้าใจผิดคิดว่าขณะที่เราเฉยๆ ก็คือมีสติหรือว่าขณะที่เราทำอะไรด้วยความจดจ้องต้องการต่างๆ เป็นสติ เพราะว่าในขณะนั้นเราจดจ้องต้องการด้วยอำนาจของโลภะก็ได้ อย่างการทำงาน การเดิน การข้ามถนนไม่ให้รถชนเป็นไปด้วยความรักตนเอง และด้วยความปลอดภัย เพราะฉะนั้นกุศลจิตจะเกิดขึ้นเป็นไปในทานไหม อย่างที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวแล้ว ทาน ศีล ภาวนา คือเป็นสิ่งที่เราจะเอามาวัดในชีวิตประจำวันได้ว่าขณะนั้นเราคิดที่จะสละวัตถุสิ่งของให้ใครไหม เป็นไปในทานไหม หรือว่าเป็นไปในศีลคือการวิรัติทุจริตต่างๆ ไหม เป็นการอบรมเจริญภาวนามีการทบทวนสภาพธรรมหรือว่ามีเมตตากับคนอื่น หรือเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า ขณะนั้นถ้าเป็นธรรมฝ่ายที่เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา จึงจะมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย และถ้าจะมีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็จะเป็นอีกระดับหนึ่งที่ใช้คำว่าสัมปชัญญะจะต้องเกิดกับสติปัฏฐาน สัมปชัญญะคือความรู้ตัวทั่วพร้อมหรือว่ารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงรู้ทั่วถึงธรรมขณะนั้นโดยความเป็นธรรม จึงจะเป็นทั้งสติ และสัมปชัญญะซึ่งเป็นปัญญา
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีพื้นฐานความเข้าใจธรรมเลย แล้วก็ไปพบข้อความใดๆ ก็ตามแต่ ก็จะทำให้คิดเอง เข้าใจเอง ซึ่งไม่ตรงกับธรรมตามความเป็นจริงได้
ที่มา ...