เพื่อให้รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นธรรมและเป็นอนัตตา


    อ.นิภัทร เราจะเรียนปริยัติสักเท่าไหร่ก็แล้วแต่ ถ้าไม่ย้อนมากับชีวิตประจำวันของเราในวันหนึ่งๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อเห็น เมื่อได้ยิน เมื่อได้กลิ่น เมื่อรู้รสถูกต้องสัมผัส คิดนึก มันเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเราทดสอบอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ ไป เราจะมองเห็น เราจะได้ประโยชน์ของการศึกษา ไม่ใช่เรียนเพื่อจะรู้มากๆ เอาไปคุยกันเฉยๆ

    สุ. อันนี้ลืมไม่ได้เลยเพราะเหตุว่ามีสิ่งที่มีจริง และก็ปรากฏ เมื่อเกิดมาแล้วที่จะไม่มีอะไรปรากฏเป็นไปไม่ได้เลย แต่ว่าไม่ได้รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏซึ่งพิสูจน์ได้ แม้ว่าเราจะได้ฟังธรรมมามากน้อยสักเพียงใด แล้วก็จะฟังต่อไปอีก ไม่ว่าจะเป็นการฟังเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ด้วย แต่ว่าตั้งแต่ตื่นมา เรารู้ความจริงของจิตอะไรบ้าง หรือเจตสิกที่เราได้ยินว่ามีจำนวนเท่าไหร่ มีลักษณะยังไง และรูปเราก็ฟัง แต่ว่าต้องไม่ลืมว่าการฟังทั้งหมดเพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ในแต่ละภพในแต่ละชาติ คือเข้าใจสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา มิฉะนั้นจะรู้ได้เลยว่าเราฟังเท่าไหร่ในเรื่องของอวิชชา และตั้งแต่เช้ามาเรารู้อะไรบ้าง ตั้งแต่ตื่นมารู้อะไรบ้าง ถ้าไม่รู้เป็นอะไร ก็เป็นอวิชชา แม้ว่าจะได้ฟังเรื่องของสภาพธรรม แต่ก็ยังเป็นอวิชชาในขณะที่อกุศลจิตเกิด และมีใครที่จะรู้ว่าวันนี้มีกุศลเมื่อไหร่บ้างก่อนที่จะได้มาฟังพระธรรม หรือว่าก่อนที่ตื่นขึ้นแล้วก็ได้ฟังพระธรรม มีกุศล อกุศลอะไรบ้าง ก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้คิด และไม่รู้ด้วย เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เราฟังทั้งหมดจนกระทั่งถึงวันตาย ตั้งแต่จากโลกนี้ไป ประโยชน์ได้จริงๆ คือสามารถที่จะเข้าใจถูกว่าสิ่งที่มีจริงเป็นธรรมแล้วก็เป็นอนัตตาเท่านี้ เพราะเหตุว่าถ้าเรามีความจำที่เป็นพื้นฐานที่มั่นคงไม่ว่าจะฟังเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป แล้วก็ขยายไปอีกมากมายในพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎก พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ทั้งหมดเพื่อให้รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างซึ่งจะทำให้เราสามารถเข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ มิฉะนั้นแล้วก็ชื่อทั้งหมดเลย


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 222


    หมายเลข 11042
    31 ส.ค. 2567