เข้าใจธรรมตามลำดับขั้น
ผู้ฟัง อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวว่าสภาพจิตที่มองเห็น หรือจิตเห็นเป็นชาติวิบาก แต่ว่าขณะจิตที่คิดนึกต่อมาจะมีทั้งกุศล และอกุศล เมื่อคิดนึกต่อมาคิดว่าเป็นกุศล แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ สภาพธรรมจะเป็นอกุศลก็ได้
สุ. เพราะฉะนั้นไม่ใช่ให้คิดว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล แต่ให้เข้าใจธรรมตามลำดับขั้น เพราะเหตุใดแม้มีกุศลก็ไม่รู้ และมีอกุศลก็ยังไม่รู้อีกด้วย นอกจากบางประเภทเช่นโลภะที่มีกำลัง หรือว่าโทสะที่มีกำลัง อย่างนั้นพอที่จะบอกได้ว่าขณะนั้นเป็นโลภะแล้วเพราะว่ามีกำลัง และก็เป็นโทสะด้วย เป็นความขุ่นเคืองใจ แสดงให้เห็นว่าวันหนึ่งๆ ถ้าไม่กล่าวถึงเห็น ได้ยิน ซึ่งต้องมีแน่ นั่นคือวิบากหมายความว่าเลือกไม่ได้ว่าจะเห็นอะไร จะได้ยินอะไร แต่ทุกคนก็มีกรรมในอดีตที่จะทำให้มีตา หู จมูก ลิ้น กาย เดี๋ยวเห็น เดี๋ยวได้ยิน เดี๋ยวได้กลิ่น เดี๋ยวลิ้มรส เดี๋ยวรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ไม่ได้มีเพียงเท่านั้น นี่คือความจริง ไม่ได้มีแต่เฉพาะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง แต่ยังมีชอบ หรือไม่ชอบ แน่นอนในสิ่งที่ปรากฏ นี่แสดงให้เห็นว่าเราเริ่มเข้าใจ ความต่างกันของจิต เมื่อมีเห็นแล้ว หลังจากเห็นเป็นอะไร ต้องเป็นผู้ตรงใช่ไหม หลังจากเห็นคือปกติในชีวิตประจำวัน ชอบ หรือไม่ชอบที่ปรากฏแต่ละลักษณะของจิตอื่นยากที่จะปรากฏได้ เพราะว่าวันหนึ่งชอบโดยไม่รู้สึกตัว ตื่นขึ้นมาก็ไม่รู้แล้ว ความต้องการ ความติดข้องทั้งหมดเลย เป็นจิตฝ่ายไม่ดีเพราะมีความติดข้อง แล้วก็แยกไม่ได้เลย เพราะเหตุว่ากุศลเกิดน้อยมาก น้อยมากจนความเกิดบ่อยของอกุศลปิดบังไม่ให้เห็นว่าขณะใดเป็นกุศล นอกจากกุศลนั้นจะมีกำลัง อย่างเวลาที่เกิดจิตที่เมตตาก็ไม่รู้ว่าขณะนั้นต่างกับขณะที่โกรธ เพราะว่าจิตที่เป้นอกุศลจะมีมากกว่า แต่ถ้าเป็นจิตที่มีกำลังสามารถจะค่อยๆ พิจารณาได้ เวลาที่ไม่ชอบใครก็ตาม แล้วก็คิดตลอดเวลาถึงบุคคลนั้นด้วยความขุ่นใจ ถ้าจะมีความเข้าใจเกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นจะชัดเจนไหม หรือแม้แต่การที่จะเกิดสติระลึกขึ้นได้ว่าขณะนั้นเป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งถ้าไม่มีการฟังธรรมเลย จะคิดได้ไหม ก็โกรธไปเรื่อยๆ เหมือนหลายคนซึ่งไม่เคยระลึกได้เลยว่าขณะนั้นจริงๆ ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง แม้แต่เพียงความคิดที่ดี ก็เกิดไม่ได้ถ้าไม่ได้มีการสะสม และคิดแล้วก็หมดไป ความที่ขุ่นเคืองใจก็ไม่ได้หายไปเพราะเหตุที่อกุศลเกิดบ่อยมาก ก็ทำให้ไม่เห็นแม้กุศลที่เกิดเพียงเล็กๆ น้อยๆ
ที่มา ...