เข้าใจความต่างว่า ขณะที่คิดไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรม
ผู้ถาม อย่างที่ท่านอาจารย์แนะนำทุกวันว่าให้ระลึกรู้โดยไม่ต้องคิด อันนี้เป็นประโยชน์ ถูกทาง เพราะฉะนั้นฟังธรรมแล้วควรจะอบรมเจริญสติปัฏฐานถูกต้อง และเป็นสัญญาที่ระลึกรู้สภาพธรรมประการเดียว ถ้าไปพิจารณาสัญญาที่จำชื่อ ตัวเลข ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน และก็ไม่รู้ว่าตรงนี้จะมีประโยชน์หรือเปล่าด้วย
สุ. ธรรมเป็นเรื่องละเอียด ถูกต้องไหม จริงๆ ต้องรู้ว่าความละเอียดๆ มาก เพราะฉะนั้นเวลาที่กำลังคิดเรื่องของธรรม ไม่ใช่ขณะที่สติกำลังรู้ลักษณะ นี่คือทั้งหมดที่ได้กล่าวบ่อยๆ ว่ากุศลมีหลายระดับ ขั้นฟัง ขั้นพิจารณา ขั้นเข้าใจเรื่องราว กับขั้นที่กำลังรู้ลักษณะ ค่อยๆ เข้าใจความจริงของลักษณะนั้นว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้นความต่างกันก็คือว่าในขณะที่กำลังฟังต้องมีจิตคิดในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แต่ไม่ใช่เรา ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่าทั้งหมดจะกล่าวถึงเป็นชื่อภาษาบาลีหรือภาษาไทยก็ตาม เช่น มนสิการเกิดกับจิตทุกขณะ เป็นสภาพที่ใจในอารมณ์ คือขณะนี้เอง แต่ไม่ใช่เราต้องไปทำอะไร แต่สะสมความรู้ถูก ความเห็นถูกว่าไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งหมดก็เป็นธรรมทั้งนั้น เพราะฉะนั้นต้องรู้ความต่างกันของปัญญาหรือของสติตามลำดับขั้นว่าในขณะที่กำลังฟังเป็นกุศลขณะใด ต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง สติเป็นโสภณเจตสิกจะเกิดกับจิตที่เป็นโสภณเท่านั้น จะไม่เกิดกับอกุศลจิต แต่ถ้าวิบากนั้นเป็นโสภณ กิริยานั้นเป็นโสภณๆ เจตสิกก็เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจความละเอียดของธรรมว่าขณะใดก็ตามที่เป็นเพียงขั้นฟัง ขณะนั้นจะเป็นขั้นที่กำลังรู้ลักษณะที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวถึงความต่างกันว่าขณะที่เป็นสติปัฏฐานที่เกิดแล้วก็กำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นไม่ใช่คิด แต่ใครจะห้ามไม่ให้คิดห้ามไม่ได้เลย แต่ต้องสามารถที่จะมีความเข้าใจความต่างว่าขณะที่คิดไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด เพราะว่าส่วนใหญ่การคิดก็จะคิดเป็นคำ เป็นเรื่องราวของสภาพธรรมนั้น อย่างขณะที่แข็งปรากฏ บางคนก็เกิดจะคิดว่าแข็งเป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง อาจจะต่อไปถึงว่าปรากฏทางกาย นั่นคือคิด แต่ขณะใดก็ตามที่ลักษณะนั้นแม้ปรากฏกับจิตที่กำลังรู้แข็ง แต่ก็มีสติเกิดที่จะทำให้เห็นว่าเป็นความต่างของขณะที่กำลังรู้แข็งโดยที่สติสัมปชัญญะไม่ได้เกิดรู้แข็งนั้น เป็นแต่เพียงการรู้แข็งของจิตที่รู้ลักษณะของสิ่งที่กระทบกายว่าแข็ง แต่เนื่องจากการฟังเข้าใจก็จะรู้ว่าแข็งมีจริง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ และแข็งมีเพราะเป็นอายตนะต้องมีในขณะที่จิตเป็นมนายตนะกำลังรู้สิ่งนั้น และก็ต้องมีกายปสาทเป็นกายายตนะด้วย คือทั้งหมดนี่เป็นคำที่แสดงความละเอียดที่จะให้เห็นว่าแม้เพียงลักษณะแข็งที่มีจริง ก็เป็นสภาพธรรมซึ่งถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องก็จะรู้ว่ากำลังรู้ลักษณะหรือว่ากำลังคิดเรื่องราวของแข็ง เพราะฉะนั้นเวลาที่เป็นสติปัฏฐานไม่ใช่กำลังคิดคำ แต่กำลังมีลักษณะนั้นปรากฏที่จะค่อยๆ เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่าเป็นลักษณะซึ่งต่างกับลักษณะอื่น เพราะตลอดชีวิตก็จะมีลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทั้งนั้นเลย ทางตาก็เป็นธรรม ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งหมดเป็นธรรม แต่เมื่อไม่รู้ก็ค่อยๆ ฟังจนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจ จนกระทั่งเป็นปัจจัยที่จะทำให้มีการระลึกรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏซึ่งต่างกับคิด เพราะฉะนั้นก็สามารถที่จะรู้ขณะที่หลงลืมสติซึ่งต่างกับขณะที่สติสัมปชัญญะกำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าความรู้นั้นจะชัดเจนขึ้น ถูกต้องขึ้น
ที่มา ...