วิถีจิต-2


    จิตทุกประเภท จะมีลักษณะที่รู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ลักษณะของจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ที่กำลังปรากฏเท่านั้น ส่วนเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ทำกิจของเจตสิกนั้นๆ ไป

    เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเกิดขึ้นนึกถึงอารมณ์ พร้อมกับเจตสิกที่ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ ดับแล้ว เป็นปัจจัย ใช้คำว่า “เป็นปัจจัยให้” เมื่อเป็นเสียงที่กระทบกับโสตปสาท และวิถีจิตแรกเกิดขึ้นนึกถึงเสียงนั้นแล้ว ดับไปแล้ว จิตต่อไปก็เกิดขึ้นได้ยินเสียงสืบต่อ เพราะว่ามีจิตที่รู้ว่า มีอารมณ์ที่กระทบทางหู

    นี่คือความเป็นไปของธรรม ซึ่งเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง หรือบังคับบัญชาให้เป็นอย่างอื่นได้ แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า จิตเป็นธาตุรู้อารมณ์ เมื่อเกิดขึ้นแล้วรู้ แล้วก็ดับไป ไม่ใช่มีหน้าที่จะไปจัดแจงให้จิตต่อไปเป็นอะไรได้เลย แต่จิตที่จะเกิดต่อ เป็นไปตามธรรมนิยาม คือ เมื่อจิตที่นึกถึงอารมณ์ คือ อาวัชชนจิตดับไปแล้ว จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้เลยทั้งสิ้น สำหรับทาง ๕ ทวาร คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จะต้องเป็นจักขุวิญญาณที่เห็น หรือโสตวิญญาณที่ได้ยิน ฆานวิญญาณที่ได้กลิ่น ชิวหาวิญญาณที่รู้รสหรือลิ้มรสขณะนั้น และกายวิญญาณที่กำลังรู้สิ่งที่อ่อน หรือแข็ง เย็นหรือร้อนในขณะนี้

    เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้เองเป็นธรรม กำลังเห็น ให้ทราบว่า มีจิตที่เกิดก่อนซึ่งไม่ใช่ภวังคจิต และจิตนั้นดับไป โดยไม่รู้ว่า จักขุวิญญาณจะเกิดต่อ

    นี่คือการที่จะไม่มีคำถามอย่างนี้ ถ้าเข้าใจเรื่องลักษณะของจิต แต่ถ้าอ่านตัวหนังสือจำได้ ชื่อต่างๆ ก็จะเกิดสงสัย และมีภาษาหรือคำที่ชวนให้คิดว่า ถ้าเป็นจิต เช่น โวฏฐัพพนจิต ตัดสินอารมณ์ ก็เลยเข้าใจว่า เหมือนเป็นคนที่ตัดสิน แต่ความจริงแม้แต่ว่าเมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว กุศลจิต หรืออกุศลจิตจะเกิดต่อ ตามการสะสม เพียงแต่ว่าโวฏฐัพพนจิตจะเกิดก่อนกุศลจิต และอกุศลจิตทางปัญจทวาร และมโนทวาราวัชชนจิตจะเกิดก่อนกุศลจิต และอกุศลจิตทางมโนทวาร

    นี่เป็นการค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ เข้าใจ อย่าเพิ่งข้ามไป แต่ต้องเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังจริงๆ ว่า สภาพธรรมเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงลักษณะไม่ได้ แต่ว่าจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ก็รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏแล้วก็ดับ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 246


    หมายเลข 11836
    28 ส.ค. 2567