ไม่ใช่ฟังพระธรรม แล้วก็หาธรรมไม่เจอ


    สุกัญญา ทีนี้สภาวะที่อ่อนละคะ

    สุ. คงไม่ต้องกังวลเรื่องอ่อนเรื่องแข็ง ใช่ไหมคะ เพราะนั่นเป็นชื่อ เวลาที่อ่อนปรากฏ มีไหมคะ

    สุกัญญา จริงๆ แล้ว สภาพแข็งเป็นสภาพที่ชัดเจนมากกว่า

    สุ. ขณะที่อ่อนกำลังปรากฏ แข็งจะชัดเจนไหม

    สุกัญญ อ่อนปรากฏ แข็งก็ไม่ชัดเจน

    สุ. ค่ะ เพราะฉะนั้นธรรมเป็นธรรม เราไปคิดถึงคำที่เราชินหู พอได้ยินคำว่า ธาตุดินมีลักษณะ ๒ อย่าง คือ อ่อนหรือแข็ง ความสงสัยก็เกิดขึ้นว่า อ่อนกับแข็ง ต่างกันอย่างไร แต่ว่าตามความเป็นจริงแม้ไม่มีคำว่า “อ่อน” แม้ไม่มีคำว่า “แข็ง” แต่ลักษณะที่ปรากฏเมื่อกระทบกาย ขณะนั้นไม่ต้องเรียกชื่อเลย ไม่ต้องบอกว่าอ่อน ไม่ต้องบอกว่าแข็ง

    นั่นคือการเริ่มที่จะเข้าใจว่า สิ่งที่มีจริงๆ ชั่วขณะหนึ่ง เป็นลักษณะอย่างนั้น ซึ่งต่างกับลักษณะอื่นซึ่งปรากฏขณะอื่น

    สุกัญญา ไม่กล่าวว่า “อ่อน” และไม่กล่าวว่า “แข็ง” และไม่ต้องกล่าวว่า “ธาตุดิน” หรือไม่ต้องคิดว่าธาตุดินด้วย ใช่ไหมคะ

    สุ. การศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ต้องเข้าใจว่า เราไม่ได้ศึกษาเลื่อนลอย ไม่ใช่ฟังพระธรรม แล้วก็หาธรรมไม่เจอ ไม่เลื่อนลอยอย่างนั้น แต่เริ่มมีความเห็นถูก เข้าใจถูกว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ แล้วก็ปรากฏให้รู้ได้ในชีวิตประจำวัน เพียงแต่ว่าเมื่อไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่มีการเข้าใจความเป็นธรรมของสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เพราะความไม่รู้ และไม่เข้าใจจึงยึดถือสิ่งที่ปรากฏโดยความเป็นเรา เช่นขณะนี้เห็นมี เป็นเราเห็น ได้ยินมี เป็นเราได้ยิน แต่ว่าตามความเป็นจริง ได้เห็นจะเป็นใคร จะเป็นสัตว์ จะเป็นคน จะเป็นนก จะเป็นปู จะเป็นปลา เป็นไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าเห็นเป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่คิดถึงรูปร่างเลย ก็จะเป็นเพียงขณะที่เห็น กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เอง เท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้นธรรมเป็นสิ่งซึ่งใหม่ต่อคนที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน และเริ่มได้ยินได้ฟัง ก็จะรู้ว่า เป็นอีกโลกหนึ่ง ต่างกับโลกซึ่งเคยอยู่ ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวบุคคลต่างๆ แต่ว่าธรรมจริงๆ ปรากฏแล้วก็หมดไปอย่างรวดเร็ว


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 247


    หมายเลข 11849
    28 ส.ค. 2567