อารัมมณะ


    จิตเป็นสภาพที่เกิดขึ้นแล้วรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ภาษาไทยเราใช้คำในภาษาบาลีซึ่งไม่ตรงกับความหมายเดิม เพราะเมื่อจิตเป็นสภาพที่รู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตกำลังรู้ นี่เป็นเหตุเป็นผลหรือเปล่าคะ เมื่อมีสภาพรู้เกิดขึ้นต้องมีสิ่งที่กำลังถูกจิตรู้ในขณะนั้น สิ่งที่กำลังถูกจิตรู้ ภาษาบาลีใช้คำว่า “อารัมมณะ” บางแห่งก็จะเป็น “อารัมพนะ” แต่ความหมายคือสิ่งที่จิตกำลังรู้

    ขณะนี้มีเสียงในป่า เกิดขึ้นได้เมื่อมีเหตุปัจจัย ต้นไม้ล้มลงกระแทกพื้นแรงๆ เสียงก็มีปรากฏ ถ้ามีการได้ยิน แต่ถ้าแม้ว่ามีเสียงเกิดแล้ว แต่ถ้าไม่มีจิตที่ได้ยินเสียงนั้น เสียงนั้นก็ดับไป โดยที่ไม่มีจิตที่ได้ยินเสียงนั้นเลย

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่ว่าเป็นเราทั้งหมดวันนี้ ก็คือจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดขึ้นแล้วรู้สิ่งที่กำลังปรากฏแต่ละทาง เช่น ขณะนี้จิตเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู และจิตก็คิดนึกด้วย

    เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ถ้าไม่มีจิต เราจะมีไหม ไม่มีเลย แต่คำที่ควรจะเข้าใจ อย่างที่คุณวิชัยกล่าวถึง ก็คือว่า ควรจะได้รู้คำอีกคำหนึ่งด้วย เมื่อรู้ลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ก็ต้องเข้าใจอีกคำหนึ่ง คือคำว่า “อารมณ์” หมายถึงเฉพาะสิ่งที่จิตกำลังรู้ขณะใด สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังรู้สิ่งนั้น


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 249


    หมายเลข 11869
    28 ส.ค. 2567