เข้าใจลักษณะสภาพธรรมละเอียดขึ้น กว้างขวางขึ้น


    ผู้ฟัง เมื่อกี้ที่อาจารย์กล่าวว่า ฟังธรรมแล้วให้เริ่มสนใจ

    สุ. ที่จะเข้าใจ ไม่ใช่ฟังแล้วก็ไม่รู้ว่าฟังอะไร ฟังแล้วก็ไม่รู้ว่าสนใจอะไร หรือสนใจหรือเปล่า แค่ได้ยิน แล้วก็แค่สบายๆ แต่ไม่สนใจที่จะเข้าใจในสิ่งที่ได้ยิน

    ผู้ฟัง ถ้าเราสนใจว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ดอกไม้ ไม่ใช่สีที่เราเห็น หรือเสียงที่ได้ยินไม่ใช่เรื่องราว เมื่อเราสนใจก็จะมีตัวตนว่า นี่คือสิ่งที่ปรากฏทางตานะ ไม่ใช่ดอกไม้ มันก็จะบอกอย่างนี้ หรือเสียงก็เสียง แต่ว่าเราฟัง เรารู้เรื่องของเสียงนั้น หรือเราจะสนใจแข็ง พอรู้ว่ากายสัมผัสแข็ง เหมือนกับมีตัวตนของเราที่จงใจจะรู้ในสิ่งที่เราฟังว่าเป็นอย่างนั้น

    สุ. ค่ะ แต่หมายความว่า มีความสนใจที่จะรู้หรือเปล่า ขณะที่ฟังเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพียงฟังเฉยๆ หรือสนใจที่จะเข้าใจถูก มีความสนใจมนสิการที่จะฟังด้วยความตั้งใจที่จะเข้าใจ หรือว่าฟังแล้วก็วนไปวนมา

    ผู้ฟัง คิดว่าสนใจที่จะเข้าใจ แต่ว่า

    สุ. สนใจที่จะเข้าใจ ต้องฟังด้วยความตั้งใจที่สนใจจริงๆ ที่จะรู้ว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง กำลังพูดถึงอะไร ขณะนี้กำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏทางตา แล้วความจริงก็คือว่า สิ่งนี้สามารถจะปรากฏเฉพาะทางตา ไม่ปรากฏทางหู แล้วก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ข้าม และลืมที่จะเข้าใจลักษณะนี้ เพราะคิดเรื่องอื่นทั้งวัน ใช่ไหมคะ มีสิ่งที่ปรากฏทางตา คิดเรื่องดอกไม้ ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏทางตาต้องมี และเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นการฟังจะไปบังคับให้มีความเข้าใจทันทีในสิ่งที่ปรากฏไม่ได้เลย เพราะว่าต้องไม่ลืมว่า ก่อนหน้านั้นก็ได้ยินคำว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” ด้วย หมายความว่า ไม่มีใครสามารถสร้างหรือทำให้สภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นได้เลยทั้งสิ้น ต้องเป็นผู้ที่มั่นคง จริงใจ และก็รู้ว่าเปลี่ยนไม่ได้ แต่ว่าความเข้าใจบางครั้งก็เผลอไป คิดจะทำบ้าง แต่ตามความจริงก็คือ มีสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ แต่ว่าไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจถูกต้องในสิ่งนั้น จึงฟัง เมื่อฟังแล้วกว่าจะเข้าใจได้ บังคับไม่ได้เลย พยายามจะให้นึกสักเท่าไรว่า ขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ได้แค่คิด เพราะจำไว้

    เพราะฉะนั้นเริ่มมีความเข้าใจความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด ไม่ใช่เราไปนั่งคิดว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรมชนิดหนึ่งกำลังปรากฏ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ใช่ให้ไปนั่งคิดอย่างนั้น แต่ก็จะรู้ความต่างกันของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดกับหลงลืมสติ ถ้าสติสัมปชัญญะยังไม่เกิด ก็เป็นแต่เพียงการจำเรื่องราวจึงคิด แม้คิดขณะนั้นก็เพราะได้ยิน เคยได้ยินมา แล้วก็สนใจ แล้วก็จำในสิ่งที่ได้ยิน

    เพราะฉะนั้นก็มีกาลที่เกิดความคิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาขึ้น แต่ก็เป็นเพียงความคิด แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ ก่อนนั้นไม่เคยเห็นความเป็นตัวตน แต่พอมีการเป็นตัวตนเกิดขึ้น รู้ได้เลยว่า นี่แหละเป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องรู้ชัดจนดับความเป็นตัวตน ไม่เหลือ

    เพราะฉะนั้นก็จะมีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ละเอียดขึ้น กว้างขวางขึ้น ว่าแม้ขณะนั้นมีสิ่งที่ปรากฏทางตา มีความคิดเรื่องสภาพธรรม มีการเห็นเป็นดอกไม้ แต่ก็ยังมีลักษณะที่เป็นตัวตนเกิดขึ้นให้เห็น ถ้าขณะนั้นไม่มีลักษณะที่เป็นตัวตนเกิดขึ้นให้เห็น จะไม่รู้เลยว่า ปัญญาที่ได้ฟังมาเพื่อที่จะดับความเป็นตัวตน ในขณะที่เริ่มปรากฏให้เห็นว่าเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นแสดงว่า การพยายามสนใจในสิ่งที่ฟัง และเข้าใจ ก็ไม่ต้องเอามาคิดแบบที่เป็นอยู่ คือ จะต้อง ...

    สุ. พยายามหากฎนะคะ ไม่ต้องอย่างนี้ หรือเอาอย่างนี้ ไม่ได้เลยค่ะ นี่คือยังไม่เข้าใจ ถ้าเข้าใจก็คือว่า ขณะนี้มีธรรม แล้วแต่ว่าอะไรจะปรากฏหรือเกิดขึ้น จะคิดหรือไม่คิดก็แล้วแต่ ไม่ใช่ว่าจะต้องไปคิด คิดห้ามได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง คิดก็เป็นธรรม เป็นอนัตตา

    สุ. เพราะฉะนั้นขณะที่คิด ไม่รู้เลยว่า คิดเพราะเหตุปัจจัย แต่จะมีกฎเกณฑ์ว่าต้องคิด ก็ผิดอีก เพราะฉะนั้นเรามีการเห็นผิด และมีหนทางผิดมาก ปัญญาเท่านั้นที่สามารถจะเห็นว่าผิด แล้วค่อยๆ ละความผิดนั้นจนกว่าจะหมด

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็ต้องสรุปว่า ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ

    สุ. ค่ะ ฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เป็นปกติ นี่มาห่วงตัวเอง แล้วมาห่วงความคิดว่า แล้วความคิดนั้นจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องยิ่งขึ้นหรือคะ ก็เป็นเรื่องธรรมดา คือ ธรรมทั้งหมดเมื่อไรรู้ว่าเป็นธรรม แล้วก็เป็นธรรมดา จะค่อยๆ คลายเป็นตัวตน


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 256


    หมายเลข 11951
    28 ส.ค. 2567