ไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา
สุ. เพราะฉะนั้น เห็นมีแน่นอน กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ได้ยินมีแน่นอน เพราะเสียงกำลังปรากฏกับจิตที่ได้ยิน เรากำลังเข้าถึงสภาพที่เป็นจิตก่อน แต่ว่าทั้งๆ ที่กำลังได้ยิน ฟังเพลง ชอบไหมคะ ดนตรีบางชนิด ทั้งๆ ที่ไม่หายไปเลย ยังมีการได้ยินอยู่ แต่ก็ชอบเสียงที่ได้ยินได้ เพราะฉะนั้นลักษณะที่ได้ยินเป็นอย่างหนึ่ง ลักษณะที่ชอบไม่ใช่จิตที่ได้ยิน เพราะเหตุว่าบางครั้งได้ยินก็ไม่ชอบ บางครั้งได้ยินก็ชอบ แต่สภาพที่ได้ยินก็คงได้ยินอยู่นั่นแหละ
ด้วยเหตุนี้ ชอบหรือไม่ชอบ จึงไม่ใช่จิตที่ได้ยิน แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต จะไม่เกิดกับสภาพธรรมอื่นได้เลย เกิดกับรูปไม่ได้ สภาพที่มีจริง ก็คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน
เพราะฉะนั้นสำหรับเจตสิกต้องเกิดกับจิต โดยเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต ขณะจิตได้ยินเสียง ขณะนั้นจะมีความรู้สึกสบาย หรือไม่สบายทางใจ ถ้าเป็นเสียงดังมากๆ ตอนกลางคืนดึกๆ พอได้ยินแล้วเป็นอย่างไรคะ ตกใจ ไม่สบายเลยที่ได้ยินเสียงนั้น เสียงปรากฏเพราะจิตกำลังได้ยิน แต่ความรู้สึกไม่สบายขณะนั้น เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกิดกับจิต หรือว่าถ้าตอนดึกตื่นขึ้นมา เสียงดนตรีเพราะ ก็คงได้ยินเป็นได้ยิน เสียงก็เป็นเสียง ได้ยินไม่ใช่เสียง และเสียงก็ไม่ใช่ได้ยิน แต่ความรู้สึกโสมนัสหรือพอใจ หรือสบายใจที่ได้ยินเสียงนั้น ก็สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้จิตเป็นจิต และเจตสิกเป็นเจตสิก แต่ว่าทั้ง ๒ อย่าง ปราศจากกันไม่ได้เลย ที่ใดมีจิตเกิดขึ้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และไม่ว่าเจตสิกใดจะเกิด ขณะนั้นก็ต้องมีจิตเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง และอย่างที่เราบอกว่า จิตกับเจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน ทีนี้เราได้ยินเสียงเพลงเพราะๆ เราก็ชอบ เจตสิกชอบ แต่เสียงเพลงดับไป หมดไป เราก็ยังชอบเสียงเพลงนั้นอยู่ อันนี้จะอธิบายอย่างไรครับ
สุ. ชอบเสียงที่จำได้ เมื่อเสียงนั้นดับไปแล้ว แต่ยังจำได้
ผู้ฟัง ก็เป็นการชอบ สัญญาเจตสิกอีก
สุ. เพราะฉะนั้นชีวิตวันหนึ่งๆ เต็มไปด้วยความไม่รู้ และกว่าจะรู้ได้ ก็คือค่อยๆ เข้าใจอย่างมั่นคง ขณะที่กำลังพูดเรื่องจิต และเจตสิก มีความเข้าใจอย่างมั่นคงในขั้นการฟังว่า จิตมี เจตสิกมี จิตไม่ใช่เจตสิก และเจตสิกไม่ใช่จิต เข้าใจขั้นนี้ก่อน และค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นว่า สภาพของเจตสิกทั้งหมดไม่ใช่มีอย่างเดียว โลภะ ความติดข้องเป็นอย่างหนึ่ง ความชอบเป็นอย่างหนึ่ง ความไม่ชอบเป็นอีกอย่างหนึ่ง ความเมตตาเป็นอย่างหนึ่ง ความริษยาเป็นอย่างหนึ่ง ทั้งหมดเป็นเจตสิก แต่จิตเป็นสภาพที่เกิดขึ้นเมื่อไร ก็รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ มีหน้าที่อย่างเดียว คือ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ รู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นอย่างไร จิตกำลังรู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่ใช่ความเห็นถูก ซึ่งเป็นเจตสิกอีกอย่างหนึ่งด้วย
ด้วยเหตุนี้เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท เป็นเจตสิกที่สามารถเกิดกับจิตทุกประเภทได้ หรือเป็นเจตสิกที่สามารถเกิดได้เฉพาะสภาพธรรมที่เป็นอกุศลเท่านั้น ไม่เกิดร่วมกับสภาพธรรมที่เป็นกุศลเลย กับสภาพเจตสิกที่เป็นโสภณที่ดีงาม
ด้วยเหตุนี้ชีวิตเราตั้งแต่เกิดมา ไม่พ้นจากจิต เจตสิก และรูป แต่ไม่เคยเข้าใจจนกว่าจะได้ฟังพระธรรม ซึ่งเมื่อกล่าวว่าเป็นธรรม ก็คือว่า ไม่ใช่เรา จิตเป็นจิต เจตสิกเป็นเจตสิก รูปเป็นรูป ทั้งหมดเป็นธรรมที่เป็นอนัตตา
เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ไม่ใช่มุ่งไปจำชื่อ แต่ว่าชื่อใดที่ได้ยิน อย่าข้าม จนกว่าจะมีความเข้าใจจริงๆ ขั้นฟัง ซึ่งขั้นฟังไม่พอที่จะดับกิเลส ความไม่รู้ เพราะความไม่รู้มีมาก สะสมมาเนิ่นนาน ต้องฟัง และสามารถที่จะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมนั้นด้วยปัญญาที่เจริญขึ้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้งความจริงว่า ไม่ใช่เราเลยสักอย่างเดียว
ที่มา ...