สติ


    ผู้ฟัง คำว่า สติกับจิต สติรู้จิต หรือจิตรู้สติ ที่จริงจิตกับสติอยู่ดัวยกัน ไปด้วยกัน แยกกันไม่ออก เพราะฉะนั้นพูดถึงสติ ก็หมายรวมถึงจิตด้วยใช่ไหม

    สุ. เรากำลังศึกษาเพื่อเข้าใจชัดเจน ไม่เปลี่ยนแปลง ตามลำดับขั้น เพราะฉะนั้นขณะนี้กำลังจะเข้าใจเรื่องของจิตกับเจตสิก ที่จะไม่สับสน ถูกต้องไหมคะ ถ้าเป็นความเข้าใจจริงๆ ก็จะรู้ได้ว่า พอได้ยินสภาพธรรมอะไรในชีวิตประจำวัน เช่น ขยัน มีจริงๆ ไหมคะ มี หรือความโกรธ ก็มีจริงๆ ทั้งหมดเป็นเจตสิก เพราะว่าจิตเป็น สภาพรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    สิ่งที่จิตรู้ ใช้คำว่า “อารัมมณะ” หรือ “อารัมพนะ” หมายความถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้ จิตมีหน้าที่เดียว เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้ลักษณะ ไม่โกรธ ไม่จำ ไม่ระลึก แต่ก็มีคนได้ยินคำว่า “สติ” เพราะภาษาไทยเราก็ใช้ภาษาบาลีหลายคำ ปัญญาก็ใช้ สติก็ใช้ แต่ถ้าเป็นความเข้าใจจริงๆ ก็จะต้องพิจารณาให้เข้าใจว่า เมื่อสภาพธรรมมี จิต เจตสิก รูป จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการกำลังเห็น กำลังมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏทางตา กำลังได้ยินขณะที่มีเสียงปรากฏ แต่ว่าสภาพธรรมอื่นๆ ทั้งหมด ที่เกิดกับจิต ไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิก

    เพราะฉะนั้นเวลาได้ยินคำว่า “สติ” ในภาษาไทย อธิบายได้ไหม หรือว่าใช้ตามไปเลย โดยที่ไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงแล้ว คำว่า “สติ” ในภาษาบาลีที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้คำนี้ ต้องเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เป็นโสภณ เพราะฉะนั้นจะไม่เกิดกับอกุศล และกุศลกับอกุศลก็ต้องแยกกัน ให้เข้าใจถูกต้องว่า สภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดี เช่น โลภะ โทสะ โมหะ จะมีสติเกิดร่วมด้วยไม่ได้ แต่ถ้าสติเกิดขึ้นขณะไหน ก็จะเป็นธรรมฝ่ายดี คือ เป็นกุศล เป็นไปในทานบ้าง เป็นไปในศีลบ้าง เป็นไปในความสงบจากอกุศลบ้าง หรือเป็นไปในการเข้าใจธรรม จะโดยการฟัง โดยการไตร่ตรอง หรือโดยการรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏก็ได้ เพราะสติจริงๆ สภาพที่ใช้คำว่า “สติ” เป็นสภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศล หรือจะใช้คำว่า เกิดขึ้นเป็นไปในกุศลก็ได้

    เพราะฉะนั้นภาษาไทยเราที่พูดว่า “เดินดีๆ เดี๋ยวหกล้ม ไม่มีสติ” อันนั้นก็ไม่ถูกต้อง ยังไม่ชัดเจน เพราะเหตุว่าสติต้องเป็นไปในขณะที่เป็นกุศล อย่างกว้างๆ ความจริงแม้ไม่ใช่กุศล ก็มีสติเกิดร่วมด้วย เพราะจิตที่เป็นผลของกุศล ก็ยังมีสติเกิดร่วมด้วย

    นี่เป็นความละเอียดของชีวิตประจำวัน ซึ่งจะฟังทันทีให้เข้าใจทั้งหมดไม่ได้ แต่ว่าเมื่อฟังสิ่งใด เข้าใจสิ่งนั้นอย่างถ่องแท้ จะทำให้เมื่อได้ยินคำหนึ่งคำใดต่อไปข้างหน้า จะไม่สับสน สามารถจะเข้าใจได้ถูกต้องในคำที่ได้ยินแล้ว และเข้าใจแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำว่า จิต เจตสิกแล้ว ก็ให้เข้าใจจิต เจตสิก และให้รู้ว่า เจตสิกฝ่ายดีก็มี ฝ่ายไม่ดีก็มี สำหรับสติ ต้องเป็นสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล ฝ่ายดี แค่นี้ค่ะ ค่อยๆ ไปทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง ก็แสดงว่า สติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาเองตามเหตุตามผล จะไปรู้ความดีความชั่วหรือไม่นั้น ไปจัดสรรไม่ได้ บางแห่งบอกให้พยายามมีสติ

    สุ. นั่นคือไม่ได้ศึกษาตามลำดับ เพราะฉะนั้นเราจะทิ้งส่วนที่ทำให้เราสับสน และไม่เข้าใจ แต่จะเริ่มจากเมื่อฟังสิ่งใด ก็เข้าใจในสิ่งนั้น โดยไม่สับสน

    นี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะว่าถ้าสับสนตั้งแต่ต้น ก็สับสนไปตลอด แต่ถ้าเข้าใจจริงๆ ถูกต้องตั้งแต่ต้น ก็จะค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นตามลำดับได้


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 262


    Tag  สติ  
    หมายเลข 12005
    27 ส.ค. 2567