รู้แข็งตามธรรมดา - รู้ลักษณะ
อ.กุลวิไล ขอเพิ่มเติมเรื่องการฟังเพื่อความเข้าใจในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งท่านอาจารย์จะย้ำให้เรามีความเห็นถูกก่อน เพราะจริงๆ แล้ว ไม่ใช่ปัญญาไม่รู้อะไร ปัญญารู้ความต่างกันระหว่างปรมัตถธรรมกับบัญญัติ แต่ไม่ใช่ฟังแล้วอยู่แต่ในโลกของปรมัตถ์ โดยที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะว่าขณะนี้ก็มีธรรมที่เป็นอารมณ์ของจิต แล้วก็มีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ แต่ขณะเดียวกัน ถ้าจะเป็นปัจจัยให้สติรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นการอบรมความเห็นถูกนั่นเอง เพราะขณะนี้เสียงก็มี เห็นก็มี และมีสิ่งที่ปรากฏทางตาด้วย เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ ก็ต้องเป็นจากการฟังก่อน ฟังแล้วก็มีการพิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ เพราะถ้าหากเราไม่ได้ยินไม่ได้ฟังพระธรรม เราจะรวม ๖ ทางเป็นเราตลอด แต่จริงๆ แล้วสภาพธรรมเกิดขึ้นแต่ละทาง ไม่ปะปนกัน ท่านถึงใช้คำว่า อินทรีย์ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นใหญ่แต่ละทาง แต่ถ้าหลงลืมสติ ก็จะเป็นเราเห็น เราได้ยิน และเราคิดนึกด้วย แต่ถ้าเป็นการอบรมปัญญาที่จะเห็นถูกในสภาพธรรมที่ปรากฏแล้ว ต้องค่อยๆ ศึกษาแต่ละทาง เพราะสิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่ในขณะนี้ แต่ความหลงลืมสติมีมาก ทั้งๆ ที่ได้ยินได้ฟังมากมาย อกุศลมีกำลังก็ยากที่จะรู้สภาพธรรมที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ ซึ่งก็เห็นความเป็นอนัตตา แต่เห็นว่า ปัจจัยนี่มี คือ การฟังพระธรรม ขาดการฟังไม่ได้ ฟังแล้วก็ไตร่ตรองพิจารณาลักษณะที่มีจริงในขณะนี้
สุ. ขณะนี้กำลังสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในขณะที่ฟัง เมื่อไรก็ตาม ให้ทราบว่า เป็นการสะสมความเข้าใจถูก ความเห็นถูกตามลำดับขั้น จนกว่าจะรู้แจ้งธรรมตรงตามที่ได้ฟัง
อ.วิชัย รู้สึกว่าขณะที่คิด ระหว่างที่มีความรู้สึกตัวกับขณะที่หลงลืมสติ ขณะที่หลงลืมสติไม่มีความรู้สึกตัวในขณะนั้น คล้ายๆ กับความรู้สึกตัว ก็รู้ว่าขณะนั้นมีสภาพธรรมที่มีอยู่ คือเป็นธาตุรู้ สภาพรู้ที่รู้สึกตัวขณะนั้น และรู้เพียงแค่นั้นเอง แล้วก็มีธรรมปรากฏ แล้วก็รู้เพียงแค่นั้นเอง
สุ. พราะฉะนั้นแค่นั้นเอง ก็ต้องเพิ่มแค่นั้นเอง แค่นั้นเอง แค่นั้นเอง จนกว่าจะแค่นั้นเองที่ไม่ใช่เรา เพราะแค่นั้นเอง
เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะแม้ว่าขณะนี้จะมีสภาพธรรมปรากฏ แค่นั้นเอง คือ ขณะที่เห็นก็แค่นั้นเอง คือ กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏว่า เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่แค่นั้นเองในความคิด แล้วแค่นั้นเองในการชินกับลักษณะ ซึ่งจะค่อยๆ คลายการที่เคยยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาทันทีว่าเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ยังมีโอกาส กาลที่มีการเข้าใจว่า เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเท่านั้นแทรก ซึ่งแต่ก่อนนี้ก็จะเป็นเห็น แล้วก็เป็นเรื่องเป็นราวของสิ่งที่ปรากฏทันที
อ.อรรณพ พื้นฐานการเข้าใจอภิธรรม มีการน้อมไปที่จะเข้าใจธรรมตั้งแต่ขั้นการฟังในขณะนี้ ที่จะสะสมทำให้เข้าใจถูก เห็นถูก แล้วรู้ว่าเป็นเรื่องของสภาพธรรม มิฉะนั้นก็จะมีคำถามว่า จะปล่อยไปสบายๆ หรือมีตัวตนที่ต้องทำ แม้สติปัฏฐานยังไม่เกิด แต่ปัญญาที่เข้าใจความจริง ก็คือสภาพธรรมที่มีอยู่ ก็เป็นการเข้าใจอริยสัจจะ รอบแรก คือ สัจญาณ
สุ. ก็ขอต่อเรื่องที่คุณวิชัยกล่าวถึงเมื่อกี้นี้อีกเล็กน้อย เพราะเหตุว่าฟังแล้ว ถ้าฟังเผินๆ จะรู้สึกว่า เท่านั้นเอง แต่ใครกำลังเท่านั้นเอง
เห็นไหมคะ ไม่ใช่ เท่านั้นเอง ไปหมด เพียงแต่ว่าขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิด ขณะนั้นมีสภาพธรรมปรากฏ แม้แต่เราก็เท่านั้นเอง แต่ขณะนั้นเป็น เรา ที่เท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้นก็ยังไม่ได้ละการที่จะรู้จนทั่ว เพียงแต่ว่าเมื่อสติสัมปชัญญะเกิด มีลักษณะของสภาพธรรมใด ขณะนั้นกำลังปรากฏ ก็เริ่มที่จะเห็นว่า ลักษณะของสภาพธรรมนั้นเป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ
เพราะฉะนั้นที่ใช้คำว่า “รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม” ก็หมายความว่า ไม่ใช่เราไปคิดเรื่องอื่น พยายามทำให้เป็นอย่างอื่น แต่ทันทีที่สติเกิด กำลังมีลักษณะหนึ่ง ลักษณะจริงๆ กำลังเป็นอารมณ์
เพราะฉะนั้นถ้าขณะนั้นมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะรู้ว่า สติเป็นอนัตตา เราไม่ได้จงใจให้สติไประลึกที่สภาพธรรมอะไร แล้วแต่ว่าสติขณะนั้นเกิด และผู้นั้นก็จะรู้ว่า มีปัจจัยที่จะทำให้สติสัมปชัญญะเกิดรู้ลักษณะนั้น แต่ว่ายังไม่ได้รู้ลักษณะอื่น เช่น อาจจะรู้ลักษณะที่แข็ง และก็เข้าใจความหมายของคำว่า “ตามรู้” เพราะเหตุว่าแข็งปรากฏกับกายวิญญาณเป็นปกติ ทุกคนที่มีกายวิญญาณ ก็รู้ว่ามีแข็ง แข็งกำลังปรากฏ แต่เมื่อได้ฟังธรรม ก็จะรู้ความต่างว่า รู้ลักษณะ ไม่ใช่เพียงแต่รู้แข็งตามธรรมดา อย่างที่ใครๆ ก็รู้ แต่เมื่อมีความเข้าใจก็รู้ว่า ลักษณะที่แข็งเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง
อันนี้ไม่ได้หมายความว่าให้คิดอย่างนั้น ในขณะที่แข็งปรากฏ แต่จากที่ฟังแล้วเข้าใจว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถทำให้แข็งเกิดขึ้นได้เลย เพราะฉะนั้นแข็งมีจริงๆ ปรากฏเพราะเกิดแล้ว และขณะนั้นก็มีสติสัมปชัญญะที่รู้ลักษณะที่แข็ง ขณะนั้นจึงไม่ใช่เรา ชั่วขณะธรรมดาปกติอย่างนี้ จะเห็นความปกติของการที่สติสัมปชัญญะเกิดกับไม่เกิด
เพราะฉะนั้นความรู้ที่มีเพียงเล็กน้อย จะต้องเล็กน้อยมาก เพราะเหตุว่าไม่ได้เกิดบ่อยๆ จนกระทั่งทั่ว จนกระทั่งสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่แข็ง เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง
เพราะฉะนั้นการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น บุคคลนั้นก็จะรู้ได้ว่า ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด เราก็เพียงแต่จะพูดเรื่องลักษณะของแข็ง แต่แข็งไม่ได้ปรากฏ
ที่มา ...