ฟังแล้วเข้าใจขึ้นจนกว่าจะรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา


    ผู้ฟัง อย่างเมื่อวานนี้เราศึกษาพระสูตร ท่านพระสารีบุตรท่านก็มีปริวิตกของท่านเองว่า เออ อะไรหนอ เออ อะไรหนอ เราก็ไม่ได้คิดถึงขนาดนั้น เพียงแต่ว่า ทำไมเราไม่เป็นอย่างนี้สักที อะไรหนอทำให้เราคิด แล้วไปนั่งสงบสักหน่อยหนึ่ง อย่างนี้ไม่ได้หรือครับอาจารย์

    สุ. ก็เราไม่ใช่ท่านพระสารีบุตร

    ผู้ฟัง ผมก็คิดอย่างนั้น ตามรอยเท้าท่านนิดหน่อย

    สุ. รอยเท้าท่านก่อนท่านจะรู้ ก่อนท่านอบรมเจริญปัญญาอย่างไร นานแค่ไหน ตามรอยเท้าก็ต้องตามจริงๆ เพราะฉะนั้นความจริงใจตรงกับที่เรามีต่อพระศาสนา หรือไม่ใช่ความจริงใจเลย จริงใจต่อความเป็นตัวตน ไม่ได้จริงใจต่อการที่จะเข้าใจถูก เห็นถูกในความจริงของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น ๒ อย่าง ก็ไม่สามารถทำให้รู้ความจริงได้ ถ้ายังคงมีความจริงใจต่อความเป็นตัวตน ภักดีต่อความเป็นตัวตน ต้องการให้ตัวตนเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ทุกทาง แม้แต่การฟังธรรม ก็เพื่อตัวตน อย่างนั้นก็จะไปไหนได้ เพราะเหตุว่าไม่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรมว่า เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นถ้ามีความจริงใจที่เป็นสัจบารมี จริงใจที่จะเข้าใจถูก เห็นถูก เพราะเหตุว่าที่จะไปประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม หรือว่ารู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยไม่มีความเข้าใจถูก ความเห็นถูกในสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นไปไม่ได้แน่นอน แล้วเราจะไปฝืนให้เป็นอย่างหนึ่งอย่างใด

    ผู้ฟัง กระผมคิดว่า อยากจะพิสูจน์ว่า สิ่งที่เราเข้าใจเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

    สุ. ขอโทษนะคะ “ผมอยากจะพิสูจน์” นี่ก็ผิดแล้ว

    ผู้ฟัง ละเอียดจริงๆ

    สุ. ละเอียดมากค่ะ เราจะไม่รู้เลยว่า สภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อมาจนถึง ณ บัดนี้ ปรุงแต่งอย่างไร สำหรับพระโพธิสัตว์ เพียงแต่ท่านฟังเรื่องการเบียดเบียน ท่านรู้สภาพจิตในขณะนั้นว่า ขณะนั้นจิตท่านเบียดเบียน และเราคิดอย่างนั้นหรือเปล่าคะ เราฟังเรื่องการเบียดเบียน คนโน้นประทุษร้ายคนนี้ ที่นี่ ที่นั่น แต่ขณะนั้นเราไม่รู้เลยว่า เพราะว่าปัญญาเราไม่ถึงการเข้าใจความจริงว่า แม้ขณะนั้นจิตที่รู้อย่างนั้น ก็เป็นการเบียดเบียน

    ผู้ฟัง ผมต้องกราบเรียนท่านอาจารย์ด้วยความเคารพ ตอนเย็นจะนอน ลงมานอนเก้าอี้ไม้ให้มันแข็ง มันก็แข็ง เพื่อจะพิสูจน์ว่า แข็งเป็นอย่างไร อย่างนี้ผิดหรือครับ

    สุ. แน่นอนค่ะ เพราะว่า “เรา”

    ผู้ฟัง และเมื่อไรจะรู้จริงสักที

    สุ. ฟังจนกระทั่งไม่มีเรา

    ผู้ฟัง ก็ฟังธรรมเหล่านี้มาทุกอาทิตย์

    สุ. แต่เป็นเราฟัง และมีจุดประสงค์ด้วยเพื่อจะไปพิสูจน์ แล้วพิสูจน์ก็ไม่ได้ เพราะว่าตามปกติต้องไม่ลืม ธรรมเป็นปกติ ซึ่งคนไม่รู้ไม่เข้าใจ จนกระทั่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของธรรมตามปกติ ซึ่งคนธรรมดาไม่ได้รู้ ไม่ได้เข้าใจ แล้วทรงแสดงความจริงของธรรมที่มีตามปกติ คุณเด่นพงศ์ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีแข็ง แต่พอจะไปหาแข็งมาพิสูจน์ ไม่มีแข็ง ต้องลงไปนอนที่พื้น ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ครับ

    สุ. นี่อะไรคะ ชีวิตธรรมดามีแข็ง

    ผู้ฟัง มันไม่เห็นครับ

    สุ. ไม่ใช่ให้เห็นค่ะ ให้เข้าใจถูกว่าแข็งมีเป็นปกติ

    ผู้ฟัง ก็อยากเข้าใจให้ถูกว่า แข็งคืออะไร

    สุ. แข็งมีเป็นปกติ คุณเด่นพงศ์จะไม่รู้แข็งไม่ได้เลย แม้ขณะนี้ก็มีแข็งปรากฏ

    ผู้ฟัง แต่ไม่รู้ว่าแข็งครับ

    สุ. ไม่ใช่ให้คุณเด่นพงศ์ไปให้ตัวตนรู้ ให้รู้ลักษณะว่าแข็งเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรม ใครทำให้เกิดขึ้นได้หรือเปล่า และความจริงแข็งที่ปรากฏก็เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่ใช่ให้มีตัวตนไปพยายามให้ประจักษ์การเกิดดับด้วยความไม่รู้อะไรเลย นั่นผิดค่ะ เป็นการค่อยๆ เข้าใจ สะสมความรู้ถูก ความเห็นถูก ตามขั้นของสติ จนกระทั่งถึงขั้นของสติปัฏฐาน สตินทรีย์ สติพละ สติสัมโพชฌงค์ แล้วนี่ไม่มีอะไรเลย ก็จะไปพยายามให้ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมอะไรกัน

    เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงให้เห็นว่า ฟังธรรม ไม่ได้เข้าใจธรรม ไม่ได้เข้าใจความละเอียดขึ้นว่า เพราะฟังแล้วเข้าใจขึ้น จึงรู้ถูกว่าเป็นธรรม แข็งอย่างนี้ ตามธรรมดา จนกว่าจะรู้ว่าเป็นธรรม

    ถ้าตามลักษณะขณะนี้ แข็ง มี ดับแล้วในเมื่อเห็นมี ดับแล้วในเมื่อได้ยินมี

    ผู้ฟัง ก็รู้ครับ

    สุ. รู้ไม่ได้ค่ะ จำ

    ผู้ฟัง รู้ว่าอาจารย์พูดว่าอย่างนั้น

    สุ. เพราะฉะนั้นไม่ใช่ไปจำคำ แต่ให้เข้าใจลักษณะ เข้าใจขึ้นในความเป็นธรรมว่า จริงๆ ขณะที่แข็งปรากฏ ไม่มีอย่างอื่นเลย นี่คือเริ่มจะเข้าใจ เพราะว่าขณะนั้นกำลังรู้เฉพาะลักษณะแข็ง ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรม นั่นคือความหมายของ ปฏิปัตติ

    ผู้ฟัง ต้องกราบท่านอาจารย์ และต้องขออภัยที่แอบทำอย่างนี้มาเรื่อยๆ จริงๆ ครับ คือ มันอยากรู้

    สุ. ค่ะ โลภะพาไปแล้ว ไม่ปล่อยให้คุณเด่นพงศ์ไปไกลเลย แค่ปล่อยให้มาฟังนิดหน่อย พอกลับไปก็ครอบครองอีกแล้ว เป็นครูเป็นศิษย์กันต่อไปอีก แต่ก็ยังดีที่มีปัจจัยที่ทำให้ฟังค่ะ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 274


    หมายเลข 12088
    27 ส.ค. 2567