ไม่รู้ลักษณะของความคิดนึกที่มันเกิดขึ้นคนละทวาร
ผู้ฟัง ลักษณะของทางใจ พิจารณาในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ก็เนื่องมาจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทีนี้ถ้าอารมณ์ไม่เนื่องมาจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทางใจล้วนๆ มีไหมคะ
สุ. คุณสุกัญญาเคยคิด หรือเปล่า
ผู้ฟัง ถ้าคิดก็คิดต่อจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
สุ. ยังไม่เห็นคิดได้ไหมคะ
ผู้ฟัง ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องราว บัญญัติ
สุ. ก็คิดได้ ไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็คิดได้ ชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร ไม่เปลี่ยน แต่ค่อยๆ เข้าใจความจริง อย่างคุณสุกัญญาก็เห็นธรรมดาๆ บ่อยๆ ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก นี่คือชีวิตประจำวันธรรมดา แต่พอฟังธรรม ก็รู้ว่าต่างกันเป็นแต่ละทาง คือ รู้ความจริงของสิ่งที่มีเป็นปกติ ไม่ใช่พอฟังธรรมแล้ว เลยไปหาอะไรก็ไม่เจอสักอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อย่างนั้นนะคะ แต่สิ่งที่มีอยู่แล้วเข้าใจขึ้นว่า ขณะที่กำลังเห็น ไม่ใช่ขณะที่คิด เพราะต้องอาศัยจักขุปสาทเป็นทาง เป็นทวาร สีสันวัณณะที่เป็นธาตุที่มีจริง จึงสามารถปรากฏเปิดเผยให้เห็นได้ เห็นจริงๆ เพราะฉะนั้นไม่ใช่คิด กำลังเห็นไม่ใช่คิด
นี่ก็เป็นชีวิตตามความเป็นจริงในแต่ละวัน ซึ่งก่อนนี้ก็ไม่ได้แยกแต่ละทวาร แต่พอเข้าใจธรรมก็เห็นความเป็นธรรมว่า เป็นชั่วขณะที่มีการเห็นเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ก่อนที่จิตทางอื่นจะเกิดขึ้นได้ ทำให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรม ซึ่งก็มีเป็นปกติ ต่อไปก็เป็นปกติ กี่ภพกี่ชาติก็เป็นปกติอย่างนี้ แต่จะค่อยๆ รู้ ค่อยเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่มีเป็นปกติ ไม่ใช่พอฟังธรรมแล้ว เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องไปหา ต้องไปทำ ต้องไม่รู้ แต่จากการที่ไม่เคยรู้ ก็มารู้ว่า ขณะนั้นเป็นอะไร เช่น ขณะที่คิด ก็รู้ว่า ขณะนั้นคิดได้สารพัดเรื่องทั้งนั้นเลย โดยไม่ต้องเห็น ไม่ต้องได้ยิน ไม่ต้องได้กลิ่น ไม่ต้องลิ้มรส ไม่ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ก็มี
เพราะฉะนั้นก็แยก ๖ ทวารออกว่า ทางตาต้องมีสิ่งที่ปรากฏจริงๆ กระทบกับจักขุปสาท แล้วมีอายุเพียง ๑๗ ขณะ นี่คือมีปรมัตถธรรม คือ รูปกระทบ แล้วก็เห็นรูป แต่แม้ว่ารูปนั้นดับ การเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก มีภวังค์คั่น ขณะนี้ใครรู้ ไม่รู้เลย แต่มี ฉันใด ทางมโนทวารที่เกิดสืบต่อรู้อารมณ์เดียวกับทางทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร ก็เป็นปกติอย่างนี้ แต่จากการฟังก็รู้ว่า ทันทีที่รูปที่ปรากฏทางหนึ่งทางใดดับ ภวังคจิตคั่น มโนทวารก็เกิดสืบต่อรับรู้รูปนั้นต่อเป็นวาระแรก ก่อนที่จะมีการคิดนึก หรือการจำว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร
นี่คือสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ถ้าเดี๋ยวนี้กำลังคิด ทวารไหน
ผู้ฟัง ทวารใจ
สุ. ให้รู้ แต่นี่เป็นเรื่อง แต่ต่อไปเวลาที่สติสัมปชัญญะรู้ลักษณะ ก็จะค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้น
ผู้ฟัง อย่างนั้นจะกล่าวได้ไหมว่า ทวารใจมาปนกับทางทวารตา ...
ท่านอาจารย์ สืบต่อทันที รวดเร็วมาก หลังจากที่ภวังค์คั่นแล้ว ทั้งๆ ที่มีภวังค์คั่นก็ไม่รู้ เพราะเกิดการดับสืบต่ออย่างเร็วมาก
ผู้ฟัง ส่วนใหญ่จากการศึกษา เราทราบว่า เวลาเห็น เราเห็นเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เสียงก็ก้องอยู่ในหัวว่า นั่นคิดแล้ว แต่จริงๆ แล้ว เราไม่รู้ลักษณะของความคิดนึกที่มันเกิดขึ้นคนละทวาร
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นปัญญาขั้นฟัง ไม่ใช่ปัญญาขั้นที่สติสัมปชัญญะเริ่มรู้ลักษณะ ทีละลักษณะ เพราะแม้แต่คิดก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นลักษณะคิด นามธรรมคิด รูปคิดไม่ได้เลย ขณะที่มีเรื่องนั้น มีคำนั้น เพราะจิตกำลังรู้คำนั้น ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ถ้าเราจะไปทำอะไร เช่น ไปนั่งทำสมาธิสัก ๒๐ ปี เป็นโมฆะทั้งหมด ไม่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ เหนื่อยด้วย พากเพียรหนักเหลือเกินแต่ละวันๆ ไป แล้วก็ไม่รู้อะไร แล้วก็ไม่ละด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นการเสียเวลา เพราะว่าไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย เป็นความเข้าใจผิดด้วยว่า นั่นคือหนทางที่ถูก แต่หนทางที่ถูก คือ ปัญญา ทิ้งปัญญาไม่ได้เลย ปัญญาต้องค่อยๆ เริ่มเจริญขึ้น ตั้งแต่ขั้นฟัง ถ้าขั้นฟังไม่มี ปัญญาขั้นอื่นมีไม่ได้เลย และรู้ได้ว่า แม้ขั้นฟังก็ต้องฟังจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น
นั่นคือเริ่มรู้จักปัญญาว่า ปัญญาก็คือความเข้าใจถูก ความเห็นถูก การรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เพราะสิ่งที่ปรากฏ ทั้งปรากฏก็ไม่รู้ความจริง อันนี้ลืมไม่ได้เลย ความจริงคือเกิดแล้วดับ
ที่มา ...