เราไม่ได้เห็นธรรมตามความเป็นจริง
อ.วิชัย ธรรมเมื่อเกิดดับ ก็จะมีนิมิตของธรรมนั้นๆ ดังนั้นความต่างในการรู้ เข้าใจในลักษณะ อย่างเช่นขณะที่กำลังได้ยิน ก็มีเสียงปรากฏ กับขณะที่คิดถึงคำกับความหมายของคำ จะมีความแตกต่างไหมครับระหว่างลักษณะของปัญญาที่รู้ในขณะนั้น และเข้าใจในความหมาย
ท่านอาจารย์ ก่อนฟังธรรม ก็ไม่เคยได้ยินคำว่า “นิมิตอนุพยัญชนะ” เลย แต่พอได้ฟังว่า นิมิตหมายถึงรูปร่างสัณฐาน อนุพยัญชนะ หมายความถึงส่วนละเอียด ก็พอจะเห็นความต่าง อย่างเห็นคน แต่ว่าคนก็ต่างกันไป รูปร่าง คิ้ว ตา จมูก ปาก อันนั้นก็เป็นส่วนอนุพยัญชนะ เพราะฉะนั้นปัญญาก็เพิ่มขึ้นตามลำดับขั้น เริ่มเข้าใจความจริงในชีวิตประจำวันว่า ความหมายของนิมิตในชีวิตประจำวัน ก็คือ สัณฐานต่างๆ แต่ทรงแสดงทั้ง ๖ ทวาร แต่เรามักจะนึกถึงทางตาทวารเดียวซึ่งปรากฏ แต่จริงๆ แล้วทั้ง ๖ ทวาร มีนิมิต และอนุพยัญชนะ
เพราะฉะนั้นพอได้ยินคำนี้ ก็เข้าใจความต่างของ “นิมิต” กับ “อนุพยัญชนะ” โดยมีสิ่งที่เคยเห็นในชีวิตประจำวัน ก็เริ่มเข้าใจว่า เราไม่ได้รู้แต่นิมิต แต่เรารู้อนุพยัญชนะด้วย นี่คือขั้นต้น แต่พอฟังต่อมา นิมิตอนุพยัญชนะมาจากไหน ความทรงจำในรูปร่างส่วนหยาบๆ หรือว่าในส่วนละเอียดก็ตามมาจากไหน ต้องมีสภาพธรรมแน่นอน แต่เมื่อปรากฏเป็นนิมิตอนุพยัญชนะ ก็เพราะเหตุว่าเมื่อได้ศึกษาแล้วว่า สภาพธรรมมีอายุสั้นมาก คือ สำหรับรูปธรรมที่เป็นสภาวรูปก็จะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เร็วแค่ไหน เริ่มเห็นแล้วว่า เราไม่ได้เห็นธรรมตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าขณะนี้เห็นเหมือนกับว่าไม่มีอะไรดับเลย สิ่งที่ปรากฏทางตาก็สืบต่อจนกระทั่งปรากฏเป็นนิมิตอนุพยัญชนะต่างๆ ให้รู้ว่าเป็นคน เป็นดอกไม้ เป็นสัตว์ประเภทต่างๆ มีรูปร่างต่างๆ กันวิจิตรอย่างไร แต่ต้องมีตัวธรรม ซึ่งตัวธรรมเกิดดับเร็วมาก จนไม่ปรากฏความดับ
เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังเห็น จะมีใครคาดคะเนได้ไหมว่า ขณะนี้เห็นดับเร็วแค่ไหน และรูปที่ปรากฏทางตาขณะนี้ดับเร็วแค่ไหน คาดคะเนไม่ได้เลย แต่ทำไมปรากฏเหมือนไม่ดับ
เพราะฉะนั้นการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็ว เป็นนิมิตของรูปารมณ์ที่ทำให้เหมือนกับว่า ปรากฏอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเราก็เริ่มเข้าใจแต่ละทวาร นิมิตของรูปที่ปรากฏทางตา นิมิตของเสียงทางหู นิมิตของกลิ่นทางจมูก เพราะว่ากลาปหนึ่งเล็กมาก แตกย่อยจนกระทั่งมีรูปรวมกัน ๘ รูปที่มองไม่เห็นเลย มีสิ่งที่เป็นธาตุดิน อ่อน หรือแข็ง ธาตุไฟ เย็น หรือร้อน ธาตุลม ตึง หรือไหว ธาตุน้ำ เกาะกุม มีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา ๘ เหมือนใหญ่โตมโหฬาร แต่ความจริงเล็กละเอียดจนมองไม่เห็นเลย และก็เกิดดับเร็วมากด้วย
เพราะฉะนั้นแม้แต่เสียง แม้แต่กลิ่น แม้แต่รส แม้แต่โผฏฐัพพะที่เกิดดับสืบต่อเร็ว ก็ปรากฏเป็นนิมิตของสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ให้สามารถรู้ได้ว่า สิ่งนั้นมีลักษณะอย่างนั้น ซึ่งต่างกับสิ่งอื่นทางทวารอื่น แม้แต่นามธรรม เราเรียนเรื่องภวังคจิต ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ปัญจทวาราวัชชนะ จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะ ปรากฏไหม ในแต่ละอัน เพราะฉะนั้นก็เป็นนิมิตของวิญญาณด้วย รวมความว่า ขันธ์ทั้ง ๕ เพราะการเกิดดับอย่างเร็วมาก จึงใช้คำว่า รูปนิมิต สัททนิมิต คันธนิมิต รสนิมิต โผฏฐัพพนิมิต จนกระทั่งถึงวิญญาณนิมิต หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดดับเป็นสังขารนิมิต
เพราะฉะนั้นในพระไตรปิฎกจะมีคำว่า “สังขารนิมิต” สิ่งที่มี เกิดแล้วดับแล้ว แต่ก็ปรากฏให้รู้ที่จะเข้าใจได้ในความต่างกันของสภาพธรรมนั้นๆ
ที่มา ...