ฟังเข้าใจ พิจารณา ไตร่ตรอง จนรู้ตรงลักษณะ
อ.วิชัย เมื่อจิตเกิดขึ้นก็รู้ในอารมณ์ที่กำลังปรากฏอยู่ เริ่มมีความเข้าใจในการรู้ลักษณะของสภาพธรรมมากขึ้น และสภาพธรรมปรากฏก็คิดเรื่องของคำ และความหมายของรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นปกติอย่างนี้ แต่ว่าความเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ก็เริ่มเจริญขึ้น ต่างกับไม่ได้ยินได้ฟังเรื่องของสภาพธรรม ดังนั้นขณะที่ปัญญาเจริญรู้ หมายความว่า ปัญญาจะเข้าใจลักษณะของธรรมอย่างนั้นเลย ใช่ไหมครับ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏ หรือแม้นามธรรมที่กำลังคิดถึงเรื่องราวต่างๆ
ท่านอาจารย์ ลองคิดถึงการเจริญยากของปัญญา ซึ่งตรงกันข้ามกับอวิชชา อวิชชาไม่ต้องไปทำนุบำรุงเลย ไม่ต้องฟัง อวิชชาก็มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่าวิชชา กว่าจะได้ฟัง ฟังแล้วกว่าจะไตร่ตรองว่า ขณะนี้อยู่ในโลกของความฝัน หรือว่าความจริง เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏหมดแล้ว มีแต่ความจำในเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าเมื่อไรสติสัมปชัญญะเกิด ขณะนั้นมีลักษณะปรากฏ เหมือนตื่นขึ้น พ้นจากการที่จะไปจำไว้ว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรื่องราวต่างๆ แต่ว่ามีลักษณะของปรมัตถธรรมจริงๆ ที่ปรากฏให้รู้ ซึ่งเมื่อปัญญาเจริญขึ้น จะประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรม ถ้าไม่มีหนทางจะประจักษ์ความจริง ไม่มีการละกิเลสได้ แต่การที่พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมีถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เพียงเพื่อพระองค์เดียวที่จะตรัสรู้ความจริง แต่เพื่อที่จะถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงความจริงของสภาพธรรมโดยประการทั้งปวง โดยละเอียด ตลอด ๔๕ พรรษา ก็เพื่อที่จะให้คนฟังค่อยๆ สะสมความเห็นถูก ซึ่งคนที่สะสมมาแล้ว เพียงฟัง สภาพธรรมปรากฏ เพราะรู้ ไม่ใช่เพราะไม่รู้ และไม่ใช่ความรู้ระดับที่เพิ่งเริ่มรู้ แต่เพราะรู้ถึงระดับที่ละ หรือสละความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏได้
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ความรู้ของเรากำลังค่อยๆ เริ่มที่เจริญขึ้น ที่จะรู้ความจริง แต่ก็ต้องอาศัยการฟัง และเข้าใจเพิ่มขึ้นต่อไป
อ.วิชัย การรู้ของปัญญา คือมีความรู้มากขึ้นว่ามีสภาพธรรม ไม่ใช่ว่าขณะนั้นมืดตลอด โดยมีเรื่องราว บุคคล โดยที่ไม่รู้เลย ก็เลยอยากเข้าใจความหมายของคำว่า “การรู้ของปัญญา” ที่ว่าเริ่มรู้แม้ความต่างกันของสภาพธรรมปรากฏ กับขณะที่คิดถึงเรื่องราวต่างๆ เข้าใจความหมาย
ท่านอาจารย์ ทุกคนได้ฟังเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกคนได้ฟังเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ โผฏฐัพพะขณะนี้ก็กำลังมี เข้าใจสิ่งนั้นแค่ไหน สิ่งที่ปรากฏทางตาก็กำลังปรากฏ เข้าใจสิ่งที่ปรากฏแค่ไหน ผู้นั้นก็เป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ความเข้าใจนั้นเข้าใจเรื่องราวว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอย่างนี้ๆ พิจารณาแล้วก็เข้าใจอย่างนั้นได้ แต่ยังไม่รู้ แม้ลักษณะของแข็ง ก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ นี่รู้ แต่ไม่ใช่ขณะที่กำลังมีลักษณะแข็งปรากฏกับสติ เพราะว่าแข็งปรากฏกับกายวิญญาณ แน่นอน เป็นของธรรมดา ทุกคนรู้แข็ง ไม่ได้หมายความว่า รู้แข็งแล้วจะมีปัญญารู้ว่าขณะนั้นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง
เพราะฉะนั้นแข็งก็ปรากฏเป็นปกติ แต่จากการฟัง ขณะใดที่มีการรู้ตรงนั้น นั่นคือสติเกิด ทำหน้าที่ของสติ คือ ระลึก ที่นี้ไม่ได้หมายความว่า คิด แต่ตามรู้สิ่งที่ปรากฏ เมื่อแข็งปรากฏแล้ว ยังไม่ได้คิดอะไรเลย วาระแรกของมโนทวารที่มีภวังค์คั่นแล้ว ก็รู้ลักษณะของแข็งนั้นด้วยสติ หรือด้วยหลงลืมสติ
นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความต่างกัน ถ้าด้วยสติ คนนั้นก็เริ่มที่จะเข้าใจ แต่สั้นมากแค่ไหน ลองคิดถึง แม้สติจะเกิด ก็เหมือนสภาพธรรมอื่น เกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นเวลาที่สติกำลังมีแข็งเป็นอารมณ์ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ขณะนั้นกำลังมีแข็งให้รู้ ให้เข้าใจ แต่ว่าไม่พอที่จะสละ หรือละความเป็นตัวตน หรือความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะว่าไม่คุ้นเคยกับลักษณะของสภาพธรรม แต่คุ้นเคยกับชื่อ พอบอกชื่อ “โผฏฐัพพะ” ตอบได้ รู้ได้ทางกาย รู้ได้กี่รูปที่เป็นโผฏฐัพพะ รู้อ่อนแข็ง เย็นร้อน ตึงไหว ๓ ธาตุ นี่เป็นโผฏฐัพพะ สามารถปรากฏเมื่อกระทบ
นี่คือการรู้ขั้นฟัง ขั้นเรื่องราว รู้ชื่อ แต่การรู้ลักษณะจริงๆ ก็จะเริ่มมีการรู้ลักษณะของแต่ละลักษณะ ซึ่งต่างกันเป็นแต่ละทาง ขณะนั้นก็เป็นสติที่เกิดกำลังรู้ ไม่ใช่มีเราที่จะไปเจาะจงทำให้รู้
ก็เห็นความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่สติเกิด และถ้าไม่มีสติเกิด มีทางที่จะรู้ลักษณะนั้นได้ไหม เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า เราอยู่มาในโลกด้วยการทรงจำ ในความเป็นสัตว์ บุคคล ตลอดมา จนกว่าขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิดเพราะฟัง ก็เริ่มที่จะรู้ว่า เป็นสภาพธรรมจริงๆ ไม่ใช่ใครเลยขณะนั้น
อ.วิชัย ที่อาจารย์กล่าวว่า สติเกิดระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏ เมื่อสิ่งที่ปรากฏเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป คือ รู้แต่สิ่งที่ปรากฏ แล้วก็ไม่มีแล้วในขณะที่คิดเป็นเรื่อง
ท่านอาจารย์ แล้วสิ่งที่กำลังปรากฏดับ หรือเปล่า
อ.วิชัย ก็ต้องดับด้วย
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นปัญญาสามารถจะอบรมจนประจักษ์แจ้งได้ เพราะฉะนั้นจึงมีปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธด้วย
ที่มา ...