ปัญญารู้การเกิดและดับ ความไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน


    ผู้ฟัง ทุกข์กับโทมนัส คือ พอเจ็บ ก็มีความเดือดร้อนทางใจ ก็เป็นโทมนัส ซึ่งถ้าไม่สังเกตจริงๆ เราก็จะมีความตั้งใจในการเจ็บ คือ จะรู้สึกเจ็บอยู่อย่างนั้น ซึ่งจะเกิดติดต่อกัน

    สุ. เพราะฉะนั้นเราจะพูดอะไร เราจะคิดอะไร เราจะใคร่ครวญสงสัยอะไรก็ตามแต่ แต่ไม่ใช่การรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเป็นจริง และสามารถจะรู้ความจริงได้ด้วย โดยไม่ใช่ไปคิดเรื่องราว ซึ่งขณะนั้นเพราะไม่รู้ลักษณะจริงๆ จึงปนกัน เช่นคำถามว่า เจ็บ แล้วก็คิดว่าโอ๊ยเจ็บ นี่ต้องแยกเลย เสมือนว่าพร้อมกันอย่างรวดเร็วมาก แม้ขณะที่โอ๊ยเจ็บ ก็เหมือนกับว่ายังเจ็บอยู่ด้วย แต่การเกิดดับสืบต่อของจิตอย่างเร็ว ทำให้เราสามารถรู้ได้ว่า จิตแต่ละขณะต่างกัน เช่น ขณะที่เจ็บมีจริงๆ แต่ขณะที่คิดคำเป็นอารมณ์ แม้ว่าจะมีลักษณะที่เจ็บเกิดดับสลับอยู่ ในขณะที่คิดคำว่า “โอ๊ย” ขณะนั้นที่โอ๊ย จิตมีคำว่า “โอ๊ย” เป็นอารมณ์

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมไม่ใช่ให้เราไปนั่งคิดไตร่ตรอง มึนงงสงสัย ปวดศรีษะ แต่ลักษณะของสภาพธรรมที่มี ค่อยๆ ฟังให้เข้าใจ อย่างมโนทวารกับปัญจทวาร ไม่ใช่ให้ใครไปแยก แต่ให้เข้าใจถูกต้องว่า ทางปัญจทวาร อายุของรูปที่กระทบปรากฏสั้นมากแค่ไหน และหลังจากนั้นก็คือว่า เมื่อภวังคจิตเกิดคั่นดับไปแล้ว มโนทวารวิถีเกิดต่อ ก็ไม่ได้ปรากฏ เหมือนมีทางปัญจทวารปรากฏอยู่ตลอดเวลา นี่คือการที่เริ่มให้เห็นความจริงว่า ความไม่รู้ของเรามากมายมหาศาลแค่ไหน อยู่ในโลกของความคิด ฝัน นึก ตลอดเวลา ถึงสิ่งที่ปรากฏ โดยไม่รู้ความจริงเลย จนกว่าเมื่อสติสัมปชัญญะเกิด มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏให้เข้าใจ ขณะนั้นตื่นนิดหนึ่ง ที่จะรู้ความจริงว่า เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง ถ้าลักษณะของแข็งตกใส่ กายวิญญาณก็มีลักษณะแข็งเป็นอารมณ์ คือ เวทนาที่เกิดร่วมกับกายวิญญาณ ก็คือทุกขเวทนา แล้วมโนทวารที่เกิดจากกายวิญญาณ จะมีแข็งเป็นอารมณ์ หรือว่าเจ็บเป็นอารมณ์

    สุ. อันนี้ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า เมื่ออารมณ์ที่ปรากฏทางหนึ่งทางใดของปัญจทวารดับไปแล้ว ภวังค์คั่นแล้ว มโนทวารรู้อารมณ์นั้นต่อ เป็นอารมณ์เดียวกัน คำว่า “อารมณ์เดียวกัน” เราก็จะเข้าใจได้เลยว่า มโนทวารจะต้องมีอะไรเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง แข็งเป็นอารมณ์

    สุ. แน่นอนค่ะ

    ผู้ฟัง แล้วเจ็บเป็นอารมณ์ ก็คือขณะมโนทวารที่ต่อไป

    สุ. เมื่อไรเป็นอารมณ์ เมื่อนั้นก็รู้ โดยไม่ต้องไปแยกว่าทวารไหน ไปนั่งคิดทำไม ในเมื่อมีโอกาสรู้ความจริง เหมือนกับคนที่ไม่ได้เข้าใจหนทางที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า สัจญาณ คือ การฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจที่มั่นคงว่า เป็นธรรม เป็นสัจธรรม เพราะว่าเป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป จึงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน การฟังทั้งหมด ไม่ว่าจะฟังจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ไหน ก็เพื่อให้เข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม มั่นคงจนกระทั่งรู้จริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรม หลงลืมสติ หรือว่าสติเกิด แต่ว่าไม่ใช่ให้เราไปทำอย่างอื่น ถ้าไปทำอย่างอื่น ไปคิดอย่างอื่น ก็คือขณะนั้นมีความมั่นคงในการรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ซึ่งทุกขสัจ เป็นกิจที่ควรรู้ ปัญญาควรเข้าใจ คือ ควรรู้ความเกิดขึ้น และดับไป ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่กำลังฟัง การฟังก็เป็นส่วนประกอบที่จะทำให้เข้าถึงความเป็นอนัตตา การสามารถสละความเป็นเราจากสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ต้องมีสติสัมปชัญญะจึงสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้ ไม่ใช่เพียงแต่คิด แล้วจำเรื่องราว

    ข้อสำคัญ จำเรื่องราวชาตินี้เป็นภาษาไทย ชาติหน้าไม่ได้พูดภาษาไทย จะนึกออกไหม เพราะเป็นแต่เพียงการจำชื่อ แต่ถ้าเป็นความเข้าใจจากการฟัง ไม่ว่าภาษาไหนแต่ละชาติ ก็เป็นการรู้ว่า หมายถึงลักษณะของสภาพธรรม มีจริงๆ และแต่ละลักษณะก็เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏได้ เพราะเหตุว่ามีธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้น รู้สิ่งนั้นแล้วก็ดับไป เพราะชีวิตเป็นคนนี้ชั่ว ๑ ขณะจิต ไปทุกๆ ขณะจิต จนกว่าจะถึงขณะสุดท้าย


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 278


    หมายเลข 12113
    26 ส.ค. 2567