ศึกษาคำที่ทรงใช้ว่าหมายถึงสภาวธรรมใด


    ผู้ฟัง ผู้ที่ไม่ประมาท ไม่มีสติก็มี ใช่ไหมครับ

    สุ. พระธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงเรื่องของสภาพที่มีจริง ตามความเป็นจริง เราอาจจะเข้าใจว่า อกุศลเป็นกุศล นั่นผิด แต่กุศลต้องเป็นกุศล เป็นสภาวธรรมที่ดีงาม ไม่มีโทษ และอกุศลก็ต้องเป็นอกุศล และสำหรับกุศล และอกุศล ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ เราก็จะไม่ทราบหลายอย่าง คือ อาจจะหลงผิด เอาอกุศลเป็นกุศล แล้วก็ยังหลงว่าเป็นเราด้วย เพราะฉะนั้นก็มีความหลงมากมายหลายประการ ซึ่งถ้าเราไม่ศึกษาธรรมโดยละเอียด เราไม่รู้ว่า เราอยู่ในความหลงระดับไหนกว่าจะเข้าใจความจริงของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นการฟังโดยละเอียด โดยไม่ประมาทที่จะเข้าใจว่า คำที่ทรงใช้ หมายถึงสภาวธรรมใด ไม่ใช่อย่างที่เราเคยคิด เคยใช้ เคยเข้าใจ แต่ถ้าพูดเป็นภาษาไทยอย่างที่เราเคยพูด เราก็พูดตามๆ กันไป เข้าใจตามๆ กัน แต่ต้องเข้าใจว่า นั่นไม่ได้หมายความถึงสภาวธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าบอกว่า ให้ปฏิบัติงานด้วยความไม่ประมาท ก็แสดงว่า เขาสอนให้เกิดความหลงอย่างนั้น หรือเปล่า

    สุ. ค่ะ พูดโดยไม่เข้าใจ อาจจะมีระยะหนึ่งที่เห็นป้ายบอกว่า “อิทธิบาท ๔” ตามถนน ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ขับรถก็ให้มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา แล้วถูกต้อง หรือเปล่า ใครที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ จะใช้คำอะไร ก็ใช้ตามๆ กัน แต่คนที่รู้พระธรรม ก็รู้ว่า นั่นไม่ใช่ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงความจริง ซึ่งเป็นสภาพธรรม โดยใช้คำเพื่อจะให้เข้าถึงลักษณะแต่ละลักษณะ เช่น จิตกับเจตสิก

    มีใครเคยได้ยินคำว่า “เจตสิก” ก่อนจะศึกษาธรรมบ้างไหมคะ ไม่เคย ก็ไม่ใช้ แต่ใช้คำว่า “จิต” บ่อย แต่เข้าใจจิตว่าอย่างไร เข้าใจว่า จิตเที่ยง หรือวิญญาณนี่เมื่อตายไปแล้วก็ล่องลอย ก็แล้วแต่จะคิด ก็เข้าใจกันตามเรื่องที่เคยฟัง แต่ว่าถ้าศึกษาแล้วก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 279


    หมายเลข 12119
    26 ส.ค. 2567